ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดชัยนาท ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ดำเนินการตามภารกิจสนับสนุนองค์ความรู้ การจัดการผสานกันของเทคโนโลยีด้านการเกษตรกับเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เหมาะสม พัฒนาองค์กร และเกษตรกรรุ่นใหม่ให้มีทักษะ เป็นผู้ประกอบการ และพัฒนาไปสู่ “เกษตรอัจฉริยะ”(Smart Farming)

โดยดร.วิไลวรรณ สอนพูล ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดชัยนาท กล่าวว่า “ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านวิศวกรรมเกษตร จังหวัดชัยนาท ส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะในเรื่องระบบการให้น้ำอัจฉริยะ (HandySense) พร้อมกับการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรที่มีความพร้อม ทั้งในด้านความรู้พื้นฐาน ทักษะ และประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีเกษตร ซึ่งเป็นเกษตรกรต้นแบบ หรือเป็นสมาชิกในเครือข่ายขับเคลื่อนการทำงานของกรมส่งเสริมการเกษตร เช่น ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ศูนย์เครือข่าย ศพก. เกษตรกรรุ่นใหม่ (SF/YSF) เกษตรกรแปลงใหญ่ วิสาหกิจชุมชน ที่มีความพร้อมรับเทคโนโลยี สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ และมีความตั้งใจที่จะเป็นผู้ประกอบการการให้บริการเกษตรอัจฉริยะในเครือข่ายและชุมชน

โดยสำหรับปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา เกษตรกรที่ศูนย์ฯได้ดำเนินการเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการพืชสวน พืชไร่ พืชผัก และโรงเรือนเกษตรในจังหวัดชัยนาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 9 ราย ได้แก่ 1.) นายโสภณ บุญธรรม เกษตรกรรุ่นใหม่ (SF/YSF) โรงเรือนเห็ดขนาด 6 x 20 เมตร 2.) นางสาวอมร ศรีบุญนาค วิสาหกิจชุมชนฯ ปลูกส้มโอขาวแตงกวา พื้นที่ 12 ไร่ 3.) นายนิมคม ชูเมือง เกษตรกรแปลงใหญ่/ศพก./วิสาหกิจฯ โรงเรือนผักสลัด/ผักไทย ขนาด 6 x 20 เมตร 4.) นายประเวช ขำมา เกษตรกรแปลงใหญ่ ปลูกส้มโอขาวแตงกวา พื้นที่ 4 ไร่ 5.) เกษตรกรแปลงใหญ่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท ปลูกส้มโอขาวแตงกวา พื้นที่ 3 ไร่ 6.) นายประสงค์ จั่นยาว ปลูกส้มโอขาวแตงกวา พื้นที่ 1 ไร่ 3 งาน 7.) นางฉอ้อน เกิดเทศ เกษตรกรแปลงใหญ่ โรงเรือนเห็ดขนาด 6x20 เมตร 8.) นางสาวกัญญาวรัตน์ โพธิจิรัตน์ เกษตรกรรุ่นใหม่ (SF/YSF) โรงเรือนเห็ดขนาด 7x16 เมตร และ9.) นางสาวขนิษฐา พัชราภิรักษ์ เกษตรกรรุ่นใหม่ (SF/YSF)/แปลงใหญ่ โรงเรือนเมล่อนขนาด 6x20 เมตร ซึ่งได้ดำเนินการติดตั้งระบบน้ำอัจฉริยะ (HandySense) ทดสอบการอ่านค่าเซ็นเซอร์ต่างๆ การตั้งค่าเซ็นเซอร์ตรวจวัดความชื้นดิน และทดสอบการทำงานเครื่องสูบน้ำ จากการติดตามการดำเนินกิจการของเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว พบว่า ระบบน้ำอัจฉริยะ (HandySense) มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาในด้านแรงงาน พื้นที่ และการจัดการระบบการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ นายสุชาติ อ่อนดำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท กล่าวเสริมว่า “ปัจจุบันมีเกษตรกรผู้สนใจพัฒนาทักษะความรู้ และพัฒนาไปสู่ “เกษตรอัจฉริยะ” (Smart Farming) ในเรื่องระบบการให้น้ำอัจฉริยะ (HandySense) และพร้อมพัฒนาต่อยอดความรู้ให้เป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้บริการทางเกษตรอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นได้ในอนาคต เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะให้กับเกษตรกรและกลุ่มเครือข่ายได้มากยิ่งขึ้นต่อไป”