“นายกฯ” ควง”อนุทิน-มาริษ”เหินฟ้าไปจีน เผยเป็นโอกาสดีได้พบผู้นำหลายประเทศ  พร้อมเปิดตลาดเพิ่มสินค้าส่งออก เชื่อได้ผลลัพธ์เป็นรูปธรรมกลับมา ด้าน'พริษฐ์' หวัง'กมธ.ร่วม'ไม่ลากยาว”พรบ.ประชามติ” รอนัดถก”นายกฯ”ช่วยโน้มน้าวพรรคการเมืองเห็นชอบ 

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงภารกิจการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ครั้งที่ 8 หรือ GMS SUMMIT และการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิราวดี - เจ้าพระยา - แม่โขง ครั้งที่ 10 หรือ ACMECS SUMMIT  ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 6- 7พ.ย.67 ว่า เป็นโอกาสดีที่ตนจะได้พบเจอกับผู้นำหลายประเทศ เพื่อไปตอกย้ำนโยบายต่างๆ ที่ได้พูดคุยกันไว้ในเวทีของอาเซียน และนำไปสู่การพูดคุยเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความร่วมมือในด้านต่างๆ เพราะอย่างที่ทราบโลกเปลี่ยนไปเร็วมาก นวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆก็เกิดขึ้นมากมาย เราก็จะขอความร่วมมือเพื่อทำให้ไทยได้เปิดตลาดการส่งออกเพิ่มมากขึ้น เปิดโอกาสให้กับตลาดของไทย เพราะทั่วโลกตอนนี้กำลังเน้นย้ำเรื่องของ Food Security อย่างประเทศจีนเอง ที่แม้จะมีการเกษตรของตัวเอง แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับประชากรของจีนทั้งประเทศ ดังนั้น จีนจะพึ่งพาเราในเรื่องนี้ได้ และเราก็จะไปบอกให้เขามั่นใจว่าเราพร้อมที่จะสนับสนุน เรื่องของอาหาร Food Security ต่างๆ เพราะเราพร้อมในเรื่องนี้ และเรายังมีเทคโนโลยี มีนวัตกรรม ที่สามารถมาร่วมมือกันให้เกิดเป็นรูปธรรมากขึ้น และคล่องตัวมากขึ้น

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะได้มีโอกาสพูดคุยถึงการบริหารจัดการน้ำด้วย ทั้งปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง เพราะประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีที่ดี และมีระบบการแจ้งเตือนภัย จำเป็นต้องมาพูดคุยกันว่า ตรงไหนที่ยังขาดเหลืออะไร จะได้มาช่วยและร่วมมือกัน อย่างเหตุการณ์น้ำท่วมแม่สาย แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ต้องคุยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้มีแนวทางชัดอยู่แล้วว่าปัญหามันเกิดจากสิ่งรุกล้ำ ขวางกั้นของทางระบายน้ำ และเป็นปัญหาที่จะต้องเคลียร์ในฝั่งไทยด้วย เพื่อเปิดทางระบายน้ำร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้านให้ใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้ไม่เกิดภาวะน้ำท่วมหนักขนาดนี้อีก ซึ่งเรื่องนี้ ประเทศเพื่อบ้านก็อยากได้ความร่วมมือจากเราไม่ใช่แค่เราที่ต้องการได้จากเขา และการพูดคุยเรื่องนี้เป็นการเน้นย้ำว่าเราคิดเหมือนกันแต่เรื่องนี้จะต้องเกิดขึ้น จะต้องไปต่อ


นายกฯ กล่าวว่า อีกทั้งทุกๆ ประเทศ จะได้ตอกย้ำเรื่องความสัมพันธ์ ระหว่างประเทศ เพราะเวลาผู้นำเจอกัน มีข้อได้เปรียบหลายเรื่องมากๆ สามารถพูดคุยและเจรจาแบบไม่เป็นทางการเพื่อความเข้าใจเบื้องต้น ก่อนจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน ส่วนปัญหาฝุ่นควันนั้น ตามฤดูของการเผา จะเกิดขึ้นต้นปีหน้าและทำให้มีปัญหา PM2.5 จำเป็นต้องขอความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้านเพราะควันมาจากหลายทิศทาง เราที่พัดมาบางทีก็มาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน ถ้าเขาเผาก็พัดมาหาเรา จำเป็นต้องพูดคุยว่าจะบริหารจัดการเรื่องนี้ได้อย่างไร หลังจากรัฐบาลของ นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ได้มีการตั้งคระทำงานเรื่องปัญหา ฝุ่นควัน ขึ้นมาแล้ว ดังนั้นครั้งนี้จะไปตอกย้ำให้คณะทำงานได้เกิดการทำงานขึ้นมาจริงๆเพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรม

นายกฯ ยังกล่าวด้วยว่า การเดินทางไปประชุมที่สาธารณรัฐประชาชนจีนครั้งนี้ ไทยจะได้ในเรื่องของตลาดส่งออกสินค้าไทย เป็นการไปตอกย้ำการเดินหน้า เพราะเป็นธรรมชาติทางการเมืองทั่วโลก เมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนรัฐบาลเขาจะถามว่าสิ่งที่ทำอยู่สิ่งที่เคยคุยไว้ยังทำต่อหรือไม่ และรัฐบาลปัจจุบันจะเอาอย่างไรต่อไป ดังนั้นก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ที่ตนเองจะได้เน้นย้ำว่า เรื่องการส่งออกเรายังสนุบสนุนอยู่ ทั้งสินค้าเกษตร และ Food Security เชื่อว่าจะได้ผลลับกลับมา ถ้าประเทศไทยไปต่อ ประเทศต่างๆที่เราไปคุยเขาก็จะพร้อมดำเนินงานต่อไป และได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ เวลาประมาณ 11.00 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย และนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ และคณะออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) โดยจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง ถึงนครคุนหมิง ซึ่งเวลาที่นครคุนหมิงเร็วกว่ากรุงเทพมหานคร 1 ชั่วโมง และเข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำ

จากนั้น วันที่ 7 พ.ย. ช่วงเช้า นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ (Leaders’ Retreat) และเข้าร่วมการประชุมเต็มคณะ (Plenary) ของการประชุม GMS ครั้งที่ 8 ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายกรัฐมนตรีจะเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา -แม่โขง (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 10 ก่อนจะเดินทางกลับถึงประเทศไทย ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 (บน.6) ในช่วงเย็นของวันเดียวกัน

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน เปิดเผยก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...ว่า ต้องรอดูว่ากรอบเวลาพิจารณาร่างดังกล่าวจะใช้เวลาสั้นหรือนานแค่ไหน แต่หวังว่าการประชุมร่วมกันของสองสภาไม่ควรใช้เวลานาน เนื่องจากมีเพียงประเด็นเดียวที่ยังมีความเห็นต่างกัน คือเรื่องการใช้กติกาเสียงข้างมากหนึ่งชั้นหรือเสียงข้างมากสองชั้น สำหรับการทำประชามติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

นายพริษฐ์ ได้กล่าวถึงความเห็นของตัวเองว่า หากรัฐบาลยังยึดแผนเดิมที่จะให้มีการทำประชามติ 3 ครั้ง และการผูกเงื่อนไขไว้ว่าจะไม่ทำประชามติครั้งแรก จนกว่าจะมีการแก้ พ.ร.บ. ประชามติเสร็จนั้น ตนเกรงว่าจะมีความเป็นไปได้น้อยมากที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งถูกจัดทำโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้ถูกบังคับใช้ได้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป เนื่องจากความประสงค์ของรัฐบาลคืออยากให้เกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงต้นปี 68 แต่ในเมื่อวันนี้ที่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติยังไม่ได้ข้อสรุป จึงทำให้กรอบเวลาดังกล่าวมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเป็นจริงได้ ซึ่งหนทางเดียวที่จะเป็นไปได้นั้นก็คือการลดจำนวนการทำประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง ตามที่พรรคประชาชนยืนยันมาตลอดว่าเพียงพอแล้ว 

นายพริษฐ์ ยังกล่าวถึงการขอเข้าพบ 3 บุคคล ที่มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้ คือ 1.ประธานรัฐสภา ซึ่งได้มีการยืนยันว่า จะมีการพบกันในวันที่ 27 ต.ค.นี้ คาดว่าในการหารือครั้งนี้ เราจะสามารถคลายข้อกังวล เรื่องการบรรจุร่างดังกล่าวไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 และหวังว่าประธานรัฐสภา จะทบทวนการตัดสินใจ และบรรจุร่างดังกล่าว 2.นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายรัฐบาล ตนตั้งใจว่าจะเข้าไปหารือ ในการเชิญชวนให้ทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันในการทำประชามติ 2 ครั้ง เพื่อให้ ส.ส.จากทุกพรรคลงมติเห็นชอบกับแนวทางนี้ และเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้ สสร.ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงขอความร่วมมือจากทุกพรรคการเมือง ในการโน้มน้าว สว.ให้เห็นชอบด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ได้รับทราบว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่จะให้เข้าพบ 
3.ศาลรัฐธรรมนูญ แม้ตนจะยืนยันว่าคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ไม่ได้ระบุว่า ต้องทำมาจากประชามติ 3 ครั้ง แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับทุกฝ่าย จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากศาลรัฐธรรมนูญจะมาขยายความเพิ่มเติม ว่าหมายถึงขั้นตอนอย่างไร และหมายถึงการทำประชามติกี่ครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ ในการเดินหน้าตามประชามมติ 2 ครั้ง 

สำหรับกรณีที่เสียง ส.ส.ขาดในการประชุมนัดแรก วาระเลือกประธาน กมธ.นั้น มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อให้คะแนนเสียงของสองสภาเท่ากัน นายพริษฐ์ ระบุว่า การลงมติเป็นการลงมติแบบลับ แต่หากดูจากผลการลงมติก็จะพอคำนวณได้ว่า คะแนนจาก สว. ซึ่งถูกเสนอชื่อเป็นประธาน ได้รับมากกว่าจำนวน สว.ที่เข้าประชุมในวันนั้น หมายความว่า คงมี กมธ.สัดส่วน สส.ไปลงมติให้ แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่ามีใครบ้าง ส่วนเรื่องการเติมรายชื่อนั้น ข้อบังคับไม่ได้เปิดไว้ เพราะกมธ. มีฝั่งละ 14 คน จึงขึ้นอยู่กับว่าในการประชุมแต่ละครั้งมีตัวแทนจากฝั่งละกี่คน 
ส่วนข้อกังวลที่ กมธ.สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย อาจจะหนุนเสียงข้างมากสองชั้น ซึ่งสอดคล้องกับ สว. นั้น ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียด เพราะการคุยกันครั้งก่อน ไม่ได้ลงลึกเรื่องเนื้อหา แต่หากวิเคราะห์จากการลงมติในที่ประชุมสภาใหญ่ จะเห็นว่าทุกพรรคยืนยัน ตามร่างของ ส.ส. มีเพียงพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว ที่งดออกเสียงในวันนั้น จึงอาจจะอนุมานได้ว่า หากจะมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่ดูเหมือนจะเห็นด้วยกับการลงมติเสียงส่วนใหญ่ของ สว.ก็อาจจะเป็นพรรคภูมิใจไทย แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ต้องไปคุยกันในชั้น กมธ.
ผู้สื่อข่าวถามว่า สว. ได้มีการให้เหตุผลเพิ่มเติมเรื่องการหนุนเสียงข้างมากสองชั้นหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในรอบที่แล้วยังไม่มีการคุยเรื่องเนื้อหา แต่คาดว่าในวันนี้จะได้รับฟังความเห็นของทุกฝ่ายเพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งตนในฐานะ กมธ.คนหนึ่ง ก็ได้ย้อนฟังการประชุม และจดเหตุผลของทุกคนไว้ จึงหวังว่าจะสามารถตอบ ข้อกังวลของ สว.ได้ 

ส่วนกรณีได้มีการประเมินหรือไม่ว่าจะต้องใช้การประชุมกี่ครั้ง จึงจะได้ข้อสรุปนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่ควรใช้เวลานาน เพราะหากยิ่งได้ข้อสรุปเร็ว ก็จะยิ่งทำให้แต่ละขั้นตอนเดินหน้าต่อได้เร็วยิ่งขึ้น ไม่มีเหตุจำเป็นอะไรที่ต้องทำให้การประชุมลากยาว 
นายพริษฐ์ ได้ยกตัวอย่างหากเกิดกรณีที่ กมธ.ร่วมได้ข้อสรุปที่สภาไม่เห็นชอบว่า ในเชิงรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ ส.ส.ยังสามารถยืนยันร่างของ ส.ส.ได้ เพียงแต่ต้องบวกเวลาอีก 6 เดือน ที่ต้องถูกยับยั้งไว้ ซึ่งหลายคนก็กังวลว่า จะกระทบกับไทม์ไลน์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ข้อกังวลตรงนี้จะหายไปทันที ถ้าเรากลับไปใช้กระบวนการลดจากการทำ ประชามติ 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง เพราะเวลา 6 เดือนนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทม์ไลน์ดังกล่าว
 
เนื่องจากกระบวนการนี้ ในขั้นตอนแรกไม่ใช่การจะทำประชามติเลย แต่คือการที่สภาพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือก สสร. เพราะฉะนั้น ตนเชื่อว่าหากไปตามแผนนั้น กว่ารัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ ข้อสรุปเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ ก็น่าจะเรียบร้อยแล้ว และทำให้ครั้งแรกของการทำประชามติ ภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน 3 วาระของสภา ไม่ล่าช้าออกไป จากปัญหาการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ 

ดังนั้น หากมองในภาพใหญ่ อย่ามองแค่บทสรุปของ กมธ.ในห้องนี้ การหันมาใช้แผนทำประชามติ 2 ครั้ง ก็ดูน่าจะเป็นทางออก ที่ทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าได้มากที่สุด และจะทำให้รัฐบาลสามารถรักษาสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชนได้ ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งครั้งถัดไป เมื่อถามย้ำว่า  แปลว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลของ กมธ.ประชามติ ใช่หรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับทุกเรื่อง แต่การเสนอแบบนี้ จะไม่ทำให้เรื่องนี้ กลายเป็นอุปสรรคต่อแผน