วันที่ 16 ต.ค.67 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตนพร้อมด้วยนางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม และผู้บริการกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับคณะกรรมาธิการการคมนาคม วุฒิสภา และคณะ ได้เดินทางมาร่วมหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและพิจารณาแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมในประเด็นสำคัญต่างๆทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีอุทกภัยที่ส่งผลกระทบต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้า และการเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับประชาชนในช่วงเทศกาลปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วัน
ทั้งนี้ในส่วนของการคมนาคมทางบกได้สอบถามถึงแนวทางการนำระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ (Intelligent Transportation System : ITS) มาใช้ในการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเมืองใหญ่ในภูมิภาค ความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 6 (สายบางปะอิน - นครราชสีมา) ระยะทาง 196 กม.ซึ่งปัจจุบันมีความก้าวหน้างานโยธา 96% คาดว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางได้ภายในปี 2569,มอเตอร์เวย์หมายเลข 82 (สายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว) ระยะทาง 25 กม. ซึ่งจะเปิดให้ทดลองใช้บริการฟรีตลอดเส้นทางได้ภายในปี 2568 และให้บริการเต็มรูปแบบตลอดเส้นทางภายในปี 2570, การเชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งกับประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว และมาเลเซีย)
สำหรับการคมนาคมทางราง ได้สอบถามความคืบหน้าและแนวทางการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน (กรุงเทพฯ - นครราชสีมา - หนองคาย) รวมระยะทาง 609 กม. ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ระหว่างเร่งรัดก่อสร้าง ระยะที่ 1 (กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ระยะทาง 250.77 กม. ) เพื่อให้สามารถเปิดบริการได้ในปี 2571, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และทางคู่สายใหม่ (เด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ) (บ้านไผ่ - มุกดาหาร - นครพนม), โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง, โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มทั้งสายตะวันออกและสายตะวันตก(ตลิ่งชัน - มีนบุรี), โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน - ราษฎร์บูรณะ) และแนวทางการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีกลางบางซื่อ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนา เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคของประเทศไทยสู่ศูนย์กลางการเชื่อมต่อในระดับอาเซียนและระดับโลก ซึ่งการศึกษาจะแล้วเสร็จภายในปี 2567
นายสุริยะ กล่าวต่อว่า ส่วนของการคมนาคมทางน้ำ คณะกรรมาธิการได้สอบถามความคืบหน้าของการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และการพัฒนาปรับปรุงร่องน้ำเดินเรือ ภายใต้แผนโครงการประกันความลึกร่องน้ำเศรษฐกิจ จำนวน 16 ร่องน้ำ ซึ่งในปี 2567 กรมเจ้าท่าได้เร่งดำเนินการในร่องน้ำที่มีปริมาณการจราจรหนาแน่น 8 ร่องน้ำ ส่วนอีก 8 ร่องน้ำ จะดำเนินการในปี 2568
ขณะที่การคมนาคมทางอากาศ ได้แก่ การส่งเสริมและเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางอากาศ การส่งเสริมและพัฒนาการใช้ประโยชน์ของอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) การตรวจรับรองมาตรฐานสนามบินต่าง ๆ ทั่วประเทศ ความคืบหน้าการพิจารณาออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะ การพัฒนาศักยภาพท่าอากาศยานซึ่งไม่มีเที่ยวบินแบบประจำอย่างต่อเนื่อง หรือมีผู้โดยสารในระดับน้อยกว่า 100,000 คนต่อปี โครงการจัดตั้งท่าอากาศยานใหม่ และโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
นายสุริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนของการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) มีกำหนดเปิดให้บริการทางวิ่งเส้นที่ 3 อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการรองรับเที่ยวบินจาก 68 เป็น 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ลดปัญหาการรอคิวนำเครื่องขึ้นและลง เป็นการพัฒนาคุณภาพการบริการของท่าอากาศยานให้ได้มาตรฐานสากล ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค สร้างโอกาส สร้างอนาคต และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายผลักดันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิให้ติดอันดับ 1 ใน 20 ท่าอากาศยานที่ดีที่สุดในโลก
นอกจากนี้คณะกรรมาธิการได้สอบถามถึงความคืบหน้า นโยบาย แนวทางการดำเนินงานในด้านกฎหมายต่าง ๆ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติการขนส่งทางราง พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการตั๋วร่วม พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมพาณิชย์นาวี พ.ศ. .... การปรับปรุงพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 การปรับปรุงพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 การปรับปรุงพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศให้มีความสะดวก ปลอดภัย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
นายสุริยะ กล่าวว่า สำหรับมาตรการความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ได้ตั้งคณะกรรมการโดยเชิญผู้เชี่ยวชาญมาช่วยตรวจสอบกฎระเบียบ และวางมาตรการระยะสั้น – ระยะยาวพร้อมตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎระเบียบที่วางไว้เพื่อให้ประชาชนได้รับความอย่างสูงสุด
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมจะนำข้อหารือในครั้งนี้ไปใช้ประกอบการพิจารณาในการขับเคลื่อนภารกิจการดำเนินงานของกระทรวงฯ เพื่อสนองตอบความคาดหวังและความต้องการของประชาชนทั้งด้านการเดินทางและการใช้บริการที่เชื่อมโยงกันในทุกมิติ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประตูและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค ส่งเสริมศักยภาพทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ภายใต้ “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” ต่อไป