“สัณหพจน์” เปิดนโยบายแก้เศรษฐกิจปากท้อง ฟื้นฟูท่องเที่ยวเมืองนครศรีธรรมราช เล็ง ”นำช้างแคระคืนถิ่นป่าพรุควนเคร็ง อะเมซอนเมืองไทย” โปรโมท เที่ยวสายมู-สายบุญ “วัดไอ้ไข่-ไหว้พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” ดึงนักท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ พร้อม ยกระดับสินค้าเกษตรแลกเปลี่ยน 76 อบจ.ทั่วปท. มั่นใจ สร้างรายได้ทำให้คนคอนชีวิตดีขึ้นแน่นอน
วันที่ 5 พ.ย.2567 นายสัณหพจน์ สุขศรีเมือง (ดร.ชัย) อดีตสส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ ผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช หมายเลข 4 เปิดนโยบายสุขที่ 2 ด้านเศรษฐกิจปากท้องว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชขึ้นชื่อว่ามีแหล่งท่องเที่ยว4 โซน “ป่า เขา นา เล” ตนได้จัดทำนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 10 อำเภอลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช จัดทำรูทการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เชิงธรรมชาติและเชิงเกษตร โดยชูโครงการหลักคือ “นำช้างแคระคืนถิ่น ฟื้นพรุควนเคร็ง ป่าพรุ เมืองคอน อะแมซอนเมืองไทย” ซึ่งสำรวจความเป็นไปได้ในการนำช้างแคระคืนถิ่นป่าพรุควนเคร็ง หลังจากสูญหายไปกว่า 70 ปี เป็นจุดขายดึงดูดนักท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยว 10 อำเภอลุ่มน้ำ โดยต้องมีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำและระบบนิเวศเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ ป่าพรุควนเคร็ง ขยายพันธุ์ปลาประจำถิ่น พันธุ์กุ้งก้ามกราม ส่งเสริมประมงพื้นบ้าน ฟื้นฟูสภาพแวดล้อม พื้นที่อ่าวปากพนัง ปากน้ำปากนคร ท่าศาลา คลองกลาย สิชล และขนอม
นายสัณหพจน์ กล่าวว่า ขณะที่ต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศรัทธา คือ “โครงการท่องเที่ยวสายบุญ-สายมู” นอกจากนครศรีธรรมราช จะมีวัดเจดีย์ไอ้ไข่แล้ว ยังมีเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกหลายท่านซึ่งมีศิษย์ยานุศิษย์เคารพนับถือจำนวนมากมีความเป็นมาที่น่าสนใจ เชิญชวนมากราบขอพรเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวสายบุญสายมู เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างชาติ เช่นมากราบขอพร “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” วัดสวนขัน อ.ช้างกลาง “โครงการการเรียนรู้ประวัติแม่เจ้าอยู่หัว” อำเภอเชียรใหญ่ "ศาลหลวงต้นไทร" ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่ในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งมีอีกหลายจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวด้านประวัติศาสตร์ของนครศรีธรรมราชที่จะต้องถูกโปรโมทขึ้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ครบวงจร รวมถึงอาหารปักษ์ใต้ ร้านอาหารโรงแรมที่พัก มีกลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนต่างๆ ที่ต้องเตรียมตัวรองรับการท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน
ทั้งนี้ต้องมีการส่งเสริมและฝึกทักษะการซื้อขายสินค้าการทำการตลาดออนไลน์ พร้อมจัดตั้ง “ตลาดนัดประมงพื้นบ้านราคาถูก” ดึงดูดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว มาจับจ่ายซื้อสินค้า ส่งเสริมการประกอบอาชีพผลิตสินค้าท้องถิ่น เสื่อกระจูด และผลิตภัณฑ์อื่นๆ พร้อมส่งเสริมตลาดนัดชุมชน ของดีชุมชน ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น สร้างการตลาดออนไลน์ เผยแพร่ของดีท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักทั่วประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาผู้ประกอบการให้เชี่ยวชาญในการขายสินค้าผ่านออนไลน์
นายสัณหพจน์ กล่าวอีกว่า ตนชู นโยบายพยุงราคาสินค้าเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ให้เกษตรกรชาวนครศรีธรรมราช ด้วย “โครงการ P2P อบจ. ถึง อบจ.” โดยการแลกเปลี่ยนผลผลิตทางการเกษตร จากความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น เช่น ข้าวหอมมะลิ แลกกับมังคุด ช่วยส่งเสริมการซื้อขายผลผลิตทางการเกษตรในช่วงที่ราคาตกต่ำ ส่งเสริมการตลาดประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปในจังหวัดให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เข้าถึงตลาดที่มีความต้องการ โดยอาศัยเครือข่าย อบจ. 76 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงได้วาง “โครงการส่งเสริมการปลูกพืชเสริมรายได้ในพื้นที่ สวนปาล์ม สวนยางพารา” “โครงการปุ๋ยสั่งตัด” ซึ่งเป็นวิธีการใช้ปุ๋ยที่มีประสิทธิภาพสูง ลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีส่วนเกิน และลดต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรได้ โดยอาศัยการเก็บตัวอย่างดิน และการตรวจสอบธาตุอาหารพืชในดิน ก่อนที่จะใช้ปุ๋ยที่มีสารอาหารที่พืชต้องการในพื้นที่นั้นๆ ให้ตรงกับความต้องการ ธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด
“ผมเชื่อมั่นในความรู้ความสามารถที่เป็นนักบริหารและเป็นอดีตสส. นครศรีธรรมราช ที่มีเครือข่ายจำนวนมากมาบริหาร หากมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างครบวงจร ประกอบกับผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชนต่างๆก็จะทำให้พี่น้องชาวนครฯ มีรายได้จากทั้งการท่องเที่ยวและสินค้าชุมชน สินค้าเกษตร ที่สามารถ เชื่อมโยงขายแลกเปลี่ยนกับอบจ.ทั้ง 76 จังหวัด มั่นใจว่า จะสร้างเศรษฐกิจฐานรากของคนคอน ให้เกิดความเข้มแข็งได้ หากฟื้นฟูเรื่องการท่องเที่ยว การประมง เกษตร การค้าขายไปพร้อมกัน จะสร้างรายได้ให้ประชาชน มีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้น มีกินมีใช้ คุณภาพชีวิตจะดีขึ้นแน่นอน“นายสัณหพจน์ กล่าว