คุณณัฐวุฒิ ปิ่นทองคำ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท รักบ้านเกิด จำกัด กล่าวว่า รักบ้านเกิด จัดกิจกรรม Academy เป็นครั้งแรก เพื่อเสริมศักยภาพ ความรู้ ความเข้าใจให้แก่ผู้เข้ารอบโครงการคัดเลือกเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2566 ทั้ง 30 คน จากผู้สมัครทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยเน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีนวัตกรรม และแผนธุรกิจใหม่ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับ Business Model ของตนเอง และพัฒนาเป็นผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับภาคการเกษตรไทย โดยกิจกรรม Academy ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านการเกษตร จากหลายภาคส่วน
คุณอริญชย์ พฤกษานุศักดิ์ Agriculture Vertical Lead l IoT & Digital Solutions วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ จากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการนำเทคโนโลยีมาหาโอกาสสร้างธุรกิจในภาคการเกษตร โดยยกตัวอย่าง ทรู ฟาร์ม (True Farm) ซึ่งเป็นโซลูชันการเกษตรอัจฉริยะแบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจเกษตร ได้แก่ พืช ปศุสัตว์ และประมง โดยอาศัยเทคโนโลยี 5G ในการเชื่อมโยงข้อมูลและอุปกรณ์ต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อยกระดับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น การสร้างโอกาสทางธุรกิจในภาคการเกษตรจำเป็นต้องศึกษาปัญหาในอุตสาหกรรมนั้นอย่างละเอียดก่อน เพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด หานวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์มาเจาะตลาด หากสามารถแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว ก็สามารถประหยัดเวลาและงบประมาณได้ดีขึ้น และอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง สำหรับภาคการเกษตรนั้น ต้องเน้นที่คุณภาพเป็นหลัก จึงจะสามารถขยายฐานลูกค้าได้
ทั้งนี้ การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อยกระดับภาคการเกษตรไทย ไม่เพียงจะช่วยเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตอกย้ำคุณภาพและมาตรฐานเรื่องของความสะอาดและความปลอดภัยอีกด้วย
คุณศิวพงศ์ เลื่อนราม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอแอ็กซ์เซล จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยีการแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นดินอินทรีย์คุณภาพสูงและน้ำหมักชีวภาพ กล่าวถึง การถอดรหัสความสำเร็จเกษตรอินทรีย์ เพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมยั่งยืน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม ได้แก่ ขยะเปียกส่งกลิ่นเหม็น ผักตบชวาเต็มแม่น้ำ และปัญหาปุ๋ยราคาแพง จากปัญหาเหล่านี้ จึงได้เกิดการคิดวิธีการจัดการแปรรูปเศษอาหารและผักตบชวาเป็นดินอินทรีย์คุณภาพสูง ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมง ด้วยนวัตกรรม Superback ที่ย่อยสลายเศษอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ บริษัทยังได้พัฒนาเครื่องรีไซเคิลขยะเศษอาหารให้เป็นดินอินทรีย์คุณภาพสูงและน้ำหมักชีวภาพ สามารถรีไซเคิลขยะเศษอาหารได้ทุกชนิด โดยสามารถย่อยเศษอาหารหรือขยะอินทรีย์ได้ถึง 100 กิโลกรัมต่อวัน และผลิตดินอินทรีย์คุณภาพสูงภายใน 24 ชั่วโมง ดินอินทรีย์ที่ผลิตได้มีคุณภาพสูงและสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงดินหรือเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การแปรรูปขยะอินทรีย์เป็นดินอินทรีย์คุณภาพสูงและน้ำหมักชีวภาพ เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังช่วยลดปริมาณขยะ ลดมลพิษ และเพิ่มมูลค่าให้กับขยะอินทรีย์ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีหัวข้อการอบรมที่น่าสนใจจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญอีกหลายท่านที่จะมาให้ความรู้แบบจัดเต็มแก่เกษตรกรทั้ง 30 คน เพื่อพัฒนาตนเองสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะที่มีศักยภาพในการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับภาคการเกษตรไทย ดังนี้
"แผนธุรกิจอัจฉริยะ ยุคธุรกิจดิจิทัล" โดย คุณวรเกษมสันต์ สิริศุภรัชต์ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจอุตสาหกรรมการค้าระหว่างประเทศ
"เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะเพื่อการส่งออก" โดย คุณภัสสิรี วรเวชธนกุล ผู้เชี่ยวชาญจาก ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)
"เทรนด์เทคโนโลยีการเกษตรและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์" โดย ดร. เกรียงยุทธ ผิวอ่อน ผู้อำนวยการกลุ่มเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีการจัดการเกษตรอุตสาหกรรม กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม
"นวัตกรรมผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ" โดย คุณมณฑา ไก่หิรัญ ผู้จัดการส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
"เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ยกระดับเกษตรยุคใหม่ ด้วย ระบบ Indoor Vertical Farm" โดย คุณสานสิน ศรีภิรมย์รักษ์ CEO DISTAR FRESH CO., LTD.
"Marketing Trends & Story Telling 2023" โดย คุณสืบสกุล เข็มทอง ผู้อำนวยการฝ่าย MCOT Academy บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้หน่วยงานที่ร่วมจัดโครงการฯ ต่างมีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและผลักดันให้เกษตรกรไทยก้าวสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตรไทย และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย