“เอกนัฏ” ดัน 55 มาตรฐานใหม่ อุตสาหกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ New S-Curve ที่ยั่งยืน
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายทั้งการสร้างความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมที่ต้องปฏิบัติตามกติกาการค้าสากล ที่ทุกประเทศต่างให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลได้เดินหน้าสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคอุตสาหกรรมได้ตามกำหนดในปี ค.ศ. 2050 ที่กำหนดให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิต้องเป็นศูนย์ (net zero) ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมป้องกันประเทศในอันดับต้นๆ ของอาเซียน และกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรที่มีจุดแข็งด้านคุณภาพการรักษาและค่ารักษาพยาบาล ส่งผลให้ตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้ออกมาตรฐานที่สอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวเพิ่มอีก 55 มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และรองรับการเติบโตของธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรม New S-curve
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า สมอ. ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยได้ออกมาตรฐานด้านการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) ที่สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรม New S-curve เพิ่มอีก 55 มาตรฐาน ได้แก่ 1) มาตรฐานที่ใช้ในการรับรองหน่วยรับรอง 7 มาตรฐาน เช่น ระบบการจัดการสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการจัดการความสัมพันธ์ในการประสานความร่วมมือทางธุรกิจ ฯลฯ 2) มาตรฐานสิ่งแวดล้อมและก๊าซเรือนกระจก 6 มาตรฐาน 3) มาตรฐานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 8 มาตรฐาน 4) มาตรฐานการแพทย์และสุขภาพครบวงจร 4 มาตรฐาน 5) มาตรฐานเมืองอัจฉริยะ 3 มาตรฐาน 6) มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน 3 มาตรฐาน 7) มาตรฐานอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิตัล 2 มาตรฐาน 8) มาตรฐานการบริหารงานคุณภาพขององค์กร 11 มาตรฐาน เช่น ข้อแนะนำในการเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ข้อแนะนำสำหรับธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค แนวทางปฏิบัติด้านจรรยาบรรณสำหรับองค์กร 9) มาตรฐานเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูงและการท่องเที่ยวเน้นคุณค่า 2 มาตรฐาน และ 10) มาตรฐานอื่น ๆเช่น การยศาสตร์ ธรรมาภิบาล 9 มาตรฐาน โดย สมอ.จะประกาศใช้มาตรฐานดังกล่าว เพื่อพัฒนาและยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทยสู่เวทีการค้าสากล
ทั้งนี้ปัจจุบัน สมอ.มีมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว จำนวน 479 มาตรฐาน ได้แก่ 1) มาตรฐานด้านการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ (มตช.) จำนวน 45 เรื่อง เช่น มาตรฐานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมาตรฐานการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจอย่างยั่งยืน 2) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) จำนวน 380 เรื่อง เช่น ปูนซิเมนต์ไฮดรอลิก แผงโซล่าเซลล์ ฟิล์มติดกระจกประสิทธิภาพพลังงาน เครื่องย่อยสลายขยะชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ ระบบสูบน้ำด้วยระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ ถุงพลาสติกแตกสลายได้ทางชีวภาพสำหรับเพาะชำ กล้าไม้ ฟิล์มพลาสติกคลุมดินแตกสลายได้ทางชีวภาพสำหรับงานเกษตรกรรม และ 3) มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 54 เรื่องเช่น ผลิตภัณฑ์จากผักตบชวา เครื่องเรือนเชือกกล้วย เครื่องเรือนไม้ไผ่ ภาชนะจากพืช หลอดจากพืช ผ้าพิมพ์ลายจากพืช ผลิตภัณฑ์กะลามะพร้าว กระดาษรีไซเคิล และผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้ ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อมุ่งขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทย สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันความตกลงปารีส เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2050