ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา  มหาคุณ ที่ปรึกษาองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ปาฐกถาในหัวข้อ การสร้างความสุขตามแนวทางพระพุทธศาสนา : พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว – องค์อัครศาสนูปถัมภก และทศบารมีในพระพุทธศาสนาว่า

กระผมรู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญจากองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก  (The World Fellowship of Buddhists : The WFB)  มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลก  (The World Buddhists University)  ร่วมกับ  ศูนย์ภาคี  และ  องค์กรนานาชาติที่เกี่ยวข้อง ในการจัดการประชุมนานาชาติเพื่อสันติภาพ และโครงการจัดทำสารคดีและนิทรรศการ  “องค์ปฐมอัครศาสนูปถัมภก”   เฉลิมพระเกียรติ  พระบาทสมเด็จ พระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิตติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร  พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา  ๗๒  พรรษา  ณ  วันที่  ๒๘  กรกฎาคม  ๒๕๖๗  ให้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ  “How Buddhists Can Create Happiness :  King Rama X – The Royal Patron of All faith and Ten Virtues in Buddhism” ในวันนี้

               เพื่อให้การปาฐกถาครั้งนี้ได้มีเนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์  กระผมขอแบ่งเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อปาฐกถาออกเป็น ๔ ส่วน  ได้แก่ :

(๑)            การสร้างความสุขตามแนวทางพระพุทธศาสนา

               (๒)  ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของประเทศไทย

               (๓)  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้ทรงเป็นพุทธมามกะ  และองค์อัครศาสนูปถัมภก

               (๔)  ทศบารมีในพระพุทธศาสนา

(๑)  การสร้างความสุขตามแนวทางพระพุทธศาสนา

               พระพุทธศาสนา  คือ  ระบบการพัฒนาความสุข

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยฺตฺโต) ได้กล่าวถึงความสุขในพระพุทธศาสนา  ในหนังสือ ชื่อ “พุทธธรรม” (ฉบับปรับขยาย) ว่า  ในพระพุทธศาสนามีการกล่าวถึงความสุขชื่อต่าง ๆ หลากหลายมากมาย  ทั้งโดยขั้น  และโดยประเภท  สูงขึ้นไป  จนถึงความสุขอย่างสูงสุด  และในแง่การปฏิบัติ  ท่านกล่าวถึงความสุขต่าง ๆ  พร้อมทั้งบอกด้วยว่า  อย่างไหน  ขั้นไหน  ดีอย่างไร  เสียอย่างไร  และดีกว่าอย่างไร  ซึ่งเป็นการบอกให้รู้ว่าเราจะต้องมีความก้าวหน้า  หรือพัฒนาขึ้นไปในความสุขที่สูงขึ้นเหล่านั้นด้วย ซึ่งมีความสำคัญ  เพราะเมื่อจะพัฒนาก้าวหน้าไปได้  ก็ต้องรู้ข้อดี  และข้อด้อย  หรือข้อเสียในสิ่งนั้น ๆ  โดยสรุปความหมายของความสุขว่า  “ คือการได้สนองความต้องการ  หรือ  คือ  ความสมอยาก  สมปรารถนา”  ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก  จึงต้อง :

ก.            ทำความเข้าใจเรื่องความอยาก   ความปรารถนา   ความต้องการนี้ให้ชัดเจน

ข.            เมื่อความสุขเป็นการได้สนองความต้องการ ก็บ่งชี้ว่า การพัฒนาความสุขได้นั้น  ต้องพัฒนาความอยาก พัฒนาความปรารถนา หรือพัฒนาความต้องการด้วย 

 

ในที่สุด  ท่านได้สรุปว่า  ความอยากความต้องการนั้นมี 2 ประการ ได้แก่ :

1.            ตัณหา  คือ  ความอยากความต้องการที่เป็นอกุศล  เพราะเป็นความอยากเพื่อตัวเอง

2.            ฉันทะ  คือ  ความอยากความต้องการที่เป็นกุศล  อันเป็นความอยากเพื่อความดี  ความงาม  ความสมบูรณ์ของสิ่งนั้น ดังนั้น  ถ้าการศึกษา  พัฒนาคนให้มีความสุขด้วยฉันทะได้  จริยธรรมย่อมไม่หนีไปไหน  เหตุนี้การพัฒนาความสุข  จึงเป็นการพัฒนาจริยธรรม  และกลับกันการพัฒนาจริยธรรม  ก็ต้องเป็นการพัฒนาความสุข  หมายความว่า  มนุษย์นั้นเป็นสัตว์ซึ่งมีธรรมชาติ ที่จะต้องฝึก  ต้องหัด  ต้องพัฒนา  ต้องมีการศึกษา  เมื่อศึกษาถูกต้องเป็นไปตามธรรมชาติ  เขาก็จะยิ่งเจริญงอกงาม  มีความสุขยิ่งขึ้น  การศึกษาจึงเป็นการพัฒนาความสุข  และพัฒนาจริยธรรม รวมอยู่ในตัว

(๒)  ระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ของประเทศไทย(Thailand adops a democratic regime of government with the king as a Head of State)

 การปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้น  ได้ยึดถือแบบอย่างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  นับตั้งแต่มีการเปลี่ยน แปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕  ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  ดังปรากฏในมาตรา ๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน และในมาตรา ๓  กำหนดว่า “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย  พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข  ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา  คณะรัฐมนตรี  และศาล  ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”  นอกจากนี้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการศาสนา  ยังได้กำหนดไว้ในมาตรา ๗  ว่า  “พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ  และ  ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก”

คำว่า “พระมหากษัตริย์” ดังกล่าวข้างต้น  ย่อมหมายถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์”      (The Crown) และ “องค์พระมหากษัตริย์”  (The King) ซึ่งทรงสืบราชสมบัติ  โดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์  พระพุทธศักราช ๒๔๖๗  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา ๒๐ วรรคหนึ่ง ซึ่งนอกจากทรงเป็นประมุขแห่งราชอาณาจักรแล้วยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจขององค์พระประมุขดังต่อไปนี้ :

๑.           ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติทางรัฐสภา

๒.           ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี

๓.           ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาล

๔.           ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย

๕.           ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งประธานองคมนตรีและองคมนตรี  หรือให้พ้นจากตำแหน่งตามพระราชอัธยาศัย

               อนึ่ง  ยังทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจส่วนพระองค์ของระบอบกษัตริย์ (The Monarch ) ดังต่อไปนี้  :

๑.           ทรงเป็นผู้แทนของชาติ  (To represent the nation)

๒.           ทรงพระราชทานคำแนะนำ  ทรงพระราชทานกำลังใจ  และทรงตักเตือน นายกรัฐมนตรี  และคณะรัฐบาล (To advice, encourage and warn)

๓.           พระราชอำนาจพิเศษ  (The Royal Prerogative) ตามคลองจารีตประเพณี

ได้แก่  พระราชอำนาจที่ทรงใช้ดุลพินิจ เพื่อปกป้องชุมชนจากภยันตรายอันมิได้คาดหมาย     (discretionary power is always needed to protect the community against unexpected dangers)  พระราชอำนาจพิเศษนี้แสดงออกโดยตรงทางคณะรัฐมนตรี  หรือทางคณะองคมนตรี  เหตุที่ทรงมีพระราชอำนาจพิเศษนี้ก็เพราะคำว่าชาติ (a nation) มิใช่เป็นเพียงความคิดทางกฎหมาย (a legal concept)  หากแต่มีที่มาจากความคิดของวัฒนธรรม  การเมือง  และประวัติศาสตร์ที่สืบเนื่องมายาวนาน (a cultural, political and historical idea)  โดยอาศัยความเชื่อมโยงระหว่างชุมชนที่มีรากฐานทางภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณี ที่ผูกร้อยกันขึ้นเป็นชาติ  ดำรงไว้ซึ่งจารีตประเพณีอันเก่าแก่ที่ว่า “ผู้ปกครองต้องได้รับความยินยอมจากชุมชน” (The ruler requires the consent of the community)  หรือตรงกับคำว่า  “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” พระราชอำนาจพิเศษนี้  มิใช่อำนาจเด็ดขาด (absolute)  เหมือนในอดีต   แต่เป็นกรณีที่ทรงใช้ดุลพินิจตามปกติ  (ordinary)  ซึ่งทรงใช้ด้วยความระมัดระวัง  ทั้งนี้ด้วยทรงชั่งน้ำหนักแห่งเหตุทั้งปวงแล้ว ทรงเห็นว่าจำเป็นต้องใช้พระราชอำนาจดังกล่าว (justifiable) ดังเช่นวิกฤตของประเทศไทย ในเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ เดือนพฤษภาคม ๒๕๓๕ กล่าวโดยสรุป  ระบอบกษัตริย์ (The Monarchy)  อยู่คู่กับราชอาณาจักรไทยสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย   กรุงศรีอยุธยา   กรุงธนบุรี   และกรุงเทพมหานคร  จวบจนปัจจุบัน  โดยองค์พระมหากษัตริย์ (The King)  ทรงสืบราชสันตติวงศ์ต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย  กลายเป็นสถาบันกษัตริย์ (The Crown)  แม้ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ. ๒๔๗๕  ระบอบการปกครองประเทศได้เปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute  monarchy)     เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  โดยคงเทิดทูนองค์พระมหากษัตริย์ไว้เหนือสิ่งอื่นใด  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา ๖  ที่ว่า : 

“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้  ผู้ใด จะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดมิได้”  โดยกลมกลืนสอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย  กล่าวคือทรงมิได้มีพระราชอำนาจอันล้นพ้นดังเช่นในอดีต  หากแต่ทรงเป็นประมุขซึ่งมีพระราชอำนาจ  และพระราชภาระตามรัฐธรรมนูญ  ตามกฎหมาย  และตามขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี  โดยทรงร่วมสุขร่วมทุกข์กับพสกนิกรทุกหมู่เหล่า  พร้อมที่  จะทรงช่วยเหลือ  ปกป้อง  และพัฒนาให้ประเทศชาติเดินไปสู่จุดมุ่งหมาย  คือ  ความสงบเรียบร้อย  และเจริญรุ่งเรืองวัฒนาสถาพร  ดังพระปฐมบรมราชโองการ  เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  วันที่  ๕  พฤษภาคม ๒๔๙๓  ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร   มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  เป็นพระราชดำรัสว่า  “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และดังพระปฐมบรมราชโองการ เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  วันที่  ๔  พฤษภาคม  พ.ศ. ๒๕๖๒  ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  เป็นพระราชดำรัสว่า  “เราจะสืบสานรักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”

(๓)  พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพุทธมามกะ  และองค์อัครศาสนูปถัมภก

ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา ๗  กำหนดว่า  พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ  และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก  (The King is a Buddhist and Upholder of religions) เมื่อวันที่  ๔  พฤษภาคม  ๒๕๖๒  ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จ    พระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชดำรัสประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในที่ชุมนุมสงฆ์  และพระบรมวงศานุวงศ์  กับข้าราชการ  ความว่า :

“แต่เดิมมา  ข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส  และระลึกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้น ๆ อยู่แล้ว  ฉะนั้นบัดนี้  ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว   จึงขอมอบตัวแด่พระพุทธเจ้า  พระธรรมเจ้า  และพระสังฆเจ้า  กับได้รับการจัดการให้ความคุ้มครองรักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป  ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่าข้าพเจ้าเป็นพระพุทธศาสนูปถัมภกเถิด”

จากประวัติศาสตร์ของชาติไทย  มีหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงว่า  พระมหากษัตริย์ไทยทรงเป็นพุทธมามกะ  และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก  ได้แก่  เหตุการณ์ในรัชสมัย สมเด็จ พระนารายน์มหาราช  (พ.ศ. ๒๑๗๕ – ๒๒๓๑)   ซึ่งสมเด็จพระนารายน์มหาราช  ทรงมี    พระราชดำรัส  แก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ ในเรื่องที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  แห่งฝรั่งเศส  ทรงทูล ขอให้พระองค์เข้ารีตในศาสนาคริสต์  มีใจความตอนหนึ่งว่า :

 “เจ้าจงไปบอกราชทูตแทนเราว่า  เรามีความขอบพระทัยพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสอย่างยิ่ง    ที่ได้ทรงแสดงไมตรีต่อเรานั้น...  แต่การที่พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเพื่อนรักของเรามาแนะนำการอันยากเช่นนี้  และเป็นเรื่องที่เราไม่มีความรู้เลยนั้น  เป็นเรื่องที่กระทำให้เราเสียใจเป็นอันมาก  แต่ขอให้พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสผู้ทรงพระปรีชาญาณอย่างล้ำเลิศ  ได้ทรงตรึกตรองดูว่า  การที่จะเปลี่ยนศาสนาซึ่งได้เคยนับถือต่อ ๆ กันมาถึง  ๒๒๒๙ ปีแล้ว  จะเป็นการสำคัญและลำบากสักเพียงไร  อีกประการหนึ่ง  เราก็มีความแปลกใจมากว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสเพื่อนรักของเราได้ มาเป็นพระธุระในการอันเป็นกิจของพระผู้เป็นเจ้า เพราะเราก็เห็นว่า พระเป็นเจ้าเอง ก็หาได้ฝักใฝ่ในเรื่องนี้ไม่ เพราะการที่มนุษย์เรามีร่างกาย มีวิญญาณ  มีธรรมชาติอย่างเดียวกัน ไม่ใช่พระเป็นเจ้าเป็นผู้ทำให้เป็นเช่นนั้นดอกหรือ  ถ้าพระเป็นเจ้าจะโปรดให้มนุษย์ทั้งปวงได้มีความนับถือศาสนาอันเดียวกันแล้ว พระเป็นเจ้ามิทำให้มนุษย์เกิดมาร่วมศาสนาเดียวกัน    ดอกหรือ  แต่นี่พระเป็นเจ้าไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น กลับปล่อยให้มีศาสนาต่าง ๆ กันทั่วโลก  พระเป็นเจ้ามีความประสงค์จะให้มนุษย์เราได้นับถือและบูชาพระองค์ด้วยวิธีและลัทธิต่าง ๆ กัน...  แต่อย่างไรก็ดี  เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าการทั้งปวงจะเป็นอย่างไรก็ต้องสุดแต่พระเป็นเจ้าจะสั่งให้เป็น  เพราะฉะนั้น  เราจึงขอมอบกายและแผ่นดินของเรา  ให้อยู่ในความคุ้มครองของพระเป็นเจ้า  การต่อไปข้างหน้าจะดีร้ายประการใด  ก็แล้วแต่พระเป็นเจ้าโปรดเถิด”

ดังนี้  การที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช  พระมหากษัตริย์ในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ทรงมีพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น  จึงเป็นหลักฐานหนึ่งที่แสดงถึงความเป็นพุทธมามกะของ พระมหากษัตริย์ไทย  สืบเนื่องมาตั้งแต่โบราณกาลนับพันปี  แต่กระนั้นก็ทรงยืนหยัดในหลักที่ว่า  “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา  และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติหรือประกอบพิธีกรรมตามหลักศาสนาของตน”  โดยพระองค์ทรงเป็นองค์อัครศาสนูปถัมภก  กล่าวคือให้ความอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนาดังที่เป็นมาในอดีต  จวบจนถึงปัจจุบัน  ซึ่งจะเห็นได้ จากการที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงทะนุบำรุงศาสนาทั้งปวงภายใต้พระบรมโพธิสมภารอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม ด้วยทรงเชื่อว่า ทุกศาสนาล้วนสอนให้ทุกคนเป็นคนดี  จึงต้องร่วมกันสร้างสรรค์ความดี  เพื่อก่อให้เกิดสังคมที่ดี 

(๔)  ทศบารมีในพระพุทธศาสนา  (Ten Virtues in Buddhism)

บารมี  ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตโต)  อธิบายว่า  คือ  คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด  เพื่อบรรลุจุดหมายอันสูงยิ่ง  อันได้แก่บารมีที่พระโพธิสัตว์ต้องบำเพ็ญให้ครบบริบูรณ์  จึงจะบรรลุโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า มี ๑๐ ประการ  คือ

๑.           ทาน :  การให้  การเสียสละเพื่อช่วยเหลือมวลมนุษย์สรรพสัตว์

๒.           ศีล  :  ความประพฤติที่ถูกต้อง  สุจริต

๓.           เนกขัมมะ  :  ความปลีกออกจากกามได้  การออกบวช 

๔.           ปัญญา  :  ความรอบรู้เข้าถึงความจริง  รู้จักคิดพิจารณาแก้ไขปัญหา  และ ดำเนินการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้สำเร็จ

๕.           วิริยะ :  ความเพียรแกล้วกล้า  บากบั่นทำการ  ไม่ทอดทิ้งธุระหน้าที่

๖.           ขันติ :  ความอดทน  ควบคุมตนอยู่ในธรรม  ในเหตุผล  ไม่ยอมลุอำนาจกิเลส

๗.           สัจจะ :  ความจริง  ซื่อสัตย์  จริงใจ  จริงจัง

๘.           อธิษฐาน :  ความตั้งใจมั่น  ตั้งจุดหมายไว้ดีงามชัดเจน  เด็ดเดี่ยว  แน่วแน่

๙.           เมตตา :  ความรักความปรารถนาดี  คิดเกื้อกูลหวังให้สรรพสัตว์อยู่ดีมีความสุข

๑๐.         อุเบกขา :  ความวางใจเป็นกลาง  อยู่ในธรรม  เรียบสงบ  สม่ำเสมอ  ไม่เอนเอียง  ไม่หวั่นไหวไปด้วยความยินดียินร้ายชอบชังหรือแรงเย้ายวนยั่วยุใด ๆ บารมี ๑๐  หรือ  ทศบารมี นั้น  จะบริบูรณ์ต่อเมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญแต่ละบารมี ครบสามขั้นหรือสามระดับ  จึงแบ่งบารมีเป็น ๓ ระดับ  คือ  ๑. บารมี  คือ คุณความดีอย่างยิ่งยวดขั้นต้น  ๒. อุปบารมี  คือ  คุณความดีอย่างยิ่งยวด  ขั้นจวนสูงสุด   ๓. ปรมัตถบารมี    คือ  คุณความดีที่บำเพ็ญอย่างยิ่งยวด ขั้นสูงสุด การสืบสาน  รักษา  และต่อยอด  และครองแผ่นดินโดยธรรม  ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามแนวทางแห่งทศบารมี

พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทำนุบำรุงประเทศชาติให้มั่นคง  เพื่อให้พสกนิกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น  โดยพัฒนาความสุขของประชาชนตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา  ให้มีการศึกษาที่ถูกต้อง  เป็นไปตามธรรมชาติ  อันเป็นการพัฒนาความสุขและพัฒนาจริยธรรมรวมอยู่ในตัวของประชาชนทุกคน  ทั้งนี้    ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะสืบสานรักษา  และต่อยอด  โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ   และแนวทางพระราชดำริต่าง ๆ   ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ในการบำบัดทุกข์  บำรุงสุข  อันยั่งยืนสถาพรให้แก่ประชาชน  และพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรือง  โดยทรงมีพระราชอุตสาหะ  เสียสละพระวรกาย  เสด็จพระราชดำเนินไปในพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคด้วยพระองค์เอง  ตั้งแต่ครั้งดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙  และสมเด็จพระบรมราชินีนาถในขณะนั้น  เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎร  และสำรวจสภาพท้องถิ่นทุรกันดาร  ด้วยทรงมีพระราชประสงค์ที่จะวางแผนการพัฒนาพื้นที่  เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร  ได้แก่  เมื่อวันที่  ๑๘  กรกฎาคม  ๒๕๔๕  ได้พระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ จำนวน  ๑,๓๕๐ ไร่  ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  พร้อมกับพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณากำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เป็นอาทิ

นอกจากนี้  พระองค์ทรงตระหนัก  และทรงห่วงใยในความเป็นอยู่ของราษฎร  โดย เฉพาะอย่างยิ่งความเดือดร้อนที่เกิดจากภัยธรรมชาติ  เช่น  ภัยแล้ง  พายุ  อุทกภัย  เป็นต้น  ยิ่งกว่านั้น ยังมีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว  อีกมากมาย  ซึ่งล้วนเป็นคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ต่อพสกนิกรทั่วทุกพื้นที่ของประเทศเช่น  โครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ  โครงการโคก  หนอง  นา โมเดล  ซึ่งประยุกต์จากทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  รัชกาลที่ ๙  มาประยุกต์สู่โคก  หนอง  นา  โมเดล  เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้  การมีส่วนร่วม  การพึ่งพาตนเอง  เพื่อให้สามารถบริหารจัดการตนเอง 

และชุมชนให้มีความสุขได้อย่างยั่งยืน  ซึ่งสอดคล้องกับโครงการจิตอาสาพระราชทานตามแนวพระราชดำริ  และโครงการพระราชทาน “อารยะเกษตร  สืบสาน  รักษา  ต่อยอด”  ตามแนวทางพระราชดำริ  เศรษฐกิจพอเพียง  ด้วยโคก  หนอง  นา  แห่งน้ำใจและความหวัง  คำว่า “อารยะเกษตร”  เป็นคำพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑๐   หมายถึง  เขตหรือประเทศซึ่งดีงาม  โดยจัดให้โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)  กว่า  ๓๐,๐๐๐ โรงเรียน  นำร่องเป็น  ๑๐๐  กว่าโรงเรียน  เพื่อสร้างประเทศไทยเป็นอารยะเกษตร (Agronomy)  ทั้งนี้เป็นการสืบสานรักษา  ต่อยอด  ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง   ด้วย  “โคก  หนอง  นา  แห่งน้ำใจและความหวัง”  เน้นให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอน  สร้างต้นแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ขนาดเล็ก  สามารถดำเนินการได้ในทุกเงื่อนไขของพื้นที่  ปรับพื้นฐานความคิด  ฝึกวินัย  ลงมือปฏิบัติแก้ปัญหาจริงในท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ในสถานศึกษา  ทำให้เป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ตัวอย่าง  แนวพระราชดำริข้างต้น  ย่อมแสดงให้เห็นว่า  ทรงคิดค้น  พระราชทาน  และพัฒนาแนวทาง  เพื่อให้อาณาราษฎรมีส่วนร่วมในทุกพื้นที่ของราชอาณาจักรไทย  เพื่อให้ประชาชนเป็นพลเมืองดี  ตามหลักแห่งทศบารมี  คือ  การบำเพ็ญคุณความดีอย่างยิ่งยวด  เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายอันสูงยิ่ง  ทั้งการให้  การเสียสละ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์  ด้วยความรอบรู้  เข้าถึงความเจริญ พากเพียร บากบั่นทำการอย่างแกล้วกล้า  มานะอดทน  จริงจัง  จริงใจ  มุ่งมั่นในจุดมุ่งหมายอันดีงามชัดเจน  ด้วยความรักความปรารถนาดีต่อประชาชนทุกคนให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยมิได้ลำเอียงต่อผู้หนึ่งผู้ใดทั้งสิ้น  พระมหากรุณาธิคุณ  ที่ทรงมีต่ออาณาราษฎร   จึงก่อให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่  กล่าวคือ  สามารถแก้ไขปัญหา  และสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชนในชุมชนทุกถิ่นได้จริง สมดังพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด  และครองแผ่นดินโดยธรรม  เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป”