"วิจัยกรุงศรี" ชี้ภาคท่องเที่ยวและมาตรการภาครัฐช่วยหนุนการเติบโตในไตรมาสสุดท้าย ขณะที่นโยบายการค้าของสหรัฐฯ นับเป็นปัจจัยท้าทายของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
เมื่อวันที่ 5 พ.ย.67 วิจัยกรุงศรีเผยเศรษฐกิจไทยเดือนกันยายนแผ่วลงจากเดือนก่อนตามการลดลงของภาคส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน ขณะที่เศรษฐกิจไตรมาส 4 มีแนวโน้มโตมากกว่า 3% ธปท. รายงานเศรษฐกิจเดือนกันยายนชะลอตัวลงตามการส่งออกสินค้าที่ลดลงหลังเร่งไปมากในเดือนก่อน (-2.1% MoM sa) ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนลดลง (-0.6%) โดยเฉพาะการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทนที่ลดลงมากตามยอดจำหน่ายยานยนต์ ส่วนการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนและกึ่งคงทนลดลงเล็กน้อย ขณะเดียวกันการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง (-1.4% ) ส่วนการลงทุนภาคเอกชนทรงตัว (+0.1%) อย่างไรก็ดี รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับดีขึ้น (+4.4%) ตามการใช้จ่ายต่อทริปที่เพิ่มขึ้นแม้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลง (-3.2%) รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง
ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจเดือนกันยายนชะลอลงจากเดือนก่อน แต่โดยภาพรวมของเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2567 ยังเติบโตได้ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งวิจัยกรุงศรีคาดการณ์ว่าอาจขยายตัวราว 0.6%QoQ sa หรือ 2.3% YoY (ตัวเลขจริงจะประกาศวันที่ 18 พฤศจิกายน) สำหรับแนวโน้มในช่วงไตรมาสุดท้ายคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีทิศทางปรับดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (i) ภาคท่องเที่ยวที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นและอานิสงส์จากมาตรการวีซ่าฟรี (ii) พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่มีผลบังคับใช้แล้ว ช่วยหนุนให้การใช้จ่ายภาครัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น และอาจช่วยหนุนการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องปรับดีขึ้น (iii) การส่งออกที่ยังได้อานิสงส์จากความต้องการสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหาร และ (iv) การบริโภคภาคเอกชนที่มีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการโอนเงินให้กับกลุ่มเปราะบางรายละ 10,000 บาท วงเงินรวม 1.45 แสนล้านบาท และมาตรการเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวภาคเหนือ (17 จังหวัด) หลังประสบอุทกภัย ด้วยโครงการ “แอ่วเหนือคนละครึ่ง” โดยให้ส่วนลด 50% แก่การใช้จ่ายซื้อสินค้า/บริการ/ที่พัก รวมมูลค่าไม่เกิน 400 บาท จำนวน 10,000 สิทธิ์ ให้แก่นักท่องเที่ยว (1 คน/1 สิทธิ์) วงเงินรวม 4 ล้านบาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนถึงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอุทกภัยซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่หลายพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมาอาจลดทอนผลบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยภาพรวม GDP ไตรมาส 4 จะเติบโตได้มากกว่า 3%
วิจัยกรุงศรีประเมินความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยการศึกษาในครั้งนี้ได้สร้างสถานการณ์จำลองเป็น 3 กรณี ตามนโยบายภาษีที่ Trump ประกาศไว้ ดังนี้ กรณีที่ 1 หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษี 60% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน แม้ประเทศไทยและอาเซียนอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการส่งออกทดแทนในบางอุตสาหกรรม อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ แต่การส่งออกในหลายอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงจากกรณีฐานตามอุปสงค์ที่ลดลงจากสหรัฐฯ และจีน รวมทั้งผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม กรณีที่ 2 สหรัฐฯขึ้นภาษี 60% กับจีน และ 20% กับสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นๆ ผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะรุนแรงกว่าจีน โดยการส่งออกของอาเซียนและไทยอาจได้รับผลเชิงลบจากการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก แม้ว่า ยังคงมีการย้ายฐานการผลิตมาอาเซียนแลไทยอยู่ แต่ผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจโดยรวมของอาเซียนและไทยค่อนข้างน้อย และน้อยกว่ากรณีที่ 1 สำหรับกรณีที่ 3 จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษี 60% กับสินค้าจากสหรัฐฯ การตอบโต้นี้จะทำให้ทั้งสหรัฐฯ และจีนได้รับผลกระทบด้านลบมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่จะสูญเสียการส่งออกในอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ ขณะที่ไทยอาจได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตและการเพิ่มขึ้นของการส่งออกในบางกลุ่มสินค้า อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ แต่ผลสุทธิต่อการส่งออกลดลงจากกรณีฐาน เนื่องจากความต้องการสินค้าอื่นๆจากสหรัฐฯ จีนและโลกโดยรวมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
โดยผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ ไม่ว่าผู้ใดจะได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งก็ตาม สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะใช้นโยบายกีดกันทางการค้ากับจีนต่อไป แต่อาจมีแนวทางที่แตกต่างกัน กรณีที่ Trump เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง หากเดินหน้านโยบายภาษีนำเข้าที่เข้มข้นขึ้นตามที่เคยประกาศไว้ แม้จะช่วยกระตุ้นบางภาคส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่อาจเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตและกดดันผู้บริโภคด้วยราคาสินค้าที่สูงขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ การขึ้นภาษีแบบครอบคลุมอาจมีผลสุทธิเป็นลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ดังนั้น คาดว่านโยบายของ Trump อาจมีการปรับให้เป็น แบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น (targeted or selected) เพื่อป้องกันผลทางลบต่อธุรกิจและผู้บริโภคโดยรวม ส่วนกรณี Harris ชนะ คาดว่าผลกระทบต่อการค้าโลกจะไม่รุนแรงนัก เนื่องจากมีแนวทางจะเลือกเก็บภาษีเฉพาะสินค้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ ผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และโลก รวมถึงไทยในกรณีนี้จะไม่รุนแรง ขณะที่การย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังอาเซียนยังคงสร้างโอกาสให้แก่บางภาคส่วนของเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม อาจมีผลทางอ้อมจากการนำเข้าสินค้าราคาถูกจากจีนที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ
#วิจัยกรุงศรี #ท่องเที่ยว #เลือกตั้งสหรัฐ #ข่าววันนี้ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์