เอกอัครราชทูตไทย ณ ย่างกุ้ง พอใจภาคเอกชนไทยเอาจริง !! ใช้เทคโนโลยีระดับโลกขับเคลื่อนระบบตรวจสอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา สนับสนุนยุทธศาสตร์ฟ้าใสของรัฐบาลไทย ย้ำเป็นกุญแจแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาคอาเซียน

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 นายมงคล วิศิษฏ์สตัมภ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เปิดเผยว่า ความสำคัญของโครงการยกระดับระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา ที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ดำเนินการร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเมียนมา (MCIA) โดยไม่รับซื้อข้าวโพดจากพื้นที่ป่าดั้งเดิมหรือพื้นที่ที่มีการเผา ซึ่งโครงการนี้ได้เปิดให้เกษตรกรและพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทานเข้าร่วมระบบตรวจสอบย้อนกลับที่พัฒนาขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุน “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส” ของรัฐบาลไทย เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้เห็นว่าการผนึกกำลังระหว่างภาคเอกชนของไทยกับสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา จะสร้างมาตรฐานใหม่ในการผลิตข้าวโพดที่โปร่งใส ปราศจากการเผา ลดหมอกควัน ด้วยเทคโนโลยีระดับโลกผ่านระบบตรวจสอบย้อนกลับ

เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้ง กล่าวว่า "การร่วมมือครั้งนี้ไม่เพียงแต่ช่วยยกระดับมาตรฐานการผลิตข้าวโพดให้มีความโปร่งใสและยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมการทำงานร่วมกันระหว่างภาคเอกชนและรัฐบาลในการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ถือเป็นตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการสร้างความเปลี่ยนแปลง"

โดยโครงการนี้เป็นการผนึกกำลังของซีพีกับสมาคม MCIA เพื่อร่วมกันใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับในห่วงโซ่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเมียนมา โดยใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและการติดตามจุดความร้อน (hotspot) ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชนในการเก็บข้อมูลทุกขั้นตอนตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการส่งออก นายมงคลเน้นย้ำว่าโครงการนี้ยังช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นในแหล่งที่มาของข้าวโพด ไม่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกหรือเผาแปลงเพาะปลูก ซึ่งสอดคล้องกับวาระแห่งชาติด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐบาลไทยได้ประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2562

อย่างไรก็ตาม เอกอัครราชทูตยังกล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการดำเนินโครงการนี้แล้วและยังพบปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดนอยู่ จะต้องสืบค้นหาสาเหตุอื่นที่เป็นต้นตอของปัญหากันต่อไป เพราะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คงจะไม่ใช่ต้นตอของปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน  อาจจะมีต้นตอมาจากสาเหตุอื่น ๆ  เช่น การเผาป่า หรือ เผาอื่น ๆ ซึ่งเราก็ต้องทำงานร่วมกันต่อไปอย่างเข้มข้น

นายมงคลยังได้กล่าวถึงโครงการยกระดับตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ซีพีดำเนินการร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมข้าวโพดในเมียนมาว่าเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายข้อ 13 การรับมือกับภาวะโลกร้อน และข้อ 15 การรักษาระบบนิเวศบนบก ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในภูมิภาค

“การร่วมมือระหว่างซีพีและสมาคม MCIA ในครั้งนี้เป็นตัวอย่างของความร่วมมือภาครัฐและเอกชนที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน สถานเอกอัครราชทูตฯ ยินดีที่จะสนับสนุนภาคเอกชนไทยที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในเมียนมาอย่างรับผิดชอบ” นายมงคล กล่าวปิดท้าย