สภาฯ ไฟเขียวรับรองรายงานการศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ พบจุดเริ่มต้นของปัญหาคือการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ปี 2560 และการขึ้นอัตราภาษีปี 2564 ทำให้ราคาบุหรี่สูงขึ้น โควตาการปลูกใบยาสูบลดลง บุหรี่เถื่อนพุ่ง และการยาสูบฯ ก็ไม่เคยปรับขึ้นราคารับซื้อใบยาสูบเลยตลอด 10 ปี สวนทางกับต้นทุน แนะคลังและสรรพสามิตเร่งปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ ร่วมมือกับหน่วยงานอื่นปราบปรามบุหรี่เถื่อนอย่างจริงจัง
เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2567 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหายาสูบและยาเส้นราคาตกต่ำ ที่คณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงิน และตลาดการเงินพิจารณาเสร็จแล้ว โดยนายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ ประธานคณะกรรมาธิการ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาปัญหานี้ร่วมกับหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบ
นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ สส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ประธานอนุกรรมาธิการ กล่าวถึงปัญหาที่ราคายาสูบและยาเส้นตกต่ำว่าเป็นผลสืบเนื่องจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ในปี พ.ศ.2560 ที่ทำให้กำไรของการยาสูบแห่งประเทศไทยลดจากระดับหมื่นล้านบาท เหลือเพียงระดับพันล้านหลังการปรับโครงสร้างภาษีเป็นแบบ 2 อัตรา และการปรับขึ้นอัตราภาษีอีกครั้งในปี พ.ศ.2564 ด้วยความหวังที่จะพลิกสถานการณ์ กลับทำให้ผลกำไรเหลือเพียง 100-200 ล้านบาทเท่านั้น แสดงให้เห็นว่าการปรับภาษีสรรพสามิตมีผลต่อการยาสูบฯ อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้เกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่พึ่งพาการรับซื้อใบยาสูบจากการยาสูบฯ ได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลายครอบครัวต้องละทิ้งอาชีพไป และชาวไร่ที่เหลืออยู่ต้องเผชิญกับการโดนตัดโควตา และอยู่กับราคารับซื้อที่ไม่เพิ่มขึ้นนานกว่า 10 ปี ทั้งนี้ มาตรการภาษีบุหรี่กลับไม่ได้ทำให้การบริโภคบุหรี่ลดลง แต่กลับทำให้การบริโภคบุหรี่เถื่อนบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มขึ้น
“คณะอนุกรรมาธิการได้เจรจาต่อรองกับการยาสูบฯ และกรมสรรพสามิต จนการยาสูบฯ ได้ปรับขึ้นราคารับซื้อทุกสายพันธุ์เฉลี่ย 10% และเพิ่มปริมาณการรับซื้อจาก 11-12 ล้านกิโลกรัม เป็น 13 ล้านกิโลกรัม ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีกับชาวไร่ยาสูบ และการยาสูบฯ ได้ทำเรื่องขออนุมัติเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตจาก ครม. ซึ่งตอนนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณา แต่การช่วยเหลือนี้ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถาวร” นายจิตติพจน์กล่าว
คณะกรรมาธิการได้นำเสนอ 2 แนวทางหลักที่จะช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในระยะยาว ได้แก่ 1) ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตยาสูบ ที่กระทรวงการคลังมีความพยายามที่จะปรับอยู่ ให้มีความเหมาะสม คณะ กมธ. ฝากความกังวลว่าควรเป็นการปรับโครงสร้างที่ช่วยให้ชาวไร่มีรายได้มากขึ้น 2) รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร ต้องจริงจังกับการปราบปรามบุหรี่เถื่อน เพื่อสกัดการลักลอบนำเข้าอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ มี สส. อภิปรายสนับสนุนผลการศึกษาของรายงานฉบับนี้ เช่น นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน สส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย นายปรีติ เจริญศิลป์ สส. นนทบุรี พรรคประชาชน นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ สส. สุโขทัย พรรคเพื่อไทย และ สส. ทรงยศ รามสูต สส. น่าน พรรคเพื่อไทย โดยเห็นพ้องไปในทางเดียวกันว่าการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่เป็นแบบ 2 อัตราในปี 2560 เป็นความล้มเหลวที่ทำให้การยาสูบฯ มียอดขายที่ลดลง และการจัดเก็บรายได้ภาษียาสูบของกรมสรรพสามิตลดลงด้วย เมื่อบุหรี่นอกตีตลาดและมีราคาสูงขึ้น ผู้บริโภคต่างหันไปหาบุหรี่เถื่อนที่ราคาถูกกว่า กระทรวงการคลังจึงควรเร่งปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่เพื่อยุติความสูญเสียที่เกิดขึ้นตลอด 6 ปีที่ผ่านมา
นายจักรัตน์ พั้วช่วย สส. เพชรบูรณ์ พรรคพลังประชารัฐ ผู้เสนอญัตติ ได้สรุปภายหลังอภิปรายว่ารายงานกรรมาธิการฉบับนี้ถือว่าเป็นรูปธรรมที่สุดตั้งแต่เคยมีมา เพราะได้ช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบผ่านการปรับขึ้นราคา ขึ้นโควตา และเดินหน้าเรื่องเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิตอย่างจริงจัง ก้าวต่อไปคือการหาหนทางเพื่อทำให้การยาสูบฯ กลับมามีกำไรเหมือนเดิม หรือใกล้เคียงเดิมเมื่อสภาฯ มีมติร่วมกันในการรับรองรายงานฉบับนี้แล้ว สภาฯ จะนำรายงานฉบับนี้เสนอไปยัง ครม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการต่อไป