วันที่ 23 ก.พ.2567  นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อัยการอาวุโส สำนักงานการสอบสวน สำนักงานอัยการสูงสุด  ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการพักโทษกลับไปอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า หลายคนมองว่าขัดต่อหลักนิติธรรม กระบวนการยุติธรรมกำลังจะพังหรือไม่ ว่า ในฐานะที่เป็นครูกฎหมาย คิดว่า เสียหาย เพราะการที่คนจะถูกจำคุกนอกเรือนจำมีอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 89/2 การจะให้คนอยู่นอกคุกได้ต้องขออนุญาตศาล ซึ่งศาลต้องเป็นผู้อนุญาต แต่ทำไมกฎหมายบ้านเราจึงปล่อยให้เป็นหน้าที่ราชทัณฑ์ ศาลเป็นคนลงโทษ ฉะนั้นราชทัณฑ์เห็นว่า ควรไปอยู่นอกคุก ก็ควรไปขอศาลใช่หรือไม่ นี่คือประเด็น ระบบ Check and Balance ไม่มี ตั้งข้อสังเกตว่าระบบกระบวนการยุติธรรมมี Check Balance กันตลอด อัยการเช็คตำรวจ ศาลเช็คอัยการ อัยการก็เช็คศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ระบบเป็นอย่างนี้

นายปรเมศวร์ กล่าวต่อว่า ถ้าพูดถึงการพักการลงโทษคุณทักษิณ ถ้าถามตนว่าเขาก็ควรได้พัก เพราะคนที่เคยรักษาตัวในโรงพยาบาล ป่วยนานๆ อีกคนที่เราไม่ค่อยได้พูดถึง คือกำนันเป๊าะ นายสมชาย คุณปลื้ม อยู่โรงพยาบาลตั้งนานเราไม่ว่ากัน แต่ตนติดใจกระบวนการ ความยุติธรรมจะหมดไปไหม กระบวนการพักการลงโทษเขาไม่ได้ประชุมกันปีละครั้งเขาประชุมกันทุกเดือน แต่ตนยังไม่เห็นว่าสื่อไหนไปตามพักการลงโทษเขาทำกันอย่างไร และการจะพิจารณาเรื่องพักการลงโทษ หรือลดวันต้องโทษ ก็ต้องดูเงื่อนไขครบอบรมเรียบร้อย ผ่านอบรมการอาชีพ แล้วถ้าจะปล่อยคนนี้ไป เช่น คดีข่มขืน จะต้องไปดูที่บ้าน เด็กที่ถูกข่มขืนอยู่ภูมิลำเนาเดียวกันไหม จะดูทั้งหมด เมื่อเงื่อนไขตรงจึงให้พักโทษ หรือลดโทษ คำถามวันนี้ นายทักษิณ จะครบเงื่อนไขที่อยู่ในวันที่เท่าไหร่ ทำไมกรณีนี้ถึงพิจารณาล่วงหน้า ที่ตนติดใจคือประเด็นนี้ ทำไมไม่รอให้ครบวันอาทิตย์ แล้วพิจารณาวันจันทร์และวันอังคารออก

การทำแบบนี้ ทำให้กระบวนยุติธรรมเสียหาย ถ้าสมมุติมีคนอื่นมาบอกว่าญาติ ตนจะครบโทษวันที่ 1 มีนาคม พิจารณาวันนี้เลยได้ไหม กระบวนการยุติธรรมไม่ทำกันแบบนี้ จึงกลายเป็นทักษิณโมเดล แต่คุณทักษิณ พักโทษตนไม่ได้ติดใจอะไร เพราะมองว่าอย่างน้อยคุณงามความดีที่ทำก็มี อย่าไปมองแง่ร้ายอย่างเดียว แต่ที่ตนทักท้วงตรงนี้ กลัวว่าถึงวันหนึ่งอาจจะไปเรียกร้องให้มีการสอบสวนเรื่องนี้ จึงอยากให้เหลียวหลัง แลหน้าบ้าง ราชการอย่างพวกเราไม่มีภูมิคุ้มกัน ตนมานั่งดูข้าราชการเหมือนระบบคนชั้น 2 พูดอะไรก็ไม่ได้

นายปรเมศวร์ กล่าวต่อว่า ตนเป็นห่วงกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก เช่น ได้ฟังข่าวตำรวจที่นครศรีธรรมราชเด็กถูกแทงมาแจ้งความ แต่ไม่รับแจ้งความ บอกให้ไปตามพ่อแม่มา อยากจะให้ท่าน ผบ.ตร. ให้ไปสอนตำรวจใหม่ อ่านกฎหมายใหม่ เขาเดือดร้อนเขาแจ้งความต้องรับแจ้ง แม้กระทั่งไม่ใช่เรื่องอาญามาตรา 124  ป.วิ.อาญา เมื่อมีคนเดือนร้อน ต้องการให้ตำรวจช่วย ก็สามารถมาแจ้งได้ ตำรวจไม่ใช่มาแจ้งแต่คดีอาญาเท่านั้น ตำรวจต้องรับแจ้งทุกเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน ไม่เช่นนั้นเขาไม่บอกว่า บำบัดทุกข์บำรุงสุข พิทักษ์สันติราษฎร์ ตนถึงบอกว่า วันนี้เราเดินหน้า โดยที่เราไม่มีการแลหลัง เราต้องมองทั้งระบบ มันทำให้กระบวนการยุติธรรมเสียหายไปมาก เราก็พยายามกระตุกความคิดสังคม ตนไม่ได้โกรธสื่อมวลชนที่มองมุมผิด เราค่อยๆ คุยกัน ประชาธิปไตยบ้านเราค่อนข้างแปลก คือ เราไม่ตค่อยฟังกัน ชอบที่จะด่ากันเป็นหลัก สร้างวาทกรรม ไม่เห็นด้วยก็บอกว่าไม่เห็นด้วย เห็นด้วยก็บอกเห็นด้วย แต่ถ้าพูดไม่ถูกหูด่าตลอด ควรฟังข้อเสนอแนะบ้าง

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า  การจะกู้ศรัทธากระบวนการยุติธรรม ตอนนี้ต้องบอกว่า ทุกอย่างต้องแป๊ะหมด อย่างช็อตต่อไปเรื่องของ มาตรา 112 ของอดีตนายกฯทักษิณ วันที่ 10 เมษายน นี้มีการนัดฟังคำสั่ง ซึ่งตนก็ไม่ทราบว่าคดีเป็นอย่างไร แต่ว่า อัยการสูงสุดจะสั่งอย่างไร เชื่อเถอะจะมีคำอธิบาย ฟ้องก็ต้องอธิบาย ไม่ฟ้องก็ต้องอธิบาย ตนให้สัมภาษณ์มาตลอดว่า คดี มาตรา 112 พูดกันตรงๆ พรรคก้าวไกลเองก็คิดผิด มาตรา 112 ไม่ใช่ว่าคนสั่งคนเดียว อยากบอกให้ฟังระบบของมาตรา  112 ถ้ามีการดำเนินคดี มาตรา 112 ในต่างจังหวัดตำรวจสอบสวนเสร็จก่อนจะมีความเห็นต้องส่งคณะกรรมการของตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีจำนวน 20-30 คน ดูก่อนว่าเอาอย่างไร เสร็จแล้วจึงส่งคืนพนักงานสอบสวน จากนั้นพนักงานสอบสวนก็ส่งให้อัยการจังหวัด ถ้าอัยการจังหวัดจะสั่งก็ต้องส่งมาให้สำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งมีคณะกรรมการระดับอธิบดีที่ดำเนินคดีอาญาเป็น 10 คนนั่งดูกัน ตนก็เคยเป็น แล้วเราไม่เคยมีความเห็นแตกแยกเลย เห็นตรงกันอันนี้ต้องฟ้อง อันนี้ไม่เกี่ยว จึงอยากบอกว่า มาตรา 112 อย่าไปยุ่ง เชื่อเถอะกระบวนการมันดีขึ้นเยอะแล้ว หลังจากที่เคยยัดเยียด มาตรา 112 กัน กระบวนการแก้ปัญหาภาครัฐเขาทำให้ แล้วอัยการสูงสุดท่านจะสั่ง ท่านก็ไม่ได้สั่งคนเดียว ถ้าก็ฟังความเห็นของอธิบดีอัยการเกือบทั้งหมด

นายปรเมศวร์ กล่าวว่า อยากให้จับตาดูกันต่อไป คนอ่านไปวิเคราะห์ว่า ฟ้องหรือไม่ฟ้อง ตนไม่เกี่ยว เพราะว่าคดีนี้ นายทักษิณ พูดจริงหรือไม่ พูดเป็นภาษาอังกฤษใช่ไหม แล้วแปลเป็นไทยว่าอย่างไร เขาพิจารณาหมด ไม่อยากให้มโนไปล่วงหน้า ให้เกิดก่อนค่อยว่ากัน ซึ่งจะเป็นจุดหนึ่งที่พิสูจน์ และจะสร้างความเชื่อมั่น ต้องรอดูวันที่ 10 เมษายน แต่จะคดีเสร็จวันนี้เลยหรือไม่ ยังไม่รู้ เพราะคดีนี้เป็นคดีนอกราชอาณาจักร ต้องใช้เวลาขอเทป ขอภาพ ขอเสียง ขออะไรมาดู มันต้องดูทั้งหมด ก็อยากให้ทุกคนใจเย็นๆ เราต้องตั้งสติให้มากขึ้นในการดูการเมือง และฝากถึงคนที่สนใจเรื่อง มาตรา 112  ขอให้ใจเย็นๆ กระบวนการภาครัฐไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น เพียงแต่ว่ามีการใช้อันนี้เป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกฎหมาย ไม่ใช่เครื่องมือการทำลายล้าง แต่กฎหมายเป็นเครื่องมือของการแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ และความเห็นของนักกฎหมายบางคน ตนอาจจะผิดก็ได้แต่ท่านที่มีความเห็นต่างจากตน เสนอตนจะได้ฟัง ถ้าดีกว่าของตน ก็พร้อมจะยอมรับ

หากสรุปภาพรวมแล้ว กระบวนการยุติธรรมเรากำลังมีปัญหา ไล่มาตั้งแต่ตำรวจ เช่นคดีเด็กที่นครศรธรรมราช คดีลุงเปี๊ยก  มีปัญหาหมด ซึ่งเมื่อก่อนเรื่องของยาเสพติดของนายตำรวจบางคน เราไม่เคลียร์ให้ชัด กระบวนการของการสอบสวนคดี เห็นใจตำรวจค่าตอบแทนน้อย การรวบรวมพยานหลักฐานทำได้ยากเพราะทุกอย่างมันต้องใช้เงิน ค่าตอบแทนน้อยภารกิจมาก อีกทั้งงานการเมืองในองค์กรมากเกินไป เราไม่ได้หยิบประชาชนเป็นที่ตั้ง มาถึงชั้นอัยการ และอัยการบางคดีก็มีปัญหา ก็ยอมรับ ในคนดีในคนจำนวนมากมีคนไม่ดีอยู่ด้วยของอัยการ ถ้าทุจริต ปฏิบัติไม่ถูกต้องโดนดำเนินคดีแน่นอน ของศาลเองก็มีปัญหา มีการร้องเรียนว่ามีท่านอธิบดีคนหนึ่งเกี่ยวข้องกับคดีม็อบ มันก็มีปัญหา ราชทัณฑ์เองก็มีปัญหาตั้งแต่คดีแป้ง นาโหนด และมาถึงตอนนี้ก็มีปัญหาอีก รู้สึกมันมีไม่หยุด ถ้ามีไม่หยุด สุดท้ายพังทั้งระบบ แต่ถ้าหยุดอัยการต้องชัดเจน ศาลต้องไม่เกี่ยว แถลงให้ชัด ตำรวจทำตามหน้าที่ให้ครบ วันนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง รอดูภายในปีนี้จะสามารถเรียกสถานการณ์กลับคืนมาได้หรือไม่ ส่วนเรื่องพักการลงโทษของนายทักษิณ ตนมองว่าสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐบาลต้องทบทวนให้เป็นไปตามหลักวิชาการมากขึ้น ว่าศาลเป็นคนลงโทษ ถ้าปล่อย หรือจะพักโทษ ศาลควรเห็นชอบ