สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดแนวคิดการสร้างสังคมแห่งการรู้เท่าทันสื่อฯ ส่งเสริมพลเมืองใช้สื่อสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาประเทศ โดยยูเนสโกกำหนดให้มีการจัดงาน Global Media Information Literacy Week ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี สำหรับปีนี้ในประเทศไทย สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และภาคีเครือข่ายอีกกว่า 30 องค์กร จัดงาน “สัปดาห์การรู้เท่าสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2567” หรือ “MIDL Week 2024” ภายใต้แนวคิด “A(m)I Connext? พลเมืองสื่อ: เชื่อมโยงสู่โลกอนาคตที่เปลี่ยนแปลง” พร้อมเผยผลวิจัย สถานการณ์การทำงานด้านการขับเคลื่อนประเด็นการเท่าทันสื่อฯ ภาครัฐของไทย ปี 2564-2567 มุ่งไปที่ภัยไซเบอร์เป็นหลัก โดยพนันออนไลน์กับล่อลวงออนไลน์เป็นสถานการณ์หลักที่เยาวชนกำลังเผชิญ หลักสูตร MIDL ในแผนปฏิรูปการศึกษายังไม่เป็นไปตามเป้า ขณะที่เยาวชนยังมีบทบาทเป็น ‘ผู้รับ’ ขาดการส่งเสริมพลังคนรุ่นใหม่ในการมีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนสังคม
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ในปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 88 ของประชากรทั้งหมด และใช้อินเทอร์เน็ตเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นเวลาเกือบหนึ่งในสามของวัน เมื่อดูมิติด้านการรู้เท่าทันสื่อจากผลการสำรวจสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและการเข้าใจดิจิทัลของประเทศไทย พบว่าคนไทยมีสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อฯ ในระดับดี โดยสมรรถนะที่ควรส่งเสริมพัฒนาคือ การเข้าถึงดิจิทัล และเมื่อเจาะลึกทักษะด้านดิจิทัล พบว่า คนไทยกว่าร้อยละ 60 อยู่ในระดับที่ต้องพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเยาวชน และผู้สูงอายุ ดังนั้นจึงควรต้องเร่งสร้างภูมิคุ้มกันทางดิจิทัลเพื่อพร้อมรับมือกับความท้าทายในโลกยุคใหม่
สสส. จึงมุ่งสนับสนุนสร้าง ‘ระบบนิเวศสื่อที่เอื้อต่อการสร้างวิถีสุขภาวะ 4 มิติ’ ด้วยการพัฒนา ‘คน’ ให้เป็น ‘พลเมืองที่รู้เท่าทันสื่อ’ คือเป็นผู้ใช้ ผู้ผลิต และผู้เผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ เท่าทันการสื่อสารในโลกยุคใหม่ ควบคู่ไปกับการทำงานหนุนเสริมด้านการจัดการ ‘สภาพแวดล้อม’ ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดปัจจัยในการไปสู่การเป็น ‘นิเวศสื่อสุขภาวะ’ เช่น การพัฒนากลไกสื่อสารสุขภาวะและเฝ้าระวังตรวจสอบสื่ออย่างมีส่วนร่วม การจัดการความรู้ การขับเคลื่อนกลไกเชิงนโยบายระดับชุมชนและสังคมซึ่งเอื้อต่อวิถีชีวิตสุขภาวะ ซึ่งการจัดงานครั้งนี้จะเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงพลังที่เข้มแข็งของการทำงานด้านรู้เท่าทันสื่อของประเทศไทย ช่วยนำพาสังคมไทยไปสู่นิเวศสื่อสุขภาวะ ที่พลเมืองทุกคนอยู่ร่วมกับโลกของการสื่อสารและความก้าวหน้าในโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข
ด้าน เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน กล่าวว่า จากการศึกษาบทบาทภาครัฐในการส่งเสริมทักษะการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล เพื่อเด็กและเยาวชน ได้พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ การปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนมุ่งไปที่ปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ปัญหาใหญ่ของภัยทางออนไลน์ที่กระทบต่อเด็กและเยาวชน คือการพนันออนไลน์และการล่อลวงออนไลน์ เด็กและเยาวชนยังมีบทบาทเป็นฝ่ายรับ การสร้างสมรรถนะด้าน MIDL ของเด็กและเยาวชนในหลักสูตรการศึกษายังไม่เป็นไปตามแผนการปฏิรูป ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดแนวคิดของการจัดงานสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อฯ ขึ้น เชื่อมร้อยไปกับระดับสากล สร้างความตระหนักและส่งเสริมความสามารถของคนทุกกลุ่มวัยในสังคมไทย ให้มีสมรรถนะในการเข้าถึงการคิดวิเคราะห์และการสร้างสรรค์สื่อเพื่อสร้างสังคมที่มีสุขภาวะ โดยที่ผ่านมานั้นทุกหน่วยงานได้ทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่เคยร่วมกันจัดกิจกรรมในเชิงรณรงค์ งานครั้งนี้จึงเหมือนเป็นจุดตั้งต้นเชิงสัญลักษณ์ที่ทำให้เห็นภาพว่าประเทศไทยเราจะรวมพลังขับเคลื่อนเรื่องนี้ ถือเป็นการจุดประกายทิศทางในอนาคตร่วมกัน โดยกิจกรรมสัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อฯ ไม่ได้จัดแค่ในกรุงเทพฯ แต่จะมีการจัดงานต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น ศรีสะเกษ สงขลา หาดใหญ่ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในส่วนภูมิภาคได้มีส่วนในการร่วมรณรงค์ด้วย ทั้งนี้คาดหวังว่าจะมีการจัดงานอย่างต่อเนื่องทุกปี และจะมีองค์ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ จะเข้ามามีบทบาทร่วมกันมากขึ้น
สำหรับ ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้เป็นการนำจุดแข็งของแต่ละภาคีเครือข่าย มาร่วมกันรณรงค์ให้สังคมไทยเป็นสังคมของการรู้เท่าทันสื่อ เป็นการหาแนวทางร่วมกันเพื่อให้การรู้เท่าทันสื่อสอดคล้องกับสถานการณ์สังคมและโลก ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับการรู้เท่าทันสื่อ คำว่า ‘ยกระดับ’ นั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะขณะที่เรามีคนทำงานด้านนี้มากขึ้น แต่ประชาชนส่วนมากก็ยัง ‘ไม่เท่าทันสื่อ’ เยอะขึ้นเรื่อยๆ นั่นแสดงว่าจำเป็นจะต้องมีกลไกหรือผลักดันยุทธศาสตร์บางอย่างเพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องนี้เห็นผลที่แท้จริง ทั้งนี้ในส่วนของการทำงานของอนุกรรมการเกี่ยวกับการเฝ้าระวังสื่อที่ไม่ปลอดภัยและไม่สร้างสรรค์ ได้นำประเด็นเรื่อง “รู้จัก รู้ใช้ รู้ทันสื่อ เพื่อขับเคลื่อนสังคม” ที่ได้ทำงานร่วมกับภูมิภาคมาพูดคุยกันในงานครั้งนี้ มีแกนนำจากแต่ละภูมิภาค มาพูดคุยว่ามีการขับเคลื่อนการทำงานให้เกิดผลอย่างไร นอกจากนี้ยังมีโมเดลสำหรับเด็กเล็ก “สภาพแวดล้อมเชิงบวกในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกับการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อในเด็กปฐมวัย” ซึ่งเป็นงานที่ทำกับภูมิภาคเช่นกัน เพราะจากการทำงานที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าการทำงานกับภูมิภาคนั้นสำคัญ เพราะเรื่องการรู้เท่าทันสื่อจะต้องร่วมมือกันทั้งองค์กรท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา แม้กระทั่งสื่อมวลชนก็ถือว่าสำคัญมากเช่นกัน
ขณะที่ รศ. ดร.ธเนศ ธนิตย์ธีรพันธ์ คณบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้กล่าวถึงบทบาทของภาคการศึกษาในการเข้าร่วมจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาคณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มีการสนับสนุนและดำเนินการขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ด้านการเท่าทันสื่อฯ ในภาคส่วนต่างๆ มาโดยตลอด ทั้งในกลุ่มของคณาจารย์และนักศึกษาทุกชั้นปี รวมถึงยังมีการพัฒนาหลักสูตรระยะสั้น หรือกิจกรรมใหม่ ๆ ที่จะส่งผลต่อการเรียนรู้ด้านการเท่าทันสื่อฯ ให้กับสังคมอย่างเสมอมา สำหรับความร่วมมือในการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นกิจกรรมที่สถานศึกษาจะได้ร่วมมือกับองค์กรวิชาชีพ ในระดับชาติและนานาชาติ นำไปสู่ความร่วมมือในการทำวิจัยและบริการวิชาการที่ส่งผลต่อสังคมและความต้องการของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
สัปดาห์การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล 2567 หรือ MIDL Week จะจัดขึ้นในวันที่ 24-31 ตุลาคม 2567 ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดของกิจกรรมได้ที่เฟซบุ๊กเพจ “สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน”