วันที่ 17 ตุลาคม 2567 นายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ และ รองหัวหน้าพรรค อภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)นิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง พ.ศ. ว่า จุดมุ่งหมายในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยการนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมือง ซึ่งเป็นร่างกฎหมายมีความตั้งใจที่ดีที่จะให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสร้างความปรองดองในชาติ ซึ่งตนไม่ขัดข้อง แต่กฎหมายนี้ต้องไม่รวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะไม่ใช่ความผิดทางการเมือง ไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง ตนไม่เห็นด้วยและคัดค้านถึงที่สุด เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดเจนในมาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ และสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
หากจะนิรโทษกรรมให้ผู้กระทำความผิดคดีมาตรา 112 ตนไม่แน่ใจว่าสภาผู้แทนราษฎร และหากส่งไปให้คณะรัฐมนตรีจะกลายเป็นสารตั้งต้นเสี่ยงที่จะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และกระทำความผิดขัดต่อจริยธรรมหรือไม่ ซึ่งอ้างอิงจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2567 ก็ชี้ชัดแล้วว่า มีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการรณรงค์หาเสียง รวมถึงการยื่นแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเมื่อมองเทียบเคียงกับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว จะยิ่งมีน้ำหนักโทษรุนแรงกว่าพรรคก้าวไกลเสียด้วยซ้ำ
“ผมย้ำจุดยืน เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่มีความรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต รวมทั้งไม่รวมคดีทุจริตคอรัปชั่น แต่ควรจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาการนิรโทษกรรมอย่างละเอียดรอบคอบ เชื่อว่าสภาเองก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรัดกุม ไม่ทำให้เกิด
การขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียเอง ยืนยันขอคัดค้านถึงที่สุดไม่ให้มีการรวมคดีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม ควรถูกลงโทษขั้นเด็ดขาด“
นายธนกร ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมาพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่เคารพเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เกิดความไม่พอใจและรู้สึกถึงความยุติธรรมไม่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมและนำไปสู่ความแตกแยกทางความคิดขึ้น เพราะประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ การเสนอให้มีการยกโทษหรือนิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำความผิดคดีนี้ ถือเป็นการลดความสำคัญของการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากสถาบัน
พระมหากษัตริย์เป็นหนึ่งในเสาหลักที่สำคัญของความมั่นคงของรัฐ
การที่สถาบันถูกทำลายภาพลักษณ์อาจทำให้ประเทศสูญเสียเสถียรภาพและความเป็นปึกแผ่น อาจเปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงหรือมีอิทธิพลต่อการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศได้มากขึ้น นั่นคือ ผลกระทบต่ออธิปไตยและความเป็นอิสระของประเทศอย่างชัดเจน
นายธนกร ย้ำว่า ผู้กระทำผิดตามมาตรา 112 ต้องได้รับโทษ โดยร่างกฎหมายฉบับนี้ต้องกำหนดให้ชัดเจนในมาตรา 4 ว่า “มิให้การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้รับการนิรโทษกรรม” เพื่อให้ร่างกฎหมายมีความชัดเจนในการกำหนดข้อยกเว้น ของการกระทำที่จะไม่ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมควรถูกออกแบบมาเพื่อรักษาความสมดุลระหว่างการสร้างความปรองดอง ความยุติธรรมในสังคม และความมั่นคงของชาติ การนิรโทษกรรมที่ขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่ร้าวลึกขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของมาตรา 112 ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติและความศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
“ผมเห็นใจเยาวชนน้องๆหลายคน แต่ก็ไม่เข้าใจว่าคนที่อยู่เบื้องหลังเหล่านี้ไม่เห็นออกมาแสดงความรับผิดชอบอะไรเลย ปล่อยให้เยาวชนติดคุกจำนวนมากซึ่งยอมรับว่าเห็นใจเยาวชนและคนรุ่นใหม่ ที่โดนคดีแต่ก็เห็นว่า ยังมีหลายคนทำผิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่มีความสำนึก คนที่ต้องออกมารับผิดชอบคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มเยาวชนให้ออกมาเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถาบัน หากไม่มีคนอยู่เบื้องหลัง จะไม่มีคนออกมาเคลื่อนไหว ซึ่งน่าเห็นใจเพราะหลายคนถูกชักชวนและให้ข้อมูลบิดเบือน
ตอนนี้มีหลายเรื่องทั้งความเดือดร้อนปัญหาปากท้องพี่น้องประชาชน ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ซึ่งนายกรัฐมนตรีทำถูกแล้ว ที่มีการเดินหน้าโครงการโอนเงินหมื่นให้กับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงเตรียมเดินหน้าโครงการคนละครึ่งด้วย ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่สุด ต้องรีบทำเพราะความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน70 กว่าล้านคนรออยู่ นิรโทษกรรมยังไม่สำคัญเท่าความเดือดร้อนของประชาชน ผมขอคัดค้านจนถึงที่สุดว่าการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองไม่รวมมาตรา 112” นายธนกร ระบุ