"เอกนัฏ" สาวถึงต้นตอส่ง “สุดซอย” ตรวจค้นบริษัทในเขตปลอดอากร (ฟรีโซน) ลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ยึดวัตถุอันตราย 118 ตัน สั่งส่งกลับต้นทางภายใน 30 วัน พบทำผิดอนุสัญญาบาเซลฯ-กม.ไทยเป็นหางว่าว “ฐิติภัสร์” ฟันธงพฤติการณ์ “แก๊งศูนย์เหรียญ” ชัด ลั่นต้องปราบให้สิ้นซาก
วันที่ 21 พฤษภาคม 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้ นางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการตรวจสุดซอย หรือ “ทีมสุดซอย” กระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมด้วย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมศุลกากร กรมควบคุมมลพิษ มูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี และเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเข้าตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์ของบริษัท เอ็มเอชซี กรุ้ป ฟรีโซน จำกัด ตามที่ได้รับเบาะแสแจ้งว่า อาจจะมีการนำเข้าเศษอลูมิเนียมปนเปื้อนขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่ได้รับอนุญาต
นางสาวฐิติภัสร์ เปิดเผยผลการตรวจค้นว่า บริษัทฯ ดังกล่าวนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 6 ตู้ สำแดงว่าเป็นการนำเข้าเศษอลูมิเนียม (Mix Metal Scrap) จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ทุกตู้มีการปะปนแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ น้ำหนักกว่า 118 ตัน ที่นับเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เข้าข่ายเป็นของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล และเข้าข่ายเป็นของเสียเคมีวัตถุ (Chemical Wastes) ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่ต้องขออนุญาตนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมรับผิดชอบ และต้องมีการดำเนินการตามขั้นตอนที่อนุสัญญาบาเซลกำหนด รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศมาใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานขัดต่อประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดชนิดและแหล่งกำเนิดวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ในโรงงาน พ.ศ. 2563 การเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายข้ามแดน และยังไม่ได้รับความยินยอมจากประเทศปลายทาง ถือเป็นการเคลื่อนย้ายข้ามแดนแบบผิดกฎหมายภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ
“ของกลางที่ยึดได้ครั้งนี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรม มีคำสั่งให้ส่งกลับประเทศต้นทางทั้งหมดภายใน 30 วัน และกรมศุลกากรดำเนินคดีในข้อหาลักลอบนำเข้าของเสียวัตถุอันตราย” นางสาวฐิติภัสร์ ระบุ
นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวต่อว่า จากนั้นทีมสุดซอยได้ขยายผลเข้าตรวจค้น บริษัท เอ็มเอชซี กรุ้ป ฟรีโซน จำกัด ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตปลอดอากร (Free Zone) ภายในพื้นที่มีโกดังจำนวน 4 หลัง และอยู่ระหว่างกำลังก่อสร้างโกดังเพิ่มอีก 2 หลัง แต่ละโกดังแบ่งพื้นที่สำหรับทำคลังพักสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อรอส่งต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา และแบ่งพื้นที่ตั้งเป็นโรงงาน 4 โรงงาน ที่มีการแจ้งประกอบกิจการหลากหลายประเภท ทั้งโรงงานผลิตอลูมิเนียมระบายความร้อน โรงงานฉีดพลาสติกขึ้นรูปบานพับ โรงงานบดย่อยและรีดแผ่นยางส่งออก ตรวจสอบพบมีใบอนุญาตโรงงาน 3 ใบ 3 โกดัง ออกเมื่อช่วงต้นปี 2567 จากการตรวจค้นโดยละเอียดพบมีการขยายเครื่องจักรเกินโดยไม่ได้รับอนุญาตจำนวน 1 โรงงาน และมีการตั้งและประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตอีก 3 โรงงาน เจ้าหน้าที่จึงมีคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการและดำเนินคดีตามกฎหมายโรงงานทันที
"นอกจากการประกอบกิจการ และขยายกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตที่เป็นปัญหาแล้ว ยังพบว่ากระบวนการผลิตทั้งหมดมีการนำเข้าเครื่องจักร วัสดุ อลูมิเนียม เม็ดพลาสติก ยาง ทุกอย่างจากต่างประเทศ เมื่อผลิตเสร็จแล้วรอส่งออกต่างประเทศหรือส่งให้โรงงานอื่นที่อยู่ในเขตปลอดอากรเช่นกัน นับเป็นการประกอบกิจการศูนย์เหรียญอย่างชัดเจน จึงต้องจัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาดตามนโยบายของ รัฐมนตรีเอกนัฏ ในปราบปรามอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญอย่างเร่งด่วนและจริงจัง" นางสาวฐิติภัสร์ กล่าว
นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกที่บูรณาการความร่วมมือกันระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรม และกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง ในการตรวจสอบโรงงานในพื้นที่ปลอดอากร (Free Zone) เพื่อจัดการการกระทำที่ผิดกฎหมาย และสกัดกั้นการนำเข้า/ครอบครองวัตถุอันตราย ที่ถือเป็นต้นเหตุให้เกิดเหตุอันตรายอื่นๆ
“กระทรวงอุตสาหกรรม จำเป็นต้องทบทวนมาตรการ การกำกับดูแล รวมถึงมาตรการการอนุญาตให้ตั้งโรงงานประกอบกิจการในพื้นที่ปลอดอากร หรือฟรีโซนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการปราบปรามกวาดล้างผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และนำขบวนการเหล่านี้มาลงโทษตามกฎหมายต่อไป” นางสาวฐิติภัสร์ กล่าวทิ้งท้าย
#เอกนัฏพร้อมพันธุ์ #ทีมสุดซอย #ขยะอิเล็กทรอนิกส์ #แก๊งศูนย์เหรียญ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์