เข้าสู่บรรยากาศการชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา 2024 (พ.ศ. 2567) กันแล้วก็ว่าได้
เพราะทางการเริ่มเปิดคูหาเลือกตั้งล่วงหน้า ให้ประชาชนไปใช้สิทธิลงคะแนน หย่อนบัตรเลือกตั้ง ก่อนถึงวันเลือกตั้งจริงในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน หรืออีก 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้
โดยการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ว่า ก็มีขึ้นที่ “รัฐจอร์เจีย” ที่เริ่มเปิดวันแรกเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งได้สร้างความเป็นปลื้มให้แก่คณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐจอร์เจีย เนื่องจากประชาชนพลเมืองของรัฐ ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากันอย่างคับคั่ง โดยเพียงวันแรกที่เปิดให้ลงทะเบียนก็ตบเท้าเข้ามาแล้วถึง 252,000 คน ซึ่งสูงเป็นประวัติการณ์มากกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้วเกือบ 2 เท่า ที่เคยมีผู้มาลงทะเบียน จำนวน 136,000 คน
ถึงขนาดทำให้นายแกเบรียล สเตอร์ลิง รองผู้อำนวยของสำนักงานการเลือกตั้งแห่งรัฐจอร์เจีย เอ่ยปากชื่นชมว่า เป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิฯที่น่าทึ่ง
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงรัฐจอร์เจีย อันเป็นรัฐทางตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ แห่งนี้ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 ก็ถูกจัดให้เป็น 1 ใน 7 รัฐสมรภูมิ หรือรัฐสวิงสเตท ที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งแข่งขันกันสูง และมีโอกาสแพ้ชนะแบบพลิกไปพลิกมาที่ค่อนข้างสูง ใช่แต่เท่านั้น ทั้ง 7 รัฐสมรภูมิที่ว่าก็มีผลต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งว่าจะแพ้ชนะในการเลือกตั้งหนนี้ จนทำให้ได้เข้าสู่ทำเนียบขาว ในฐานะประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศได้ เนื่องจากแต่ละรัฐมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง หรืออิเล็กทอรัลโหวตค่อนข้างสูง
โดย 7 รัฐสมรภูมิของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ก็ได้แก่
รัฐแอริโซนา มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 11 เสียง
รัฐจอร์เจีย มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียง
รัฐมิชิแกน มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 15 เสียง
รัฐเนวาดา มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 6 เสียง
รัฐนอร์ทแคโรไลนา มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 16 เสียง
รัฐเพนซิลเวเนีย มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 19 เสียง
และรัฐวิสคอนซิน มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้ง 10 เสียง
รวมกันแล้วก็มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมากถึง 93 เสียง ซึ่งถ้าผู้สมัครฯ คนใดชนะเลือกตั้งในรัฐสมรภูมิทั้ง 7 รัฐนี้ไปได้ทั้งหมด เพราะจะมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งตุนไว้แล้วถึง 93 เสียง จากจำนวนคณะผู้เลือกตั้งที่จำเป็นต้องได้ตั้งแต่ 270 เสียงขึ้นไป หรืออีก 177 เสียง ในการแข่งขันอีก 43 ที่เหลือที่การชิงชัยเข้มข้นดุเดือดน้อยกว่า
ว่ากันถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของพลเมืองใน 7 รัฐสมรภูมิ ที่มีต่อสองผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปีนี้ ซึ่งประกอบด้วยนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ผู้สมัครฯ จากพรรครีพับลิกัน และนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ผู้สมัครฯ จากพรรคเดโมแครต ก็ปรากฏว่า คะแนนนิยมของผู้สมัครฯ ทั้งสอง “คู่คี่สูสี” กันอย่างสุดประมาณ
ขนาดที่บรรดานักวิเคราะห์ ออกมาแสดงทรรศนะว่า พวกเราจะได้เห็นการแข่งขันชิงชัยในศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สูสีคู่คี่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษกันเลยทีเดียว
โดยมีรายงานผลการสำรวจโพลล์แบบใครจะเป็นผู้ชนะในตัวเลขออกมาเป็นไปเฉียดฉิว
ได้แก่ ที่รัฐเนวาดา รองประธานาธิบดีแฮร์ริส เฉือนชัยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ไปเพียง 1 จุด
เช่นเดียวกับที่รัฐวิสคอนซิน รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ก็เหนือกว่าอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เพียง 1 จุดเท่านั้น
ที่รัฐมิชิแกน รองประธานาธิบดีแฮร์ริส ก็นำหน้าอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เพียง 1 จุด
และรัฐเพนซิลเวเนีย รองประธานาธิบดีแฮร์ริส เหนือกว่ารองประธานาธิบดีทรัมป์ 1 จุดเช่นกัน
ส่วนทางอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ก็เฉือนชัยในรัฐนอร์ทแคโรไลนา เหนือกว่ารองประธานาธิบดีแฮร์ริส 1 จุด
เช่นเดียวกับที่รัฐจอร์เจีย อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ นำหน้ารองประธานาธิบดีแฮร์ริส 1 จุด
และที่รัฐแอริโซนานั้น อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ เหนือกว่ารองประธานาธิบดีแฮร์ริส 2 จุด
เบ็ดเสร็จวัดความแตกต่างของผู้สมัครฯ ทั้งสองแล้ว ก็นำหน้าแต่ละฝ่าย 4 จุดเท่ากัน
บรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะด้วยว่า เมื่อคู่คี่สูสีกันเยี่ยงนี้ ก็อาจจะต้องพิจารณาจากกลุ่มผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่า จะเลือกใคร? มาเป็นอีกตัวแปรหนึ่ง ซึ่งก็อาจจะเป็นตัวแปรที่มีความสำคัญต่อผลการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นนี้อย่างมิใช่น้อย ทั้งนี้ เพราะตัวเลขของการสำรวจคะแนนนิยมแทบจะทุกครั้งที่ผ่านๆ มานั้น กลุ่มคนที่ชอบผู้สมัครฯ คนใด หรือพรรคการเมืองใดอยู่แล้ว ก็ยังคงชื่นชอบผู้สมัครฯ หรือพรรคการเมืองนั้นๆ อยู่ต่อไป ไม่ค่อยจะเปลี่ยนแปลง ตามแนวคิดที่พวกเขาเป็นเช่น อนุรักษ์นิยม หรือเสรีนิยม แตกต่างจากกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกผู้สมัครฯ หรือพรรคการเมืองใด ที่พร้อมจะเปลี่ยนแนวคิดของตนเองได้ง่ายมากกว่า
โดยกลุ่มคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกผู้สมัครฯ คนใด หรือพรรคการเมืองใดนั้น มีจำนวนประมาณราวๆ ร้อยละ 5 – 10 ซึ่งสังเกตได้จากการสำรวจโพลล์ในแต่ละครั้ง ก็จะมีคะแนนที่หายไปจากคะแนนของผู้ที่ชื่นชอบแต่ละฝ่ายประมาณนี้ โดยจำนวนร้อยละ 5 – 10 ข้างต้นก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในผลการเลือกตั้งได้เหมือนกัน
สำหรับ ในส่วนของในช่วงที่กล่าวได้ว่า เป็นใกล้ที่จะโค้งสุดท้าย ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในอีก 2 สัปดาห์นั้น ผู้คนชาวอเมริกัน ก็กำลังจับจ้องไปที่นโยบายด้านเศรษฐกิจเป็นนโยบายที่สำคัญ โดยมีตัวเลขของการสำรวจโพลล์ว่า ร้อยละ 52 เลยทีเดียว ที่ให้ความสำคัญต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจนี้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเงินในกระเป๋า และปากท้องของประชาชนโดยตรง จึงทำให้จับตากันว่า ผู้สมัครฯ คนใด หรือพรรคการเมืองใด จะมีนโยบายด้านเศรษฐกิจดีกว่ากัน
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจนี้ ก็มีการสำรวจโพลล์เกี่ยวกับความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อสองผู้สมัครฯ ก็ปรากฏว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ได้รับความเชื่อมั่นมากกว่ารองประธานาธิบดีแฮร์ริส ที่ร้อยละ 54 ต่อ 45 ด้วยกัน