สมัยนี้การสมัครงานไม่ใช่เรื่องยากเพราะเราสามารถส่งเรซูเม่ผ่านช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ได้ไม่ยากเลย และถ้าโปรไฟล์จากเรซูเม่ของเราเป็นที่น่าสนใจ น้องจบใหม่ก็จะได้รับสายชวนไปสัมภาณ์งาน ที่ต้องบอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่งอย่างที่หลาย ๆ คนมักมองข้ามและจะไปให้ความสำคัญที่การตอบคำถามเสียมากกว่า..จนทำให้พลาดโอกาสได้ตำแหน่งงานที่เราหวังไว้ เพราะงั้นในวันนี้เราจะมาแชร์เกี่ยวกับเทคนิคดี ๆ ของการเขียนใบสมัครงานกัน
ใบสมัครงานของทางบริษัท ไม่ใช่เรซูเม่
ต้องขออธิบายเพิ่มเติมกันสักนิดว่าสำหรับในการสมัครงานเราต้องเตรียมเอกสารจำเป็นหลาย ๆ อย่างในการยืนยันตัวตน และพร้อมเรซูเม่ที่จะเป็นโปรไฟล์อธิบายถึงความรู้ ความสามารถและสิ่งต่าง ๆ ของเรา แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ ใบสมัครงาน เพราะในการ สมัครงาน ทางบริษัทจะมีใบสมัครของตัวเองมาให้ว่าที่พนักงานกรอกซึ่งรายละเอียดนั้นมีความแตกต่างกันไปของแต่ละองค์กร ดังนั้นหากเราสามารถเขียนใบสมัครงานได้ตรงใจผู้ประเมินผลสัมภาษณ์ โอกาสที่จะได้งานนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วล่ะ
9 เทคนิค กรอกใบสมัครงาน ให้ได้งานสำหรับน้องจบใหม่
ในยุคที่การแข่งขันหางานสูง น้อง ๆ จบใหม่หลายคนอาจรู้สึกกังวลเมื่อต้องกรอกใบสมัครงาน โดยเฉพาะเมื่อยังไม่มีประสบการณ์ทำงานจริงๆ แต่ไม่ต้องเครียดไป เพราะวันนี้เราจะมาแชร์เทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้ใบสมัครงานของน้อง ๆ โดดเด่นและมีโอกาสได้งานที่ใช่มากขึ้น
1. รู้จักบริษัทก่อนสมัคร
ก่อนจะลงมือกรอกใบสมัคร สำคัญสุดคือทำความรู้จักบริษัทที่เราสนใจ เหมือนกับตอนสมัครเข้ามหา’ลัย ที่ต้องรู้ว่าเราจะได้เรียนอะไรบ้าง การรู้ข้อมูลบริษัทจะช่วยให้เราเขียนใบสมัครได้ตรงจุดมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าเราสนใจจริงๆ ไม่ได้แค่ส่งๆ ไป
ตัวอย่าง: ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของบริษัท ประเภทของธุรกิจ ลูกค้าเป้าหมาย หรือแม้แต่กิจกรรมเพื่อสังคมที่บริษัททำ เพื่อใช้ประกอบการเขียนในช่องเหตุผลที่อยากทำงานกับบริษัทนั้น
2. เตรียมเอกสารให้พร้อม
ก่อนจะไปสมัครงานจริงๆ ต้องเตรียมเอกสารทุกอย่างให้พร้อม เอกสารที่ควรมี เช่น บัตรประชาชน ใบทรานสคริปต์ ใบรับรองการจบการศึกษา หรือแม้แต่ใบฝึกงาน เพราะการเตรียมเอกสารพร้อมแสดงถึงความ Professional ของเรา
Tips: เซ็นรับรองสำเนาถูกต้องไว้ล่วงหน้า และเตรียมเอกสารเป็นชุดๆ เผื่อไว้ให้เรียบร้อย
3. เขียนประวัติการศึกษาและฝึกงานให้ชัดเจน
แม้จะเป็นเด็กจบใหม่ แต่ประวัติการศึกษาก็ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะถ้าเคยฝึกงานมา ควรระบุให้ชัดเจน เช่น ชื่อบริษัท ตำแหน่งที่ฝึก และหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เพื่อให้บริษัทเห็นว่าเราเคยผ่านการทำงานในลักษณะใดมาบ้าง
4. กรอกทุกช่องให้ครบ
อย่าปล่อยให้ช่องไหนว่างโดยเด็ดขาด ถ้าไม่มีข้อมูลที่จะกรอกจริงๆ ควรใส่เครื่องหมาย “-” แทน เพราะฝ่ายบุคคลอาจจะคิดว่าเราละเลยและไม่ใส่ใจรายละเอียด ถ้าเขาต้องเลือกระหว่างเรากับอีกคนที่กรอกครบทุกช่อง แน่นอนว่าโอกาสอาจตกไปที่อีกฝ่ายได้
5. ลายมือชัดเจน อ่านง่าย
ถ้าบริษัทให้กรอกด้วยลายมือ ควรเขียนให้ชัดเจน อ่านง่าย สะอาดตา ไม่ต้องถึงกับสวยสุด แต่ขอให้ดูแล้วสบายตา น่าประทับใจ ปากกาที่ใช้แนะนำให้เป็นสีน้ำเงินหรือดำเท่านั้น
6. เลือกใส่ความสามารถพิเศษที่มีประโยชน์
ความสามารถพิเศษเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ใบสมัครของเราดูโดดเด่นขึ้น เช่น ถ้าคุณเก่งเรื่องการใช้โปรแกรม Excel หรือพูดภาษาที่สองได้ ก็ใส่ลงไปเลย เพื่อเพิ่มโอกาสให้ฝ่ายบุคคลเห็นว่าเรามีศักยภาพในงานนั้นๆ
7. ใช้รูปถ่ายที่ดูดี เป็นทางการ
รูปถ่ายที่ใช้ในใบสมัครงานไม่จำเป็นต้องหน้านิ่งแบบสมัยก่อนแล้ว คุณสามารถยิ้มนิดๆ เพื่อให้ดูเป็นมิตรได้ แต่ควรใช้รูปที่สุภาพและดูเป็นมืออาชีพ ควรเลือกใช้ขนาด 1 หรือ 2 นิ้ว และถ่ายไม่เกิน 6 เดือน
ข้อแนะนำ: ใช้พื้นหลังสีฟ้า หรือสีขาว จะทำให้รูปดูชัดเจนและเป็นทางการ
8. บุคคลอ้างอิง ต้องเลือกให้ดี
ถ้าบริษัทต้องการบุคคลอ้างอิง ควรเลือกคนที่เคยทำงานหรือฝึกงานร่วมกับเรา เช่น หัวหน้าในระหว่างฝึกงาน หรืออาจารย์ที่ให้คำแนะนำ และต้องแจ้งเขาก่อนว่าเราจะใช้ชื่อของเขาในใบสมัคร เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด
9. ระบุเงินเดือนตามความเหมาะสม
หลายคนมักสงสัยว่าจะระบุเงินเดือนยังไงดี ถ้ายังไม่มั่นใจให้เขียนเป็นช่วง เช่น “20,000-25,000 บาท” หรือระบุว่า “ตามตกลง” เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการเจรจา แนะนำให้ศึกษาว่าเงินเดือนของตำแหน่งนี้ในตลาดทั่วไปอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ เพื่อให้เสนอได้เหมาะสม
บทส่งท้าย
การกรอกใบสมัครงานอาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าเราใส่ใจรายละเอียดในทุกขั้นตอน โอกาสที่จะได้งานดีๆ ก็อยู่ไม่ไกลแล้ว หวังว่าเทคนิคเหล่านี้จะช่วยให้เด็กจบใหม่ทุกคนเตรียมตัวได้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าคุณจะกำลังมองหางานในสายไหน ถ้าเตรียมตัวดี โอกาสก็จะอยู่ในมือคุณแน่นอน
และถ้าใครยังหางานที่ใช่ไม่ได้ ลองเข้ามาค้นหางานดีๆ ที่ ThaiJob ดูได้ เรามีตำแหน่งงานหลากหลายให้เลือกสำหรับเด็กจบใหม่ เพียงสมัครสมาชิกและค้นหางานในฝันของคุณได้เลย!