ทุกวันนี้ภาวะโลกร้อนกำลังทำลายทุกสิ่งเนื่องจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองและการปล่อยคาร์บอนจากภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม อีกทั้งประเทศไทยยังสูญเสียป่าล้านไร่ทุกปี  คาร์บอนเครดิตจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อช่วยฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม คาร์บอนเครดิตเป็นระบบที่ช่วยควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยองค์กรสามารถชดเชยปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ปล่อยและซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยนักศึกษาปริญญาเอก คณะพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ได้จัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 65 ปี ของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยฯ ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยปัญญาประดิษฐ์และการจัดการคาร์บอนเครดิตสู่อนาคตที่ยั่งยืน”  โดยได้รับเกียรติจากนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  เป็นประธานในพิธีเปิดและกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน” โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. กล่าวต้อนรับ และ ว่าที่ร้อยตรี สานนท์ บุญมี ประธานคณะกรรมการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติฯ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  ผู้บริการกระทรวง พม. ศาสตราจารย์ ดร. ธีรวุฒิ บุณยโสภณ นายกสภามหาวิทยาลัย และคณะผู้บริหาร มจพ. ผู้แทนภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ องค์กรธุรกิจเอกชน และสถาบันการศึกษา เข้าร่วมงาน

 

ดึงภาคีเครือข่ายร่วมจัดการคาร์บอนเครดิตสู่อนาคตที่ยั่งยืน 
 นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาวิชาการ หัวข้อ “พลิกโฉมธุรกิจอุตสาหกรรมด้วยปัญญาประดิษฐ์และการจัดการคาร์บอนเครดิตสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ ดร.รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลิสเซินฟิลด์ จำกัด คุณจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด และคุณกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด มาร่วมแบ่งปันความรู้  
สำหรับงานสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและนักศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนและสามารถแข่งขันในอนาคต โดยมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคธุรกิจเกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การจัดการข้อมูล และการวิเคราะห์ตลาด รวมถึงการจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืนในอนาคต รวมถึงแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งช่วยสร้างเครือข่ายและเปิดมุมมองใหม่ๆ สำหรับการพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันในระดับสากล อีกทั้งยังเป็นเวทีสำคัญในการสร้างแรงบันดาลใจและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคตผ่านการเรียนรู้จากกรณีศึกษาและนวัตกรรม   

“วราวุธ” ย้ำ AI ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตกลุ่มเปราะบาง  
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ทิศทางการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน” ในตอนหนึ่งว่า สำหรับทิศทางการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมสู่อนาคตที่ยั่งยืน จำเป็นต้องมีการ Focus 4 ประเด็นหลัก เริ่มตั้งแต่ประเด็นที่ 1 ประเทศไทยเรามี “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานชุมชน ด้วยความสมดุลของมิติสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่มักถูกทิ้งไว้ข้างหลัง 


ประเด็นที่ 2 เราทำอะไรมาแล้วบ้าง เราจำเป็นต้องทำธุรกิจตามหลัก ESG ที่มุ่งเน้นความยั่งยืน โดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และ BCG Model เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สร้างชุมชนเข้มแข็ง นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต 

ประเด็นที่ 3 สิ่งที่เราจะต้องก้าวข้าม ไม่ว่าจะเป็น  ปัญหาความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งกลุ่มเปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ เป็นด่านแรกที่ต้องเผชิญกับวิกฤตนี้ รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้เกิดภัยพิบัติต่างๆ โดยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มคนเปราะบาง และวิกฤตประชากรประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ Aged Society  วิกฤตเด็กเกิดน้อย และมีผลิตภาพที่ไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ อีกทั้งสถานการณ์ "แก่ก่อนรวย" และคนวัยทำงานจะต้องกลายเป็น "เดอะแบก" เนื่องจากขาดแคลนแรงงาน 

ขับเคลื่อนนโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤต

ประเด็นที่ 4 ก้าวต่อไป จากนโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร ของ กระทรวง พม. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ พัฒนานโยบายดังกล่าว  ผ่านมติความเห็นชอบของ ครม. เมื่อ 2 เมษายน 2567  ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) เสริมพลังวัยทำงาน 2) เพิ่มคุณภาพ และผลิตภาพของเด็กและเยาวชน 3) สร้างพลังผู้สูงอายุ 4) เพิ่มโอกาสและเสริมสร้างคุณค่าคนพิการ และ 5) สร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความมั่นคงของครอบครัว ทั้งนี้ เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย 5X5 ฝ่าวิกฤตประชากร คือ ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence - AI) ซึ่งรัฐบาลตั้งเป้าพัฒนาประเทศไทยเป็นประเทศชั้นนำ มีการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายในปี พ.ศ. 2570 อาทิ การสนับสนุนทางการแพทย์ หุ่นยนต์ในการดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ 
คาร์บอนเครดิตไม่เพียงลดการปล่อยคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังสนับสนุนโครงการฟื้นฟูป่า พลังงานสะอาดและยกระดับชีวิตชุมชนท้องถิ่นโดยใช้ AI ช่วยวิเคราะห์ และจัดการข้อมูลการปล่อยคาร์บอนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อโลกทีสมดุลและยั่งยืน