หมดฝน หรือฝนเบาบางลงเมื่อไหร่ ก็ได้เผชิญกับวิกฤติปัญหาฝุ่นละออง หมอก ควัน ตลอดจนฝุ่นขนาดจิ๋ว ที่มีอนุภาคขนาดเล็ก ไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือที่เรียกกันจนฮิตติดปากว่า “พีเอ็ม 2.5” ต่อ
แม้เป็นฝุ่นขนาดจิ่ว คือ ไม่ถึง 2.5 ไมครอน แต่ก็ต้องบอกว่า มีพิษอย่างร้ายเหลือ เพราะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจสารพัด เช่น โรคหอบหืด โรคปอด เป็นต้น แถมยังลามเลยไปถึงปัญหาสุขภาพของระบบหัวใจ และระบบสมอง จนถึงขั้นคร่าชีวิตของประชาคมโลกในแต่ละปีราว 7 ล้านคน แถมบางปีก็ทะลุเกินกว่า 8.1 ล้านคนก็มี ตามการเปิดเผยขององค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “ฮู” (WHO : World Health Organization) จนถูกจัดให้เป็นหนึ่งใน “เพชฌฆาตเงียบ” ของมนุษย์เราเลยทีเดียว
โดย ณ ชั่วโมงนี้ ภูมิภาคที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่น หมอก ควันอย่างรุนแรง ต้องยกให้กับ “เอเชียใต้” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “อินเดีย” ประเทศพี่เบิ้มใหญ่ของภูมิภาค อันเป็นผลจากฤดูมรสุม ที่มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง กำลังจะผ่านพ้นไปแล้ว ส่งผลให้อากาศมีสภาพแห้งลง ด้วยความชื้นในอากาศเหือดหายไป ก็เป็นเหตุให้ในหลายพื้นที่มีฝุ่นละออง หมอก ควัน กันเป็นอย่างมาก และมิใช่มากธรรมดา แต่ต้องบอกว่า มากอย่างน่าสะพรึงกันเลยก็ว่าได้
ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในเขตเมือง หรือแม้กระทั่งในชนบท ตามสาเหตุปัจจัยที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง หมอก ควัน ที่แตกต่างกันออกไป
โดยในเขตพื้นที่ชนบทนั้น สาเหตุก็มาจากการเผาตอซังพืชไร่ของบรรดาเกษตรกร ที่ใช้วิธีเผาตอซังพืชไร่ แทนที่จะขุดก่นตอซังพืชไร่เหล่านั้น ซึ่งประหยัดเวลาและแรงงานมากกว่า ทว่า ก็ต้องแลกมากับปัญหามลภาวะทางอากาศ นอกจากนี้ ฝุ่นละออง หมอก ควัน ข้างต้นในพื้นที่ชนบท ก็ยังมาจากการก่อไฟจากเชื้อเพลิงที่มาจากฟืน หรือไม่ก็ถ่านหิน ซึ่งหลายครัวเรือนยังใช้ในการก่อไฟเพื่อประกอบอาหาร
ขณะที่ ในพื้นที่เขตเมือง สาเหตุของฝุ่นละออง หมอก ควัน ก็มาจากสถานที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ และการใช้รถยนต์แบบสันดาปพลังงานเชื้อเพลิงจากซากฟอกซิล นั่นคือ น้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งเบนซิน และดีเซล ตลอดจนก๊าซปิโตรเลียม รวมไปถึงเป็นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมสารพัด ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและการลงทุนในอินเดียที่กำลังขยายตัวเติบโตเป็นอย่างมาก
โดยบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้ในอินเดีย นอกจากสร้างปัญหามลภาวะทางอากาศแล้ว จากผลพวงที่ใช้ถ่านหินกันเป็นจำนวนมาก ก็ยังก่อปัญหามลภาวะทางธรรมชาติด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ปัญหามลภาวะทางน้ำ เรื่องฟองพิษสีขาว ในแม่น้ำยมุนา บริเวณใกล้กรุงนิวเดลี ที่เป็นข่าวล่าสุด
นอกจากนี้ ชาวชุมชุนเมืองในอินเดีย รวมถึงที่กรุงนิวเดลี ตามครัวเรือนต่างๆ ก็ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงกันอยู่ ซึ่งถ่านหินก่อมลพิษทางอากาศอย่างใหญ่หลวงอีกเช่นกัน โดยมีรายงานว่า ในเขตเมืองและเมืองหลวงของอินเดีย ใช้ถ่านหินปริมาณมากเฉลี่ย 1.7 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียว
ส่วนพื้นที่ที่ผจญชะตากรรมวิกฤติปัญหามลภาวะทางอากาศยิ่งกว่าที่ไหนๆ ในอินเดีย ณ ชั่วโมงนี้ ก็คือ กรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่มากกว่า 20 ล้านคน
ทั้งนี้ เหตุปัจจัยข้างต้นที่ก่อให้เกิดวิกฤติมลภาวะทางอากาศในกรุงนิวเดลีแล้ว ก็ยังเป็นผลกระทบทางอ้อมที่ทำให้ปัญหาฝุ่นละออง หมอก ควัน ในเมืองหลวงของอินเดียแห่งนี้เลวร้ายหนักขึ้นก็คือ บรรดาเกษตรกรในพื้นที่รัฐที่อยู่รายรอบกรุงนิวเดลี เช่น รัฐปัญจาบ รัฐหรยาณา และรัฐอุตตรประเทศ เผาตอซังพืชไร่ที่พวกเขาปลูกและเก็บเกี่ยวผลิตผลทางการเกษตรไปแล้ว นั่นเอง โดยการเผาก่อให้เกิดกลุ่มควันลอยฟุ้งเข้ามายังกรุงนิวเดลีอีกต่างหากด้วย นอกเหนือจากในพื้นที่รัฐทางการเกษตรที่ว่านั้นแล้ว
จากการสำรวจ “ดัชนีคุณภาพอากาศ” ในกรุงนิวเดลี โดยสำนักงานมุขมนตรีภูมิภาคเดลี ระบุว่า ภูมิภาคเดลี รวมถึงกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ กำลังอยู่สภาพเลวร้าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรุงนิวเดลี ต้องถือว่าเลวร้ายหนัก ด้วยตัวเลขของดัชนีคุณภาพอากาศที่วัดได้ทะยานขึ้นไปถึงระดับเกือบ 400 แล้ว ซึ่งระดับที่ว่านี้ ถูกจัดให้เป็นอัตรายต่อสุขภาพของผู้คน และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ
ทั้งนี้ จากการสำรวจประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับสุขภาพของประชาชนชาวกรุงนิวเดลี ก็เริ่มพบแล้ว ชาวเมืองหลวงของอินเดียจำนวนไม่น้อย มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจกันแล้ว รวมถึงการเกิดอาการระคายเคือง แสบจมูก แสบตา อันสืบเนื่องจากฝุ่นละออง หมอก ควันที่เป็นพิษ
โดยทางสำนักงานมุขมนตรีภูมิภาคเดลี มีความวิตกกังวลว่า ขนาดยังไม่เข้าฤดูหนาวแบบเต็มตัว ในหลายพื้นที่ก็ยังเผชิญกับวิกฤติปัญหาฝุ่นพิษจิ๋วกันหนักอยู่แล้ว ถ้าเข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเต็มรูปแบบเมื่อไหร่ สถานการณ์ก็จะเลวร้ายสาหัสกว่านี้แน่นอน
นอกจากนี้ สำนักงานมุขมนตรีภูมิภาคเดลี ยังเป็นห่วงด้วยว่า เทศกาลทิวาลี (Diwali) อันเป็นเทศกาลแห่งแสงไฟ แสงสว่าง ของศาสนาฮินดู ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคมที่จะถึงนี้ จะยิ่งทำให้วิกฤติปัญหาฝุ่นละออง หมอก ควัน ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เพราะจะมีการจุดไฟ จุดประทีปต่างๆ เป็นจำนวนมาก จะส่งผลทำให้เกิดควันไฟในพื้นที่ต่างๆ มากยิ่งขึ้นไปด้วย
สาเหตุปัจจัยอีกประการหนึ่ง ซึ่งทางบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศ วิพากษ์วิจาณ์ระบบการจัดการของทางการอินเดียนั้นก็คือ การจัดการปัญหาของหลุมฝังกลบขยะ โดยเหล่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญฯ ระบุว่า เป็นหนึ่งในจุดบกพร่องที่ก่อให้เกิดวิกฤติปัญหามลภาวะทางอากาศ ที่ทางการอินเดีย ต้องเร่งแก้ไขให้ได้โดยด่วน เพราะนอกจากกลิ่นขยะจากหลุมฝังกลบที่บกพร่องโชยออกมาก่อมลภาวะทางอากาศแล้ว ก็ยังมีการเผาขยะเหล่านั้นกันอย่างเปิดเผย ซ้ำเติมปัญหาฝุ่น หมอก ควัน ตลอดจนฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ในอินเดียอย่างน่าสะพรึง
นอกจากที่ภูมิภาคเอเชียใต้แล้ว บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านคุณภาพอากาศ ก็ยังออกมาเตือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราด้วยเช่นกันว่า ฝนที่เบาบางลง และกำลังจะหมดไปเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาวนี้ ก็เตรียมเผชิญกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ล่าสุดทางกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยเรา โดยกรมควบคุมมลพิษ ก็เตรียมมาตรการรองรับกับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ที่คาดว่าจะมีปริมาณพุ่งขึ้นสูงในระหว่างวันที่ 24 – 27 ต.ค.นี้ พร้อมกับเตรียมมาตรการรับมือแบบระยะยาวทั้งประเทศ ไปจนถึงต้นปี 2025 (พ.ศ. 2568) ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว อากาศแห้ง ฝุ่นละอองต่างๆ ฟุ้งกระจายได้ง่ายๆ และประสบเป็นประจำกันทุกปี