ผู้ว่าการ กปภ. แถลงนโยบายและทิศทางการดำเนินงานของ กปภ. ประจำปี 2568 มุ่งขับเคลื่อนภารกิจของ กปภ. สู่องค์กรที่เป็นเลิศในทุกมิติของระบบสาธารณูปโภคด้านน้ำประปา พร้อมสนองนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน
นายจักรพงศ์ คำจันทร์ ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยว่า ในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ กปภ. จะมุ่งมั่นเดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและตอบสนองความต้องการของลูกค้า ภายใต้นโยบาย PWA FIRST กปภ. ต้องมาก่อน ประกอบด้วย
F : FINANCIAL ด้านการเงินและแหล่งเงินที่เหมาะสม
I : INSTANT WATER LOSS CONTROL ด้านการควบคุมลดน้ำสูญเสีย
R : RESOURCE ด้านการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
S : SUSTAINABLE ด้านการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรสู่ความยั่งยืน
T : TECHNOLOGY AND INNOVATION ด้านเทคโนโลยีที่ตามทันโลก
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ กปภ. แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่
- ระยะสั้น ปีงบประมาณ 2568 รักษามาตรฐานการให้บริการน้ำประปา ลดอัตราน้ำสูญเสียเพื่อยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า
- ระยะกลาง ปีงบประมาณ 2569-2570 นำเทคโนโลยีดิจิทัลมายกระดับการดำเนินงานเพื่อสร้างความยั่งยืน การเพิ่มกำลังผลิตน้ำประปาให้เพียงพอต่อความต้องการ การควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมถึงการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นและลดสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซต์
- ระยะยาว ปีงบประมาณ 2571-2572 สร้างความคล่องตัวในการดำเนินงานด้วยกลยุทธ์การเพิ่มรายได้ที่หลากหลาย ซึ่งปัจุบันอยู่ระหว่างนำเสนอพิจารณาปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติการประปาส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2522 รวมถึงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน (PPP)
ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2568 กปภ.ตั้งเป้าหมายเพิ่มผู้ใช้น้ำ 235,000 ครัวเรือน จากปัจจุบันมีผู้ใช้น้ำ 6.44 ล้านครัวเรือน (5.46 ล้านมิเตอร์) เพิ่มปริมาณน้ำจำหน่าย 50 ล้านลูกบาศก์เมตร และควบคุมน้ำสูญเสียให้ไม่เกินร้อยละ 26.30 โดยมีแผนลงทุนวงเงินรวม 11,611 ล้านบาท เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการน้ำประปา อาทิ โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายในพื้นที่เมืองเศรษฐกิจและเมืองท่องเที่ยว โครงการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบจำหน่ายน้ำ โครงการก่อสร้างปรับปรุงระบบประปา โครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงโครงการวางท่อขยายเขตให้บริการน้ำประปา
แก่ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เข้าถึงน้ำประปาสะอาดเพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ กปภ. ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกว่า 4,500 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่เคยได้รับจัดสรรเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาท อีก 1,500 ล้านบาท
สำหรับการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย “น้ำดื่มสะอาด บริการประชาชน”เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย ถูกหลักอนามัย สามารถลดค่าใช้จ่ายในการครองชีพของประชาชนนั้น กปภ.ดำเนินการผ่าน 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการน้ำดื่มสะอาด Mini Station โดย กปภ. เปิดจุดให้บริการน้ำดื่มสะอาดเพิ่มอีก 30 แห่ง
ในปีงบประมาณ 2568
2.โครงการน้ำประปาดื่มได้ โดย กปภ. ร่วมกับกรมอนามัยประกาศรับรองพื้นที่น้ำประปาดื่มได้ซึ่งปัจจุบันประกาศรับรองแล้ว 264 แห่ง ซึ่งจะมีการตรวจสอบและต่ออายุทุก 3 ปี
3.โครงการตู้กดน้ำดื่มสะอาด โดย กปภ. จะติดตั้งตู้กดน้ำดื่มฟรี ณ สำนักงาน กปภ. 234 สาขาทั่วประเทศ
รวมถึงการจัดเตรียมแนวทางป้องกันปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการประชาชน อาทิ แนวทาง ในการจัดการการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค โดยคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในฤดูแล้ง การควบคุมคุณภาพน้ำ รวมถึงแผนรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในฤดูแล้งและฤดูฝน
สำหรับโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ กปภ. (CSR) ดำเนินงานภายใต้แผนแม่บท ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของ กปภ. พ.ศ. 2568 - 2572 เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน โดยนำ ความรู้ความเชี่ยวชาญขององค์กรมาขับเคลื่อนการดำเนินงานไปพร้อมกับการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างองค์กรและผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียทุกกลุ่ม เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน ครอบคลุมทั้งมิติชุมชนสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ
ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กปภ. มุ่งพัฒนาบริการด้านน้ำประปาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ สูงสุด โดยยึดหลักการดำเนินงานตามนโยบาย PWA FIRST กปภ. ต้องมาก่อน ในการขับเคลื่อนภารกิจหลักของ กปภ. ตลอดจนสนองนโยบายรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ให้บรรลุเป้าหมายต่อไป