ภาพสายน้ำเชี่ยวสีแดงขุ่นข้นและโคลนที่ถมทับบ้านเรือนในอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และน้ำเอ่อล้นแม่น้ำปิง ที่จังหวัดเชียงใหม่ขณะนี้ และยังเกิดซ้ำเป็นระลอกที่ 2 นับเป็นอุทกภัยทางภาคเหนือในปี 2567 ครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 80 ปี เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สินและความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ยังไม่อาจประเมินมูลค่าได้ขณะนี้ และมวลน้ำกำลังไหลลงสู่ภาคกลางอาจส่งผลกระทบให้น้ำล้นตลิ่งในจังหวัดทางตอนล่างตามลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงต้องเตรียมการป้องกันกันอย่างเต็มความสามารถไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำรอยทางภาคเหนือ 

นักวิชาการด้านภัยพิบัติท่านหนึ่งประเมินสาเหตุของอุทกภัยครั้งนี้ ว่า เป็นอิทธิพลซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งนับเป็นพายุที่แรงที่สุดในเอเซียและมีความรุนแรงเป็นอันดับ 2 ของโลกในปีนี้ และลดระดับเป็นพายุดีเปรสชันเมื่อพัดผ่านตอนบนของประเทศไทยในจังหวัดเชียงราย แต่ที่ทำให้อำเภอแม่สายเกิดน้ำท่วมเร็วและแรงครั้งนี้เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณต้นน้ำแม่น้ำสายซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา ที่ปัจจุบันเปลี่ยนจากป่ากลายเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและเหมืองแร่ ทำให้ประสิทธิภาพการชะลอน้ำลดลง ประกอบกับลักษณะภูมิศาสตร์บริเวณแม่สาย-ท่าขี้เหล็ก เป็นที่ราบระหว่างหุบเขา ยิ่งเพิ่มความเชี่ยวและความแรงของน้ำเมื่อไหลลงสู่พื้นราบ 

นอกจากนี้ สำนักงานจัดการที่ดินป่าไม้ กรมป่าไม้ ได้รายงานสถานการณ์ป่าไม้ของไทย ว่า พื้นที่ป่าไม้ในภาคเหนือปี 2566-2567ลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 37.98 ล้านไร่ หรือ 63.24% ของภูมิภาค ลดลงถึง 171,143.04 ไร่ จากปี 2565 สาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการขยายตัวของชุมชน รวมถึงปัญหาไฟป่าที่รุนแรงมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินด้านเกษตรกรรม ภาครัฐควรทำการสำรวจข้อเท็จจริงว่าเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อการปลูกพืชไร่ พืชสวน หรือเป็นการเพาะปลูกตามโครงการส่งเสริมการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้ให้ชนกลุ่มน้อยบนพื้นที่สูง รัฐบาลจึงควรมีการทบทวนมาตรการส่งเสริมดังกล่าวอย่างรอบด้าน คัดเลือกพันธุ์พืชและพื้นที่เพาะปลูกอย่างเหมาะสม มีมาตรการควบคุมเข้มงวดให้ปลูกในพื้นที่ที่กำหนด ไม่ขยายพื้นที่เพาะปลูกโดยไม่ได้รับอนุญาตเมื่อพืชนั้นมีราคาสูงขึ้น เพื่อรักษาพื้นที่ป่าและสร้างสมดุลอุปสงค์-อุปทานไม่ให้ราคาตกต่ำ จากการเพิ่มผลผลิตจนเกินความต้องการของตลาด แต่อย่าโยนบาปให้พืชชนิดใดชนิดหนึ่งโดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะเขาหัวโล้นทางภาคเหนือเกิดจากหลายปัจจัย 

หากเราสังเกตน้ำป่าที่ไหลท่วมเมืองครั้งนี้ จะเห็นท่อนไม้ ท่อนซุงไหลมากับน้ำจำนวนไม่น้อย นั่นแสดงให้เห็นว่าการลักลอบตัดไม้ทำลายป่ายังมีอยู่ แต่กลับมีการพุ่งเป้าไปที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทั้งที่การซื้อ-ขายวัตถุดิบประเภทนี้ต้องผ่านการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์อย่างเคร่งครัด ต้องไม่มาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าหรือการเผาป่า เพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์จากโครงการประกันราคาของรัฐบาล หากไม่ปฏิบัติตามหรือไม่มีเอกสารยืนยันความถูกต้องของการเพาะปลูกก็ไม่สามารถขายผลผลิตได้

ที่สำคัญ รัฐบาลต้องจัดสรรที่ดินทำกินให้ประชาชนอย่างเป็นระบบและมีมาตรการควบคุมไม่ให้เผาป่าและบุกรุกป่า ตลอดจนการใช้ประโยชน์บนที่ดินเชิงพาณิชย์ เช่น การสร้างรีสอร์ทบนผืนป่าหรือบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ต้องตรวจสอบเอกสารสิทธิ์อย่างถูกต้องและเข้มงวดทุกจังหวัด เพื่อรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่มีการละเมิดกฎหมายและปลูกป่าทดแทน ซึ่งเป็นการสร้างแนวรองรับน้ำในระยะยาวและลดผลกระทบที่จะเกิดจากภัยพิบัติน้ำท่วมในอนาคต

โดย : บดินทร์ สิงหาศัพท์ นักวิชาการอิสระด้านสิ่งแวดล้อม