กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นำทัพ คณะผู้แทนไทยเสนอรายงานประเทศตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ฉบับที่ 2 ด้วยวาจา

           
เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เวลา 10.00 -13.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส คุณเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการนำเสนอรายงานประเทศตามอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี ฉบับที่ 2 ด้วยวาจา ต่อคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน โดยมี คุณดวงดาว เกียรติพิศาลสกุล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ รองหัวหน้าคณะผู้แทนไทยฯ คุณนรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และคณะเจ้าหน้าที่กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ทำหน้าที่เลขานุการคณะผู้แทนไทยฯ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรมราชทัณฑ์ และกรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าร่วมนำเสนอรายงานประเทศฯ และชี้แจงต่อคณะกรรมการสหประชาชาติฯ 

สำหรับการนำเสนอรายงานประเทศฯ ช่วงแรก คุณเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวถึงพัฒนาการของไทยในการถอนคำแถลงตีความ (Interpretative Declaration) ต่อข้อบทที่ 1 (คำนิยามการทรมาน) ข้อบทที่ 4 (การกำหนดให้การพยายาม การสมรู้ร่วมคิด และการมีส่วนร่วมในการกระทำทรมานเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายอาญา) และข้อบทที่ 5 (เขตอำนาจศาลสากลเหนือความผิดฐานกระทำทรมาน) ของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ  ตลอดจนการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน พ.ศ. 2565 ทั้งในส่วนของพัฒนาการ และข้อท้าทาย ฯลฯ 

หลังจากนั้นคุณ Claude Heller ประธานคณะกรรมการฯ ได้กล่าวชื่นชมไทยต่อการดำเนินการด้านการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ และคุณ Todd Buchwald และ คุณ Liu Huawen ผู้นำเสนอรายงานของประเทศไทยและคณะกรรมการฯ ได้มีคำถามถึงการดำเนินงานด้านการต่อต้านการทรมานของไทย อาทิ ขอบเขตและความหมายของการทรมาน หลักการห้ามผลักดันกลับ การจัดการข้อร้องเรียนการทรมานและอุ้มหายทั้งในและต่างประเทศ การไม่รับฟังพยานหลักฐานจากการทรมาน การไม่รับผิดในความเป็นจริงของเจ้าหน้าที่รัฐ การใช้กฎหมายพิเศษ การดูแลผู้ต้องขังหญิง มาตรการในการดูแลนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง การเข้าถึงกลไกการคัดกรองผู้ได้รับความคุ้มครองกรณีผู้แสวงหาที่พักพิง การดำเนินการต่อผู้ต้องหาคดียาเสพติด การจัดการต่อการลงโทษเด็ก การคัดแยกเหยื่อการค้ามนุษย์ การเข้าเป็นภาคี OPCAT ปัญหาผู้ต้องขังล้นเรือนจำ การดูแลผู้ป่วยจิตเวช และคนพิการ เป็นต้น 

อีกทั้ง คณะผู้แทนไทยฯ ได้ตอบคำถามต่อประเด็นต่างๆ โดยในส่วนของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพนั้น ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้ชี้แจงในกรณีสาระสำคัญของพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ โครงสร้างกลไกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ และการจัดทำร่างระเบียบคณะกรรมการฯ เรื่อง การเยียวยาผู้เสียหายจากการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย 

ทั้งนี้ การเสนอรายงานฯ เป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของไทยต่อการเป็นภาคีอนุสัญญาฯ และเป็นการยืนยันถึงความตั้งใจจริงของไทยต่อการป้องกันและปราบปรามการทรมานต่อประชาคมโลก โดยในวันพรุ่งนี้ จะมีการนำเสนอรายงานประเทศฯ ต่อเป็นวันสุดท้ายระหว่างเวลา 15.00 – 18.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส) โดยสามารถรับชมได้ทาง https://webtv.un.org/en