ผ่านมา 1 ปีกว่า สำหรับ สงครามในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างกองกำลังป้องกันอิสราเอล หรือไอดีเอฟ กับกลุ่มฮามาสของชาวปาเลสไตน์ ที่ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้วเป็นต้นมา จนถึง ณ ชั่วโมงนี้ การสู้รบระหว่างทั้งสองฝ่ายยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ไม่ทีท่าว่าจะหยุดยั้ง

โดยฉากของสงครามในฉนวนกาซา ทางกองกำลังไอดีเอฟ ซึ่งประสิทธิภาพก็คือกองทัพดีๆ นี่เอง ปฏิบัติการโจมตี ที่เริ่มจากทางอากาศ ก่อนตามมาด้วยปฏิบัติการทางการรบภาคพื้นดิน ด้วยการไล่พื้นที่จากทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ต่อเนื่องมายังตอนกลาง และตอนใต้ตามลำดับ ก่อนที่จะหวนกลับไปปฏิบัติการในบริเวณพื้นที่ตอนเหนืออีกคำรบ ตราบมาถึง ณ เวลานี้

ผลของสงครามได้สร้างความสูญเสียของผู้คนในพื้นที่สมรภูมิสู้รบ คือ ฉนวนกาซา จำนวนมากกว่า 43,000 คน สูญหายอีกราว 6,000 – 10,000 คน และทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 101,000 คน ถูกจับกุมคุมขังอีกกว่า 16,300 คน ตลอดจนอีกกว่า 1,900,000 คน ต้องกลายเป็นผู้ไรู้ที่อยู่อาศัย เพราะบ้านเรือนของพวกเขาถูกอาวุธสงครามโจมตีถล่มจนภินท์พัง

นอกจากนี้ สงครามยังได้สร้างผลกระทบเป็นประการต่างๆ ต่อผู้คนในฉนวนกาซาจนเดือดร้อนกันไปทั่ว โดยหนึ่งในรายการที่ได้รับผลกระทบจากสงครามที่ว่านั้น ก็คือ “ราคาอาหาร” ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีพของมนุษย์เรา นั่นเอง

ทั้งนี้ นอกจากการสู้รบแล้ว ในทางยุทธวิธี ทางอิสราเอล ก็ยังได้มีการปิดล้อมพื้นที่ฉนวนกาซาอีกด้วยว่า ทำให้การช่วยเหลือด้านอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในรายการของการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากภายนอก ไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซาได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านพ้นไป ปรากฏว่า อิสราเอลได้ปิดล้อมพื้นที่มานานมากกว่า 2 สัปดาห์ ทำให้อาหารไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซาได้ ก็ยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวฉนวนกาซาหนักเพิ่มขึ้นไปอีก โดยมีรายงานว่า ผู้คนในพื้นที่ทางตอนเหนือของกาซาจำนวนกว่า 400,000 คน กำลังดำรงชีวิตด้วยความอดอยาก ตามการประมาณการของสหประชาชาติ หรือยูเอ็น

พร้อมกันนี้ ทาง “โครงการอาหารโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอฟพี” ซึ่งเป็นหน่วยงานบรรเทาทุกข์ช่วยเหลือด้านอาหารของสหประชาชาติ ระบุด้วยว่า นอกจากปิดล้อมพื้นที่แล้ว กองทัพอิสราเอลยังได้ปฏิบัติการโจมตีทางการทหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การโจมตีทางอากาศ เข้าใส่พื้นที่เป้าหมายทางตอนเหนือของกาซา ก็ต้องทำให้ปิดจุดที่มีการแจกจ่ายอาหารไปด้วย พร้อมกับต้องอพยพประชาชนและเจ้าหน้าที่บรรเทาทุกข์ต่างๆ ออกนอกพื้นที่ไป ก็ยิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ด้านการขาดแคลนอาหารทางตอนเหนือของฉนวนกาซารุนแรงหนักขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ สถานการณ์การขาดแคลนอาหาร ก็ยังส่งผลกระทบไปทั่วฉนวนกาซา แต่ที่ตอนเหนือ ถือว่า หนักที่สุด

ร้านจำหน่ายสินค้าต่างๆ รวมถึงอาหารในฉนวนกาซา (Photo : AFP)

เมื่อสถานการณ์อาหารขาดแคลนเยี่ยงนี้ ก็ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารในฉนวนกาซา ให้ทะยานพุ่งตามมา ซึ่งแน่นอนว่า พื้นที่ที่ผจญกับราคาอาหารแพงที่หนักที่สุดก็คือ ทางตอนเหนือของกาซา แต่อย่างไรก็ดี เมื่อกล่าวถึงสถานการณ์ราคาอาหารโดยรวมในฉนวนกาซา ก็ล้วนประสบกับภาวะราคาอาหารแพงกันถ้วนหน้า โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงก่อนเกิดสงคราม

ตามการรายงานของ “ดับเบิลยูเอฟพี” ระบุด้วยว่า ทั่วฉนวนกาซา จำนวนผู้คนอย่างน้อย 2,150,000 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของจำนวนประชากรทั้งหมด กำลังเผชิญหน้ากับราคาอาหารที่แพงระยับ และในจำนวนข้างต้นนั้น จำนวนร้อยละ 20 หรือ 1 ใน 5 กำลังผจญชะตากรรมกับความอดอยาก อันสืบเนื่องจากราคาอาหารที่สูงลิ่วนั่นเอง

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบโดยผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง พบว่า ราคาอาหารในฉนวนกาซา ได้แพงขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะพื้นที่กาซาตอนเหนือ ที่เรียกได้ว่า เป็นราคาที่ทะยานพุ่งเลยทีเดียว ในหลายรายการอาหารด้วยกัน แถมยังเป็นอาหารแบบพื้นๆ บ้านๆ ที่แทบจะทุกครัวเรือนรับประทานกันอีกต่างหาก

ไม่ว่าจะเป็น “แตงกวา” ซึ่งเป็นหนึ่งในผักที่ใช้ประกอบอาหารในหลายเมนูของชาวปาเลสไตน์ ในฉนวนกาซา ปรากฏว่า ราคาต่อกิโลกรัม ที่จำหน่ายตามท้องตลาดในพื้นที่ตอนเหนือของฉนวนกาซา ก็ทะยานพุ่งขึ้นไปถึง 150 ดอลลารสหรัฐฯ ซึ่งเป็นราคาที่พุ่งทะยานจากช่วงก่อนเกิดสงครามถึง 150 เท่า เลยทีเดียว คือ จากเดิมราคาก็อยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ส่วนพื้นที่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ราคาแตงกวาก็พุ่งขึ้นมาที่กิโลกรัมละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก็ถือว่าไม่น้อยเหมือนกัน เมื่อว่ากันถึงในภาวะสงครามที่เงินทองเป็นของหายาก

หลายครอบครัวต้องประกอบอาหารอย่างกระเบียดกระเสียร เพราะวัตถุดิบที่จะใช้ปรุงมีราคาแพง (Photo : AFP)

“มะเขือเทศ” ราคาก็ทะยานพุ่งขึ้นไปจนน่าสะพรึง ที่กิโลกรัมละ 180 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในพื้นที่ตอนเหนือของกาซา พุ่งทะยานจากช่วงก่อนสงครามถึง 180 เท่า ที่จากเดิมขายกิโลกรัมละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น ส่วนทางตอนใต้ของกาซา ก็ขายกันกิโลกรัมละ 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ

“มะเขือยาว” หรือ “มะเขือม่วง” ในพื้นที่กาซาตอนเหนือขายกิโลกรัมละ 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนสงคราม 19 เท่า ส่วนทางตอนใต้ของกาซา ขายกิโลกรัมละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ

“แป้งที่ใช้ทำเป็นอาหาร” ราคาขายในพื้นที่ตอนเหนือของกาซา พุ่งทะยานขึ้นไปจากช่วงก่อนสงครามถึง 111 เท่า ไปอยู่ที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อน้ำหนัก 25 กิโลกรัม ส่วนทางตอนใต้ของกาซา ขายอยู่ที่150 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อน้ำหนัก 25 กิโลกรัม โดยราคาเดิมช่วงก่อนสงครามปริมาณเท่าข้างต้นนั้น ขายอยู่ที่ 9 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น

“น้ำตาล” หนึ่งในเครื่องปรุงหลักในอาหารเมนูต่างๆ ทั้งอาหารหวาน และอาหารคาว ปรากฏว่า ราคาขายในพื้นที่ตอนเหนือของกาซา เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนสงคราม 60 เท่า ที่ราคากิโลกรัมละ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ จากเดิมที่ขายเพียงกิโลกรัมละ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนทางตอนใต้ของกาซา ก็ขายอยู่ที่ราคา 28 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม

“ไข่ไก่” ขายกันเป็นแผง หรือถาด มีจำนวน 10 - 12 ฟองด้วยกัน เดิมช่วงก่อนสงครามขายกันแผงละ 3.5 ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หลังจากเกิดสงครามในพื้นที่ตอนเหนือของกาซา ราคาขึ้นไปอยู่ที่แผงละ 73 ดอลลาร์สหรัฐฯเพิ่มขึ้น 21 เท่า ส่วนทางใต้ของกาซาขายแผงละ 32 ดอลลาร์สหรัฐฯ

บางครัวเรือนที่มีพื้นที่ว่างบริเวณบ้าน ต้องปลูกผักไว้รับประทานเอง หลังผักหลายรายการมีราคาแพงขึ้นหลายเท่าตัว (Photo : AFP)

ไม่เว้นแม้แต่ “นมผงสำหรับเด็กทารก” ก็มีราคาแพงขึ้นจากช่วงก่อนสงครามถึง 28 เท่า จากเดิมที่ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อถุงบรรจุที่ไม่ถึง 1 กิโลกรัม ไปอยู่ที่ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในปริมาณเท่าเดิม สำหรับการจำหน่ายในพื้นที่ตอนเหนือของกาซา และบางร้านก็ถึงขึ้นตวงขายแบบนับช้อนเลยทีเดียว โดยตวงขายที่ 1 ช้อนโต๊ะต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนพื้นที่ตอนใต้ขายในปริมาณถุงบรรจุที่ไม่ถึง 1 กิโลกรัมที่ถุงละ 12 ดอลลาร์สหรัฐฯ สร้างความเดือดร้อนแก่ครอบครัวที่มีทารกลูกอ่อนอย่างเหลือคณา