หลังเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช Thai-PAN เปิดเผยผลการตรวจ องุ่นไซมัสคัส 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างระหว่าง 7-18 ชนิด โดย 23 ชนิดจาก 24 ตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินที่กฎหมายกำหนด 50 ชนิด และพบใน 23 ตัวอย่างเป็นสารเคมีเกษตรตามกฎหมายของไทยภายใต้ พ.ร.บ.วัตถุอันตรายนั้น

ล่าสุด กระแสเตือนภัยถึงสารเคมีตกค้างใน องุ่นไซมัสคัส ได้ส่งผลกระทบให้ร้านผลไม้ค้าส่ง และร้านผลไม้แผงลอย ตลาดสดเทศบาลเมืองสตูลได้รับผลกระทบอย่างหนัก  แม้จะลดราคาจากที่สินค้าออกใหม่ ๆ กิโลกรัมละ 300 บาทขณะนี้ลดราคาแล้วเหลือ 80 บาทก็ยังขายไม่ออก ต้องมีการทิ้งทุกวัน ทางร้านก็ไม่กล้าจะเชียร์ขายเพราะกลัวจะเสียภาพลักษณ์ของร้าน หากลูกค้ากินไปแล้วเกิดอันตราย ต้องยอมขาดทุน แต่ตั้งข้อสังเกตุว่าทำไมต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่รับผิดชอบของร้านค้า โดยหน่วยงานเกี่ยวข้องไม่มีการตรวจสอบสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าถึงอันตรายเลยหรืออย่างไร

นางปราณี ตันตระการสกุล เจ้าของร้านผลไม้ ยอมรับว่า กระแสต่อต้านองุ่นไซมัสคัส แรงมากทำให้สินค้าขายไม่ออกเพราะลูกค้ากลัวอันตราย เราก็กลัว ไม่กล้าที่จะเชียร์ลูกค้าเพราะนั่นหมายถึงภาพลักษณ์ของร้านหากเกิดอะไรขึ้น ต้องทิ้งทุกวัน และยอมขาดทุน  จะให้พ่อค้าแม่ค้าไปตรวจสารพิษก่อนซื้อสินค้ามาขายก็คงไม่ใช่  ทำไมส่วนที่เกี่ยวข้องไม่ตรวจสารพิษก่อนนำสินค้าต่างประเทศเข้ามาก่อน อย่าปล่อยให้เป็นภาระหน้าที่ของพ่อค้าแม่ค้าต้องทำกันเอง ถ้าเป็นในประเทศเราจะรู้แหล่งที่มาของผลไม้อย่างแน่นอน 

ขณะที่ด้านนายจรัส ผิวเหลือง เจ้าของร้านอีกรายบอกว่า ทุกครั้งที่สั่งซื้อผลไม้ก็จะสั่งครั้งละเยอะ ๆ เป็นล็อตไม่งั้นจะไม่ได้กำไร เพราะต้นทุนสูง พอมาเกิดเรื่องแบบนี้จะเอาสินค้าไปไหน ใครจะมาช่วยรับผิดชอบ  ปล่อยสินค้ามีสารพิษเข้าประเทศมาได้อย่างไร ทำไมต่างประเทศเขายังคัดแล้วคัดเอง สินค้าไม่ได้คุณภาพยังไม่ให้เข้าประเทศของเขาเลย  มันเห็นถึงความไม่ยุติธรรมทั้งพ่อค้าแม่ค้าและผู้บริโภค