ม.อ. จับมือ ทปอ. เจ้าภาพจัดประชุมความร่วมมือไทย-อินโดนีเซีย ครั้งที่ 15 (The 15th CUPT-CRISU Conference 2024) ร่วมขับเคลื่อน ESG สู่ชุมชนการศึกษาระดับอุดมศึกษา
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ร่วมกับ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือไทย -อินโดนีเซีย ครั้งที่ 15 ภายใต้หัวข้อ “Charting the Path to Sustainable Universities: A Holistic Approach to ESG Integration” เพื่อสร้างความเข้าใจในการบูรณาการหลักการ ESG เข้ากับชุมชนการศึกษาระดับอุดมศึกษา สำหรับอธิการบดี คณบดี ผู้บริหาร และนักศึกษา ของมหาวิทยาลัยทั้งในไทยและอินโดนีเซีย โดยมีศ. ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เป็นประธาน พร้อมด้วย ศ. ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทศ (ทปอ.) อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ. ดร.นิวัติ แก้วประดับ รองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมเป็นเกียรติ ซึ่งมีคณะผู้บริหาร อธิการบดี คณบดี และนักศึกษา จากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ รวมถึงมหาวิทยาลัยสมาชิก ทปอ. ของประเทศไทย (Chair of the Council of University Presidents of Thailand - CUPT) มหาวิทยาลัยสมาชิก ทปอ. ของประเทศอินโดนีเซีย (Council of Rector of Indonesian State University - CRISU) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมกว่า 200 คน ณ โรงแรม อโนมา แกรนด์ กรุงเทพ ระหว่างวันที่ 3-4 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา
ภายในงานจัดให้มีการบรรยายในหัวข้อ “ESG: Why it matters to our world, higher education and us all” ม.อ. และ ทปอ. โดย ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นองค์ปาฐกพิเศษบรรยายเพื่อสร้างความตระหนักรู้ การเน้นย้ำความสำคัญของ ESG รวมถึงมอบแนวทาง และลำดับความสำคัญของการบูรณาการ ESG เข้ากับสถาบันการศึกษา การอภิปรายกลุ่ม (Commentary Panel) "Keynotes: Highlights and Priorities for Activities"
กิจกรรมการอภิปรายกลุ่ม โดยมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและโครงการกลยุทธ์ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน และหัวหน้ากลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การนำ ESG เข้ามาใช้ในตลาดหลักทรัพย์ พร้อมมอบหลักคิดในการนำ ESG มาใช้ในสถาบันการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ พร้อมด้วย ศ. ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศ. ดร.อัญชนา ประเทพ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ Prof. Dr. rer. Nat. Agus Rubiyanto อธิการบดี Institut Teknologi Kalimantan (ITK) และ Prof. Dr. Kusman Ibrahim คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ Universitas Padjadjaran ดำเนินรายการโดย ผศ. ดร.ร่มเย็น โกไศยกานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนา (SEAMEO RIHED) ซึ่งผลจากการเสวนานำมาซึ่งหัวข้อที่สถาบันอุดมศึกษาควรเริ่มดำเนินการเพื่อขับเคลื่อน ESG
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Youth Speech ภายใต้หัวข้อ “ESG from Our Citizens of Tomorrow’s Perspectives” โดยมีผู้แทนนักศึกษาจากประเทศไทย นายพศิน แซ่จง นักศึกษาคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ Mr. Komang Putra จาก Universitas Tadulako ประเทศอินโดนีเซีย กล่าวสุนทรพจน์ในฐานะเยาวชนที่ก้าวไปเป็นผู้นำในอนาคต โดยเสนอว่า ESG สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับตัวเอง มหาวิทยาลัย ประเทศ และโลกได้อย่างไร เราในฐานะพลเมือง (Citizen) มีความเห็นอย่างไร และเราสามารถเข้ามามีบทบาทในการช่วยมหาวิทยาลัยขับเคลื่อน ESG ได้อย่างไร
ตลอดจนกิจกรรมกลุ่ม Group Discussion (Breakout Room) ภายใต้หัวข้อ The roles of universities in ESG – What can We do and How does it Work? ซึ่งเป็นการเปิดพื้นที่ทางความคิดให้ผู้เข้าร่วมระดับอธิการบดี คณบดี และนักศึกษา ร่วมกันหารือและแสดงความคิดเห็นว่าเราจะนำ ESG มาใช้และทำให้เกิดประสิทธิภาพได้อย่างไร ได้แก่ กลุ่มอธิการบดี กับการหารือเชิงนโยบายในการบูรณาการ ESG โดยมี นางสาวพรทิพย์ กาญจนนิยต ที่ปรึกษาพิเศษศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO RIHED) นำการจัดกิจกรรม กลุ่มคณบดี กับการหารือแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมในการบูรณาการ ESG โดยมี ผศ. ดร.ร่มเย็น โกไศยกานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนา (SEAMEO RIHED) นำการจัดกิจกรรม และกลุ่มนักศึกษา กับการหารือเพื่อกำหนดบทบาทของตนเองในการช่วยขับเคลื่อน ESG นโยบาย และแนวปฏิบัติด้าน ESG โดยมี ดร.พิชญ์ จิตต์ภักดี และ คุณลักขณา ดอกเขียว ที่ปรึกษาพิเศษศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยการอุดมศึกษาและการพัฒนาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO RIHED) นำการจัดกิจกรรมการจัดการประชุมความร่วมมือไทย - อินโดนีเซีย ครั้งที่ 15 ในครั้งนี้ นำมาซึ่งการสร้างความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย เพื่อขับเคลื่อน ESG ของทั้งสองประเทศ พร้อมทั้งยืนยันการผนึกความร่วมมือและดำเนินงานร่วมกันผ่านพิธีลงนามของทั้งสองประเทศ โดยมี ศ. ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงนามในฐานะประธานฝั่งประเทศไทย และ Prof. Dr. Jamaluddin Jompa อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาซานูดิน และผู้แทนประธานจาก Council of Rector of Indonesian State ลงนามในฐานะประธานฝั่งประเทศอินโดนีเซียและจากการประชุม CUPT-CRISU Board Meeting มีมติเห็นชอบให้ 5 มหาวิทยาลัยในเกาะบอเนียว ได้แก่ Institut Teknologi Kalimantan, Universitas Mulawarman, Universitas Palangkaraya, Universitas Lambung Mangkurat, และ Universitas Tanjungpura เป็นเจ้าภาพจัดการกประชุมในปีถัดไป
ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการดำเนินกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสถาบันการศึกษาในประเทศไทยและอินโดนีเซีย ตลอดระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการขับเคลื่อนสถาบันการศึกษาไปพร้อมกับการรับผิดชอบต่อสังคม และร่วมขับเคลื่อนบริบทโลก