กระทรวงคมนาคม เปิดตัวเลขภาพรวมการเดินทางในเทศกาลปีใหม่ 2568 เมื่อวันที่ 27 - 30 ธันวาคม 2567 ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมบูรณาการอำนวยความสะดวกและการให้บริการการเดินทางประชาชน ซึ่งช่วง 4 วันที่ผ่านมา พบว่าสามารถบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาได้อย่างเพียงพอ ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง
ทั้งนี้ จากข้อมูลศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคม สรุปสถิติอุบัติเหตุบนโครงข่ายของกระทรวงคมนาคม ของวันที่ 27 - 30 ธันวาคม 2567 (สะสม 4 วัน) สรุป ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 เวลา 07.30 น. พบว่า ทางบกเกิดอุบัติเหตุรวม 983 ครั้ง/ ผู้เสียชีวิต 130 คน/ ผู้บาดเจ็บ 1,071 คน สาเหตุจากขับรถเร็วเกินอัตรากำหนด 625 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 63.58 ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุด คือ จักรยานยนต์ (508 คัน) บริเวณที่เกิดเหตุสูงสุด คือ ทางตรง ไม่มีความลาดชัน 689 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 70.09 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ ปทุมธานี และ อุดรธานี จังหวัดละ 5 คน โดยจังหวัดที่เกิดเหตุสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร (33 ครั้ง) ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว (วันที่ 29 ธันวาคม 2566 – 1 มกราคม 2567) จำนวนอุบัติเหตุ ลดลงร้อยละ 9 จำนวนผู้เสียชีวิต เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 และจำนวนผู้บาดเจ็บ ลดลงร้อยละ 3 นอกจากนี้ พบอุบัติเหตุบนโครงข่ายทางราง 1 ครั้ง และทางน้ำ 1 ครั้ง ส่วนทางอากาศไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุ
กระทรวงคมนาคม ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเกิดความอุ่นใจ เดินทางสู่จุดหมายปลายทางด้วยความสะดวกปลอดภัย ซึ่งตั้งแต่ช่วงเย็นของวันนี้ (31 ธันวาคม 2567) จะมีกิจกรรมในคืนเคานต์ดาวน์ตามสถานที่ที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญหลายแห่งในกรุงเทพมหานคร ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เตรียมความในการให้บริการขนส่งสาธารณะด้วยการขยายเวลาเปิดบริการรถไฟฟ้าทุกสาย ถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชน นอกจากนี้ยังได้กำชับในส่วนของการเชื่อมต่อการบริการ ล้อ-ราง-เรือ ทั้งรถและเรือโดยสารทุกประเภทให้มีความสะดวก ปลอดภัย
ในส่วนของการเดินทางกลับจากภูมิลำเนาช่วงท้ายเทศกาลปีใหม่ซึ่งจะมีการจราจรที่หนาแน่นในช่วงวันที่ 1 - 3 มกราคม 2568 ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ได้มีความพร้อมในทุกมิติเพื่อรองรับการเดินทางกลับ โดยยังคงคุมเข้มมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย และเตรียมพร้อมระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถโดยสาร รถไฟ เรือ และเครื่องบิน ต้องมีเพียงพอกับปริมาณผู้โดยสาร เคร่งครัดในการตรวจความพร้อมของพนักงานขับรถโดยสารและตัวรถต้องมีสภาพพร้อมสมบูรณ์ และสถานีขนส่งหรือท่าอากาศยานต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง นอกจากนี้กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท ได้บำรุงรักษาเส้นทาง สำรวจไฟฟ้าแสงสว่างและไฟสัญญาณจราจรให้พร้อมใช้งาน อยู่เสมอ เพื่อความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ประจำจุดให้บริการประชาชน 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังและอำนวยความสะดวกการเดินทางในช่วงขากลับให้เกิดความคล่องตัว และสร้างความอุ่นใจให้กับประชาชนในช่วงการเดินทางกลับจากเทศกาล ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลการเดินทาง และช่องทางบริการให้ข้อมูลข่าวสารและรับเรื่องร้องเรียน และจุดบริการประชาชนผ่านศูนย์ปลอดภัยคมนาคม สายด่วน 1356 ตลอด 24 ชั่วโมงบนเครื่องและเสียชีวิต ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น