สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ ...*...

ท่ามกลางสารพัดมรสุมที่รัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เผชิญอยู่ในขณะนี้นั้น ที่ชวนให้น่าหวั่นไหวที่สุดมีอยู่ 2 เรื่องด้วยกัน ...*...

เรื่องแรก เป็นประเด็นการเมืองจากที่ กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนคำร้องให้ยุบพรรคเพื่อไทยจากกรณีถูกครอบงำจากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค ...*...

นอกจากนี้ยังต้องตามลุ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งให้นายทักษิณยุติการกระทำอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ...*...

โดยนายธีรยุทธได้ยกถึง 6 พฤติกรรมของนายทักษิณที่มาของการยื่นคำรองด้งกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 1.หลังนายทักษิณได้รับพระราชทานอภัยโทษให้เหลือโทษจำคุก1 ปี พบว่า นายทักษิณใช้พรรคเพื่อไทยเป็นเครื่องมือในการสั่งรัฐบาลผ่านกระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไม่ต้องรับโทษจำคุกอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยไปพักอยู่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ ...*...

2.นายทักษิณมีพฤติกรรมฝักใฝ่คบหาร่วมคิดกับสมเด็จฮุนเซน อดีตนายกฯ ของประเทศกัมพูชา และควบคุมการบริหารของรัฐบาลผ่านพรรคเพื่อไทย โดยการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ก๊าซธรรมชาติและทรัพยากรใต้ทะเล ในเขตพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชาในลักษณะเอื้อประโยชน์ ให้กับทางกัมพูชา ทั้งที่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า พื้นที่นั้นเป็นอธิปไตยของประเทศไทย ...*...

3.นายทักษิณสั่งให้พรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4.นายทักษิณมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของ ครอบครอง ครอบงำ เป็นผู้สั่งการแทนพรรคเพื่อไทยในการเจรจากับพรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาล เพื่อเสนอบุคคลผู้สมควรเป็นนายกฯ คนใหม่เมื่อวันที่ 14 ส.ค.67 ที่บ้านพักจันทร์ส่องหล้า หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นสุดลง ...*...

5.นายทักษิณมีพฤติกรรมเป็นเจ้าของครอบงำ และสั่งการให้พรรคเพื่อไทยมีมติขับพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยยินยอมตามที่สั่ง และ 6.นายทักษิณมีพฤติการณ์เป็นผู้ครอบงำและสั่งการให้พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนำนโยบายที่นายทักษิณได้แสดงวิสัยทัศน์ไว้เมื่อวันที่ 22 ส.ค.67 ไปเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาในวันที่ 12 ก.ย.67 ...*...

เรื่องที่สองเป็นประเด็นเกี่ยวกับปัญหาเศรษฐกิจ ที่แม้รัฐบาลจะมีการใช้งบประมาณกว่าแสนล้านบาท แจกเงินให้กลุ่มเปราะบางรายละ 1  หมื่นบาท และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี จาก 2.50% เหลือ 2.25% แต่ก็ยังไม่สามารถดึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ...*...

นอกจากนี้ ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ และธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประเมินถึงการจัดอันดับเครดิตเรตติงของประเทศไทย โดยFitch ว่ากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่น่ากังวลประการ โดยเฉพาะ (1) ความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ เนื่องจากรายได้รัฐบาลมีทิศทางลดลง สวนทางกับรายจ่าย ทำให้แผนการขาดดุลงบประมาณในระยะปานกลางยังสูงกว่าระดับปกติที่ไม่เกิน 3% ของ GDP สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยจึงยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น แตกต่างจาก Peers ที่สามารถปรับลดสัดส่วนหนี้ภาครัฐลงมาได้หลัง Covid-19 2) เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล แม้ความเสี่ยงด้านสถานการณ์ทางการเมืองอย่างรุนแรงของไทยลดลงมากในระยะหลัง แต่ประเด็นทางการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาอาจส่งผลกระทบต่อการปรับอันดับดัชนีธรรมาภิบาลของไทย ซึ่ง Fitch ใช้เป็นดัชนีอ้างอิงในการประเมินเครดิตเรตติงประเทศ และ 3) อัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินไว้เดิมค่อนข้างมาก จากปัญหาเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า โตต่ำ และปัญหาเชิงโครงสร้างฉุดรั้งศักยภาพหลายด้าน ...*...

 ทั้งนี้ หากประเทศไทยถูกลดอันดับเครดิตเรตติง จะทำให้ภาครัฐมีต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น จนทำให้ภาครัฐต้องขาดดุลการคลังเพิ่มขึ้นเพื่อชำระดอกเบี้ยจ่ายหรือลดเม็ดเงินลงทุนเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลง ซ้ำเติมปัญหาด้านการคลังและศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม อีกทั้งต้นทุนกู้ยืมของภาคเอกชนจะเพิ่มขึ้นและเสี่ยงต่อการถูกปรับลดอันดับเครดิตเรตติงลงเช่นเดียวกัน กดดันการลงทุนในประเทศ และเศรษฐกิจในภาพรวม ...*...