DCCE ร่วมกับ ทช. และ UNDP ปิดโครงการ “การเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งตามแนวอ่าวไทย” พร้อมขยายผลความสำเร็จ Best practices สู่ 18 จังหวัดตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย
เมื่อวันที่ 21 ต.ค.67 เวลา 09.10 น. กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) ร่วมกับ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และ สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) จัดพิธีปิด “โครงการการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งตามแนวอ่าวไทย” แสดงผลสำเร็จโครงการฯ สร้างความร่วมมือ เพิ่มความสามารถในการปรับตัวและความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ พร้อมขยายผลความสำเร็จ Best practices 4 จังหวัดนำร่อง สู่ 18 จังหวัดตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน พร้อมด้วย Ms. Irina Goryunova รองผู้แทนประจำโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ประจำประเทศไทย และ ผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมงาน ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ (รางน้ำ) กรุงเทพมหานคร
.
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากรายงาน Global Climate Risk Index ของ German watch ในปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงภัยต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ จัดอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก โดยผลกระทบนี้สะท้อนให้เห็นถึงความถี่และความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นของน้ำท่วม พายุ และคลื่นความร้อน ทำให้ความเสี่ยงและความเปราะบางของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งมีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะระบบนิเวศแนวปะการัง ป่าชายเลน และหญ้าทะเล เหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งนิเวศบริการที่สำคัญให้กับชุมชนชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนชายฝั่งที่พึ่งพิงฐานทรัพยากรเพื่อการเกษตรกรรม ประมง และท่องเที่ยว ยื่งทำให้ความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ครอบคลุมพื้นที่ 18 จังหวัด มีความยาวประมาณ 3,148 กิโลเมตร ด้วยเหตุนี้ พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งบริเวณอ่าวไทย จึงได้รับการพิจารณาให้เป็นพื้นที่เป้าหมายที่จะต้องเสริมสร้างศักยภาพด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างการมีภูมิคุ้มกันให้กับประชาชน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมมือกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ดำเนิน “โครงการการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งตามแนวอ่าวไทย (Increasing resilience to climate change impacts in marine and coastal areas along the Gulf of Thailand)” ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว Green Climate Fund (GCF) จำนวนเงิน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ดำเนินการในพื้นที่ 18 จังหวัดตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย ใน 4 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ จังหวัดระยอง จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดสงขลา และจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่ปี 2563 – 2567 เป็นระยะเวลา 4 ปี
.
ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า จากความร่วมมือในการดำเนินโครงการจึงทำให้เกิดเป็นความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบด้วย 1) ข้อมูลความเสี่ยงระดับพื้นที่บริเวณพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยในจังหวัดนำร่อง 4 จังหวัด ได้แก่ ระยอง เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี และสงขลา 2) พัฒนาขีดความสามารถและองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่น เพื่อจัดทำแผนการปรับตัว ฯ ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงในพื้นที่ 3) มาตรการทางเลือกที่ใช้ในกระบวนการปรับตัว เช่น ธนาคารสัตว์น้ำ ซั้งปลา กำแพงกั้นคลื่น การฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน เพื่อให้หน่วยงานระดับพื้นที่ทราบถึงความต้องการการสนับสนุนสำหรับการดำเนินงานของพื้นที่ 4) พัฒนาตัวชี้วัดด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สําหรับภาคการท่องเที่ยว การเกษตรและการประมง และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการบูรณาการสู่แผนพัฒนาจังหวัด 5) แพลตฟอร์มการบริหารจัดการข้อมูลข่าวสารและระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (GIS) 6) กลยุทธ์การจัดหาเงินทุนสำหรับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง (ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตรและประมง และทรัพยากรธรรมชาติ)
สำหรับแนวทางในการบูรณาการ ขยายผลการดำเนินงานสู่แผนงานในอนาคต โดยข้อมูลที่ได้จากโครงการ ฯ จะเป็นข้อมูลสำคัญในการแก้ไขหรือปรับปรุงแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติในระยะต่อไป รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้ง ๖ สาขา ที่จะดำเนินงานในระยะถัดไป อีกทั้งได้แนวทางการปฏิบัติที่ดี (best practices) จากพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด นำไปขยายผลการดำเนินงานสู่ 18 จังหวัดตามแนวชายฝั่งอ่าวไทย ตลอดจนขับเคลื่อนไปสู่การดำเนินงานในระดับพื้นที่ และที่สำคัญหลังจากนี้ จะต้องมีการขับเคลื่อนการบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ประชาชน เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับจากโครงการฯ และจากหลายภาคส่วน มาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานขับเคลื่อนเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และร่วมกันรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คงอยู่สืบไป