โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ จัดงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ GENEA World Leading Fertility ร่วมกันพัฒนาศูนย์ผู้มีบุตรยาก ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษา สืบค้นหาสาเหตุ ตรวจค้นเพิ่มเติม และให้การรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนยุคใหม่ พร้อมเป็น “The Supporter” ด้วยการดึงจุดแข็งของทั้ง 2 องค์กร ที่ร่วมมือกันและพร้อมซัพพอร์ตทุกขั้นตอนสู่ความสำเร็จด้านการมีบุตร 

คุณอภิรักษ์ อภิสารธนรักษ์ กรรมการบริษัท กรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลรวมใจรักษ์ เปิดเผยว่า รพ. เราได้วางแนวคิดด้านการดูแลสุขภาพคอนเซ็ปต์ New Premium เจาะกลุ่ม middle class ในกรุงเทพฯ ให้เข้าถึงการรักษาได้ โดยเฉพาะการมีบุตรยาก ที่เกิดจากกระแสสังคมที่เปลี่ยนไป คนมีการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่ชอบครองความเป็นโสด พอถึงจุดที่พร้อมมีครอบครัวก็เข้าสู่อายุ 30 กลาง ๆ ซึ่งเลยจุดที่มีบุตรง่ายไปแล้ว ทางรพ. จึงได้ประชุมความร่วมมือกับ Genea เรามองว่าทาง Genea มีเทคโนโลยีที่โดดเด่นมาก มีประสบการณ์กว่า 40 ปี ยิ่งได้เข้าไปศึกษาทีมงานและคุณหมอ ก็ยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับทางเราในการร่วมมือกันจัดตั้งศูนย์ผู้มีบุตรยากนี้ขึ้นมา

พญ.ศศวิมล ปรีชาพรกุล ผู้อำนวยการด้านการแพทย์ จาก Genea Thailand กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า มองเห็นศักยภาพของโรงพยาบาลรวมใจรักษ์ที่พร้อมและมีแนวคิดที่ตรงกัน ประกอบกับต้องการขยายบริการให้ครอบคลุมมากขึ้น และบริเวณที่ตั้งโรงพยาบาลรวมใจรักษ์ ส่วนใหญ่เป็นที่อยู่อาศัยของคนทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา ทาง Genea ได้นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคัดกรอง หรือเช็คสภาพความพร้อมในการตั้งครรภ์ให้กับคนไข้ สามารถช่วยในการวางแผนครอบครัวและการมีบุตรได้ พร้อมให้ความรู้ในการมีบุตรยากว่ามีวิธีการที่หลากหลายได้แก่

1.การฉีดอสุจิเข้าโพรงมดลูก (IUI) กระบวนการฉีดอสุจิเข้าไปในโพรงมดลูกโดยตรงในช่วงที่ไข่ตก เพื่อเพิ่มโอกาสการปฏิสนธิ ใช้ในกรณีที่ปัญหามีบุตรยากไม่รุนแรง เหมาะสำหรับคู่ที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากไม่รุนแรง, อสุจิไม่แข็งแรง หรือไม่ทราบสาเหตุ และผู้หญิงที่มีท่อนำไข่ปกติ

2.การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) กระบวนการนำไข่ของผู้หญิงและอสุจิของผู้ชายมาปฏิสนธิในห้องทดลองโดยจะปล่อยให้สเปิร์มเลือกเข้าไปเจาะไข่เองตามธรรมชาติ จากนั้นนำตัวอ่อนที่แข็งแรงที่สุดกลับไปใส่ในมดลูก เหมาะสำหรับคู่สมรสที่มีปัญหาการมีบุตรยากที่ไม่ทราบสาเหตุ, ท่อนำไข่ตัน, ปัญหาของอสุจิ, หรือผู้ที่ไม่สำเร็จจากการรักษาแบบอื่น ๆ เช่น IUI

3.การฉีดอสุจิเข้าเซลล์ไข่โดยตรง (ICSI) การฉีดอสุจิเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง โดยจะคัดไข่ 1 ใบ และอสุจิ 1 ตัว ที่แข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุดมาผสมกัน ซึ่งช่วยในกรณีที่มีปัญหาภาวะมีบุตรยากที่เกิดจากปัญหาของอสุจิ เหมาะสำหรับคู่ที่มีปัญหาเกี่ยวกับอสุจิ เช่น อสุจิไม่เคลื่อนไหวหรือมีจำนวนอสุจิน้อยและผู้ที่ทำ IVF แบบปกติไม่ประสบความสาเร็จ

4.การตรวจพันธุกรรมตัวอ่อน (PGT) การตรวจตัวอ่อนก่อนการฝังในมดลูกเพื่อหาความผิดปกติทางพันธุกรรม ช่วยเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ที่ประสบความสำเร็จและลดความเสี่ยงของการแท้งบุตร เหมาะสำหรับคู่ที่มีความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรม, เคยแท้งบุตรหลายครั้ง, หรือผู้ที่อายุเกิน 35 ปี ซึ่งมีโอกาสเกิดความผิดปกติทางพันธุกรรมมากขึ้น

5.การเก็บรักษาตัวอ่อน (Embryo Freezing) หลังจากการทำ IVF ตัวอ่อนที่ไม่ได้ใช้สามารถถูกแช่แข็งเพื่อใช้ในอนาคต ช่วยลดจำนวนรอบในการทำ IVF ซ้ำ เหมาะสำหรับคู่ที่ต้องการเก็บตัวอ่อนไว้ใช้ในอนาคต หรือต้องการหลีกเลี่ยงการทำ IVF ซ้ำในอนาคต

6.การแช่แข็งไข่ (Egg Freezing) กระบวนการเก็บไข่ของผู้หญิงแล้วนำไปแช่แข็งเพื่อใช้ในอนาคต เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเลื่อนการมีบุตรหรือมีภาวะสุขภาพที่อาจกระทบการมีบุตรในอนาคต เหมาะสำหรับผู้หญิงที่ต้องการเลื่อนการมีบุตร, ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเช่นโรคมะเร็ง หรือภาวะเจริญพันธุ์ที่ลดลงตามอายุ

7.การแช่แข็งสเปิร์ม (Sperm Freezing) กระบวนการเก็บและแช่แข็งสเปิร์ม เพื่อใช้ในอนาคต โดยเฉพาะกรณีที่อาจมีปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อการผลิตอสุจิในภายหลัง เหมาะสำหรับผู้ชายที่มีปัญหาสุขภาพที่อาจกระทบการผลิตอสุจิในอนาคต เช่น ผู้ที่ต้องเข้ารับการรักษามะเร็ง หรือมีภาวะที่ทำให้การผลิตอสุจิลดลงตามเวลา

8.การตรวจสุขภาพเบื้องต้น การประเมินสุขภาพและความพร้อมในการมีบุตร ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย รวมถึงการวิเคราะห์ฮอร์โมนและการตรวจสภาพของระบบสืบพันธุ์ เหมาะสำหรับคู่ที่ต้องการตรวจสภาพร่างกายและความพร้อมในการมีบุตร หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเจริญพันธุ์

9.การสนับสนุนทางอารมณ์และจิตใจ การให้คำปรึกษาและการสนับสนุนทางจิตใจสำหรับผู้ที่ประสบภาวะมีบุตรยาก ช่วยลดความเครียดในระหว่างการรักษา เหมาะสำหรับคู่ที่ประสบความเครียดหรือความวิตกกังวลจากกระบวนการรักษาภาวะมีบุตรยาก หรือผู้ที่ประสบกับความผิดหวังจากการรักษาครั้งก่อน

โดย Genea Thailand ถือเป็นองค์กรทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกที่เชี่ยวชาญด้านการรักษาภาวะมีบุตรยาก (fertility treatment) และเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (assisted reproductive technology -ART) คลินิกได้มาตรฐาน ISO สาขาหนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย จากประเทศออสเตรเลีย พัฒนาและออกแบบเทคโนโลยีเฉพาะและเครื่องมือที่ผลิตโดย Genea Biomedx ได้รับการยอมรับและถูกนำไปใช้ในคลินิกทั่วโลก เช่น ระบบเพาะเลี้ยงตัวอ่อน (Embryo Culture Systems) หรือที่เรียกว่าเครื่อง Geri Time – Lapse Incubator ที่ช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ รวมถึงการพัฒนาห้องปฏิบัติการระดับโลกที่ทันสมัย ทำให้กระบวนการรักษามีความแม่นยำและประสบความสำเร็จสูง ตลอด 40 ปี มีเด็กเกิดจากเทคโนโลยีนี้กว่า 1 ล้านคนทั่วโลก

นพ.สุขสันต์ กอแพร่พงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ กล่าวว่า รพ.มีผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีเวชที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นทางด้าน OB, นรีเวช, มะเร็งนรีเวช, ปัญหาทางด้านเพศ, ปัญหาด้านมีบุตรยากก็ได้ทาง Genea เข้ามาซัพพอร์ตทางด้านนี้เพิ่มเติม เรามีเครื่องมือที่ทันสมัยหลากหลาย เช่น การตรวจตรวจนิฟตี้ (NIFTY test) ในราคาที่เข้าถึงได้, การตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อดูความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ เป็นต้น และทาง Genea เข้ามาเติมเต็มเทคโนโลยีในการทำอิ๊กซี่ การเก็บไข่ เก็บสเปิร์ม แม้ที่ตั้งทั้ง 2 แห่งอาจจะคนละที่ แต่เราก็มีบริการรถเพื่อรับส่งให้คนไข้สะดวกสบาย และทีมแพทย์ทั้ง 2 แห่ง เคยร่วมงานกันมาก่อนทำให้การปรึกษาและการร่วมงานทำได้อย่างราบรื่น

“โรงพยาบาลรวมใจรักษ์ สุขุมวิท62 เป็นโรงพยาบาลแนวคิดใหม่ในการนำเสนอบริการด้านการรักษาต่าง ๆ ด้วยแพทย์และบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เรามีแพทย์เฉพาะทางอย่าง นพ. สุขสันต์ กอแพร่พงศ์ ที่เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสูตินรีแพทย์ (OB-GYN) ซึ่งคุณหมอจบด้านการตั้งครรภ์ยากมาโดยตรง เราต้องการดูแลต้นน้ำไปยังปลายน้ำ ตั้งแต่เริ่มคิดอยากมีบุตร ตรวจสุขภาพ จนทำ IVF ฝากครรภ์ดูแลจนคลอดบุตร เป็นการดูแลครบจบกระบวนการ ในคอนเซ็ปต์ “The Supporter” ซัพพอร์ตทุกขั้นตอนสู่ความสำเร็จด้านการมีบุตร” คุณอภิรักษ์ กล่าวปิดท้าย