น้ำหมักชีวภาพเป็นสารอินทรีย์ที่ได้จากการนำวัสดุอินทรีย์ที่มีความชื้นสูง ทั้งเศษผักผลไม้ และเศษวัสดุ จากสัตว์ เช่น ปลา หรือหอยเชอรี่ มาผ่านกระบวนการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ในสภาพที่มีอากาศและ มีอากาศน้อย ซึ่งองค์ประกอบของน้ำหมักชีวภาพที่สำคัญมีทั้ง ฮอร์โมน กรดอินทรีย์ชนิดต่างๆ เช่น กรดอะมิโน กรดฮิวมิก รวมทั้งยังมีธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และจุลธาตุ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งน้ำหมักชีวภาพยังช่วยกระตุ้นการเจริญของจุลินทรีย์ดิน ช่วยทำให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารในดิน และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพของดินอย่างมีประสิทธิภาพ

นายอธิวัฒน์ สิทธิภิญญาพัฒน์ ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า สำหรับยางพาราโดยทั่วไปเกษตรกรจะมีการใช้ปุ๋ยเคมีในการผลิตเป็นหลัก การส่งเสริมให้เกษตรกรใช้น้ำหมักชีวภาพร่วมกับการใช้ปุ๋ยเคมี นอกจากพืชจะได้รับธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อพืชแล้ว ยังช่วยเพิ่มธาตุอาหารรองและจุลธาตุ ถึงแม้จะเป็นธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณน้อย แต่ถ้าพืชขาดธาตุดังกล่าว มีผลต่อการเจริญเติบโต ซึ่งแคลเซียมมีบทบาทที่สำคัญต่อพืชทำให้เซลล์พืชแข็งแรง ส่งเสริมการเจริญของราก และการงอกของเมล็ด สำหรับจุลธาตุ เช่น สังกะสีจำเป็นต่อการสร้างคลอโรฟิลล์ สังเคราะห์โปรตีนเพิ่มการผลิต น้ำยาง การเจริญของใบ และเพิ่มการต้านทานต่อโรค ธาตุเหล็กจำเป็นต่อการสังเคราะห์แสง ส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ถ้าพืชขาดธาตุเหล็กจะพบอาการเหลืองที่เส้นใบ และทองแดงเกี่ยวข้องกับการสร้างสารลิกนิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของเปลือกไม้ รวมทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช โดยจุลธาตุมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคกับต้นยางพารา การขาดจุลธาตุทำให้ต้นยางพาราไม่ต้านทานต่อการเกิดโรค

กรมพัฒนาที่ดิน มีการส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ โดยใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ซึ่งเป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยโปรตีน ไขมัน ช่วยลดกลิ่นเหม็นระหว่าง การหมัก และเพิ่มการละลายธาตุอาหารในการหมักเปลือกไข่ ก้าง รวมถึงกระดูกสัตว์ในระยะเวลาสั้นแต่ได้คุณภาพ ซึ่งเจริญได้ในสภาพเป็นกรด ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ยีสต์ ผลิตแอลกอฮอล์และกรดอินทรีย์ แบคทีเรียผลิตกรดแลคติก แบคทีเรียย่อยสลายโปรตีน แบคทีเรียย่อยสลายไขมัน และแบคทีเรียละลาย อนินทรีย์ฟอสฟอรัส โดยมีคำแนะนำและสูตรในการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ และจากวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ

นายอธิวัฒน์ สิทธิภิญญาพัฒน์ ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเกษตรกรสวนยาง สามารถแก้ปัญหาเปลือกผิวหน้ายางพาราแข็งได้ โดยใช้น้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ 200 ซีซี ผสมน้ำ 20 ลิตร ฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ บริเวณเปลือกหรือผิวหน้ายางพารา รอบลำต้นของยางพารา โดยมีความสูง ประมาณ 2 เมตร จากผิวดิน ควรฉีดพ่นน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำในตอนเช้า เลือกวันที่มีแดดช่วงเวลา ประมาณ 08.00 -10.00 น. เนื่องจากแสงแดดจะช่วยให้ต้นยางพารา ดูดซับน้ำหมักชีวภาพได้ดี และถ้าจะให้ได้ผลดีมากยิ่งขึ้น เราควรหมั่นบำรุงปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วย จะช่วยเสริมการดูดซึมธาตุอาหารได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กรมพัฒนาที่ดิน โดยกองเทคโนโลยีชีวภาพทางดินมีคำแนะนำและสูตรในการผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำ และจากวัสดุอินทรีย์ต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ให้กับเกษตรกร และประชาชนผู้สนใจทั่วประเทศ สามารถรับบริการได้ ณ กรมพัฒนาที่ดิน กรุงเทพมหานคร ส่วนภูมิภาค รับบริการ ณ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 – 12 สถานีพัฒนาที่ดิน 77 จังหวัด และหมอดินอาสา ทั่วประเทศ หรือ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1760