เมื่อวันที่ 9 ต.ค.67 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ร่วมการประชุมการประชุมโต๊ะกลมระดับสูง (ผ่านวีดีทัศน์)  ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เกี่ยวกับการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม (OECD Global Roundtable on Equal Access to Justice) ในหัวข้อ การเสริมสร้างความเชื่อมั่นผ่านกระบวนการยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (“Building trust through people-centredj ustice”) ณ กรุงออตตาวา ประเทศแคนาดา  โดยมี ดร.พิเศษ สอาดเย็น เป็นผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย หรือ TIJ และคณะเป็นผู้แทนไทยเข้ารวมประชุม

พ.ต.ท.ทวี ได้กล่าวถ้อยแถลง ระบุว่า ขอขอบคุณองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ที่เปิดโอกาสให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งในการประชุมระดับโลก ในหัวข้อที่สำคัญอย่างการเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมอีกครั้งในปีนี้ ตน ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้ยกระดับความสัมพันธ์กับ OECD หลังจากความร่วมมือมานานกว่า 20 ปี

โดยในปัจจุบันประเทศไทยได้ร่วมดำเนินโครงการ OECD-Thailand Country Programme ในระยะที่ 2 และอยู่ระหว่างการสมัครเข้าเป็นสมาชิกของ  OECD   ซึ่งจะทำให้ความร่วมมือนี้ดำเนินต่อไปอย่างเข้มแข็ง และสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของประเทศไทยที่จะดำเนินนโยบายด้วยชุดคุณค่าที่สอดคล้องกับ OECD โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการให้ความสำคัญต่อหลักนิติธรรม ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน

" ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงถึงความพยายามของไทยที่จะขับเคลื่อนให้เกิดความยุติธรรมที่เป็นไปตามหลักนิติธรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราตระหนักว่า นี่ไม่ใช่เป็นเพียงทางเลือก แต่เป็นทางรอดที่จะทำให้ระบบยุติธรรมของประเทศ ยังคงเป็นที่พึ่ง และได้รับความเชื่อมั่นจากคนในสังคมทั้งในปัจจุบันและในอนาคต "

พ.ต.อ.ทวี กล่าวต่อว่า ในอดีต  เรามักเหมารวมเอาความมั่นคงของรัฐ  อยู่เหนือ  หรือเป็นความหมายเดียวกับ ความมั่นคงของประชาชน  แต่พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาการเข้าไม่ถึงความยุติธรรมในทุก  ๆ  วัน   ซึ่งล้วนเกี่ยวพันกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน    หลักนิติธรรม     และหลักธรรมาภิบาล อย่างไรก็ตาม การจัดการกับปัญหาเหล่านั้นเป็นภารกิจที่รัฐบาลไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคส่วนอื่นๆ ทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป เพื่อการทำงานที่ตอบสนองต่อความต้องการและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน

ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะพยายามวางหลักนิติธรรมให้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งนับเป็นกฎหมายสูงสุด แต่ในข้อเท็จจริงต้องยอมรับว่าผลคะแนนของประเทศไทยตามดัชนีชี้วัดหลักนิติธรรมโดย World Justice Project ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ยังเป็นข้อท้าทาย และรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการและปรับนโยบายอีกจำนวนมาก
เพื่อผลักดันให้หลักนิติธรรมแปลงไปสู่การปฏิบัติได้และตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น ผมจึงอยากหยิบยกนโยบายและการดำเนินงานที่ผมตั้งใจผลักดันในวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบันนี้ ดังนี้ 1.  การผลักดันกฎหมายเพื่อป้องกันการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เพื่อเพิ่มพื้นที่และสนับสนุนกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เข้มแข็งมากขึ้นและเพื่อภาครัฐจะทำหน้าที่คุ้มครองประชาชนที่ถูกคุกคามโดยใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือ เพื่อยับยั้ง ข่มขู่ และจำกัดสิทธิการแสดงออกของประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมในการปกป้องผลประโยชน์ของสาธารณะ 

2. การต่อต้านสินบนระหว่างประเทศ เช่น การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเรื่องความผิดฐานให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศหรือเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ (Foreign Bribery) และความรับผิดของนิติบุคคลให้บังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้สัดส่วน และสามารถยับยั้งการกระทำความผิด การใช้มาตรการฟอกเงินและมาตรการทางภาษีกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศ

3.  การยกระดับกฎหมายเพื่อคุ้มครองและเยียวยาประชาชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากภาคธุรกิจ และรัฐวิสาหกิจ โดยกำหนดมาตรการบังคับให้ภาคธุรกิจและรัฐวิสาหกิจ มีกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน หรือ Human Rights Due Diligence เพื่อป้องกันและเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการดำเนินการทางธุรกิจ และขับเคลื่อน “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือแผน NAP” ให้มีผลปฏิบัติอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม ทั้งด้านแรงงาน ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ

4. ด้านอาชญากรรมและการลงโทษคดีอาญา จะให้ความสำคัญต่อการแก้ปัญหาอาชญากรรม และการพัฒนากระบวนการยุติธรรมเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับประชาชน ด้วยการกำหนดนิยามของ“อาชญากรรม” ต้องเป็นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อสังคมและกระทบต่อความสงบเรียบร้อยต่อสังคมโดยรวม การกำหนดโทษต้องได้สัดส่วนกับความรุนแรงของอาชญากรรม รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะระบบงานราชทัณฑ์ ในคดียาเสพติด มุ่งเน้นการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก

5. ผลักดันให้มีการจัดตั้งศาลแผนกสิทธิมนุษยชนในศาลยุติธรรม เพื่อเป็นการยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ควรได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

เป้าหมายในการขับเคลื่อนทั้ง 5 ประเด็นดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่จะยืนยันความพร้อมของประเทศไทย ในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ตามแผนการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของประเทศไทย (Roadmap of the OECD Accession Process of Thailand)

" ท้ายสุดนี้ ขอขอบคุณ OECD อีกครั้งที่เปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในการประชุมที่สำคัญนี้ และผมเชื่อว่าความพยายามของเรา และความร่วมมือกับ OECD จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และตอกย้ำแนวคิดที่ว่า “ความยุติธรรมไม่ได้หมายความถึง กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงประชาชนด้วย เมื่อความยุติธรรมมุ่งเน้นไปที่ประชาชน เราจะสร้างรากฐานสำหรับความไว้วางใจ ความเท่าเทียมและประชาธอปไตยที่ยั่งยืน”