“สมศักดิ์” เข้ารับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม ยกย่องเป็นบุคคลประสบความสำเร็จยอดเยี่ยม อุทิศตนทำประโยชน์เพื่อสังคม
วันที่ 18 ต.ค.2567 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงครามที่สำเร็จการศึกษาประจำปี พ.ศ.2567 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดย นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรศิลปะศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน ในปีนี้มีผู้มีชื่อเสียง อาทิ นายปัญญา นิรันดร์กุล ได้รับพระราชทานปริญญาบัตรด้านสังคมสงเคราะห์ศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ด้วย
โดยทางมหาวิทยาลัยได้เขียนคำประกาศเกียรติคสำหรับนายสมศักดิ์ว่า เป็นชาวจังหวัดสุโขทัยโดยกำเนิด ได้รับการเลือกตั้งเป็น สส.จังหวัดสุโขทัย อย่างต่อเนื่อง ถึง 9 สมัย และได้รับเลือกเป็นสส.ระบบบัญชีรายชื่อ 3 สมัย อีกทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีหลายกระทรวง รวมทั้งสิ้น 17 ครั้ง โดยปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่ง ได้มีโครงการต่าง ๆ ในด้านการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิตของประชาชน เช่น ในปี 2567 โครงการ โคแสนล้าน ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้แนวคิด "เลี้ยงโค แก่หนี้ แก้จน ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย" ผ่านกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กท.) ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้ระบบเศรษฐกิจช่วยเพิ่ม GDP และลดปริมาณการใช้คาร์บอนได้กว่าปีละ 1.7 ล้านกิโลกรัม
ในปี 2565 ได้จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน และหนี้ SMEs เป็นโครงการที่ช่วยปลดล็อกภาระหนี้ทั้งในภาคประชาชนและผู้ประกอบการ SMEs มีลูกหนี้ขอไกล่เกลี่ยจำนวนทั้งสิ้น 51,145 รายไกล่เกลี่ยสำเร็จ 48,523 ราย คิดเป็นร้อยละ 94.87 รวมทุนกว่า 10,162 ล้านบาท และในระหว่างดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้เสนอ ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง เพื่อช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ซึ่งนับเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ขับเคลื่อนให้สังคมรู้สึกปลอดภัยจากบุคคลอันตรายมากขึ้น โดยมี สาระสำคัญ 4 มาตรการ คือ 1) มาตรการแก้ไขฟื้นฟู 2) มาตรการเฝ้าระวัง 3) มาตรการคุมขังและ 4) มาตรการคุมขังฉุกเฉินหลังพ้นโทษ นอกจากนี้ยังได้ปฏิบัติภารกิจในด้านต่าง ๆ การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สิน การฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร การพัฒนาแหล่งน้ำทำกิน การแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนป่า การพัฒนาอาชีพของผู้ต้องขัง การแก้ไขปัญหายาเสพติด อันจะเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
จากประวัติผลงานของ นายสมศักดิ์ เป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จยอดเยี่ยมจนปรากฎเป็นที่ยอมรับ เป็นประโยชน์ และแบบอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป และเป็นผู้บำเพ็ญกรณียกิจ ด้วยความคิดริเริ่มและอุทิศตนจนเกิดประโยชน์แก่สังคม เป็นอเนกประการ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จึงเสนอชื่อนายสมศักดิ์ เป็นผู้สมควรได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาชาวิชาชาพัฒนาชุมชน
ทั้งนี้ มีข้าราชการและบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขเข้ามอบดอกไม้ร่วมแสดงความยินดีกับนายสมศักดิ์ด้วย