“สมศักดิ์-เดชอิศม์” ยกทัพใหญ่ สธ.คิกออฟ NCDs เวทีแรกสงขลา ตั้งโต๊ะ ติวเข้มสอน อสม.นับคาร์บ ผ่านสูตรคำนวน Harris Benedict เพื่อแนะนำประชาชนควรกินข้าวเท่าไหร่ จะได้เหมาะสมกับร่างกาย ไม่กินเกินจนกลายเป็นน้ำตาล ทำร้ายเส้นเลือด หวังลดผู้ป่วย-เสียชีวิต กางงบปี 67 รักษาเบาหวาน-ความดัน-ไต รวมกว่า 5 หมื่นล้านบาทแล้ว ลั่น เลิกตอบปมพาดพิงดิไอคอน มอบเลขาฯรมว. ชี้แจงรายละเอียด
วันที่ 1 พ.ย.2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดงานการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครั้งที่ 1 โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา น.ส.สุภาพร กำเนิดผล สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ นายศักดิ์สิทธิ์ ขาวทอง สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์ นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ นพ.สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และ อสม.กว่า 1,800 คน เข้าร่วม ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
โดยนายเดชอิศม์ กล่าวต้อนรับว่า ตนมีความยินดี และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้มาร่วมจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนโครงการคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ครั้งที่ 1 ในวันนี้
เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ตั้งอยู่บนคาบสมุทรอินเดีย ขนาบด้วยท้องทะเลอ่าวไทย ทางฝั่งตะวันออก และทะเลอันดามันทางฝั่งตะวันตก จังหวัดที่ใหญ่ที่สุด คือ สุราษฎร์ธานี และจังหวัดที่เล็กที่สุด คือ ภูเก็ต โดยทุกจังหวัดของภาคใต้ มีเขตติดต่อกับทะเลยกเว้นจังหวัดยะลา และพัทลุง ในภาคใต้มีอาหารที่มีจัดจ้าน เป็นเอกลักษณ์ อาทิ แกงส้ม แกงไตปลา น้ำบูดู และยังมีชาเย็น ที่รสชาติหวานมัน เข้มข้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ของคนในพื้นที่ การรับประทานอาหาร ที่มีรสจัดจ้านนั้น อาจเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่นำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของประเทศไทย ตนจึงหวังว่ากิจกรรมในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงสุขภาพของประชาชน ทำให้ทุกคนมีสุขภาพดี ลดอัตราการเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากโรคที่ป้องกันได้
ขณะที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคไตเรื้อรัง จำนวนมาก สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหารหวานจัด เค็มจัด ไม่ออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนดึก มีความเครียดสูง รวมถึงการกินยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์ ซึ่งก่อให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจ สูงถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพและวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพ ปรับปรุงกฎหมาย และมาตรการ ให้เอื้อต่อการต่อสู้กับ NCDs การสนับสนุนแนวคิดสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผ่านศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs เพื่อลดอัตราการป่วย ก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา
“การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจาก บุคลากรสาธารณสุข และพี่น้อง อสม. ทั้งในด้านการสร้างความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน การส่งเสริมสุขภาพด้านอาหารและโภชนาการ รวมถึงการออกกำลังกาย ที่จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า และลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและรัฐบาลได้ ผมจึงขอขอบคุณทุกท่านที่มีส่วนร่วมจัดงานในวันนี้ และขอให้พวกเราช่วยกันขับเคลื่อนนโยบาย คนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพื่ออนาคตของระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืน และประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องประชาชนต่อไป” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า การขับเคลื่อนโครงการนี้ เพื่อทำให้คนไม่ป่วย โดยใช้คำว่า กินเป็นไม่ป่วย ซึ่งตนขอใช้เวลา 3-6 เดือน เพื่อทำให้ อสม.เข้าใจ เนื่องจากเป็นหมอคนที่ 1 ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน โดยจะช่วยให้ประชาชน ลดการเจ็บป่วยได้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า มีผู้เสียชีวิต จาก NCDs มากกว่าปีละ 4 แสนคน ทำให้สูญเสียมูลค่าทั้งทางตรง และทางอ้อม รวมกว่า 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี และในปี 2567 ตนก็ได้รับรายงานว่า โรคเบาหวาน ต้องใช้งบประมาณกว่า 14,000 ล้านบาท ความดัน 14,000 ล้านบาท ไต 22,000 บาท โดยหากรวมแค่ 3 กลุ่ม ก็ใช้งบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาทแล้ว ดังนั้น NCDs ดีได้ ด้วยกลไก อสม. ซึ่งคือ แนวทางการขับเคลื่อนงาน ให้ความรู้ การนับคาร์บ รวมถึงการจัดหาเครื่องมือให้ อสม.ด้วย
“วันนี้ ผมขอมาสอนการนับคาร์บ ให้กับ อสม. ที่ถ่ายทอดสดพร้อมกัน 14 จังหวัด โดยเราต้องกินไม่เกิน เพราะหากกินเกิน เส้นเลือดจะชำรุด เนื่องจากความหวานที่มาจากข้าว คือ ตัวแสบ ดังนั้น เราต้องคำนวนการกินข้าวได้เท่าไหร่ เพราะแต่ละคน กินได้ไม่เท่ากัน ซึ่งกินมากไม่ได้ จะเกิดน้ำตาล โดยสูตรคำนวนนี้ เกิดมาจากการทดลองของคนอเมริกัน ชื่อ Harris Benedict ซึ่งเป็นสูตรคงที่ จะทำให้เรากินข้าวได้พอดี และไม่ป่วย โดยผมทำแค่ 2 เดือน ผอมลงเลยทันที ดังนั้น เมื่อปฎิบัติถูกต้อง น้ำหนักจะลด และไม่เจ็บป่วยจากโรค NCDs”รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า การขับเคลื่อนโครงการ NCDs เพราะต้องการลดการเจ็บป่วย ซึ่งการจะหยุดป่วยได้ ต้องเริ่มที่การกิน โดยต้องไม่กินคาร์โบไฮเดรต เกินกว่าที่ร่างกายต้องการใช้ ซึ่งประชาชน มีความจำเป็นบริโภคไม่เท่ากัน ตนจึงนำวิธีคิดของหลัก Harris Benedict มาแนะนำให้กับ อสม. เพื่อให้ช่วยรณรงค์การทานอาหารให้เหมาะสม โดยการขับเคลื่อนโครงการนี้ จะทำให้ อสม.เข้าใจการคิดคำนวนปริมาณการทานอาหาร และเมื่อมีความเข้าใจ ก็จะสามารถช่วยป้องกันการป่วยได้ ซึ่งตนคาดว่า ประมาณ 2 ปี ตัวเลขผู้ป่วยจะลดลงอย่างชัดเจน
เมื่อถามถึงเรื่องถูกพาดพิงในกรณีดิไอคอน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ เป็นเรื่องการเมือง ตนจะไม่พูดแล้ว แต่จะให้เลขานุการรัฐมนตรีในขณะนั้น เอาเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เรื่องการตั้งใคร มาอธิบายความให้กับพี่น้องประชาชนได้รับทราบ โดยตนมองว่า หากยังพูดไป จะเป็นการไม่ให้เกียรติกัน