“เอกสิทธิ์” ปธ.สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย“ แนะ รัฐบาลเร่งลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะแรงงานด้านดิจิทัล คู่แก้จุดอ่อน Digital Workforce  ชี้ ควรมุ่งเป็นศูนย์กลางฝึกอบรม-พัฒนาทักษะไอที เชื่อดึงดูดแรงงานดิจิทัลจากทั่วโลก แข่งขันระดับโลกได้

วันที่ 28  ก.ย.2567 นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล  ประธานสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในโอกาสเป็นวิทยากรใน โครงการ อบรมสัมมนา “ภาวะผู้นำทางการเมืองยุคการค้าในโลกยุคใหม่” ในหัวข้อ “แรงงานในยุคดิจิทัล”โดยสมาคมสมาชิกรัฐสภาไทย ว่า ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่มีการใช้จ่ายเงินซื้อสินค้าด้วยระบบเงินดิจิทัล  ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ,สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับ digital disruption พบว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยปี 2566 มีมูลค่าเพียง 2,924,173 ล้านบาท คิดเป็น 11.31% มูลค่าเศรษฐกิจดิจิตอลต่อ GDP

สำหรับประเทศไทย มีดัชนีหรืออันดับที่ใช้วัดเศรษฐกิจดิจิทัล  1.Networked Readiness Index (NRI):เป็นดัชนีที่วัดความพร้อมทางดิจิทัลของประเทศต่าง ๆ จากหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างพื้นฐาน การใช้งานเทคโนโลยี และนโยบายภาครัฐ โดยในรายงานล่าสุด (2022)
ประเทศไทยอยู่ใน อันดับที่ 48 จาก 131 ประเทศ 2. Digital Competitiveness Ranking: เป็นการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลกับประเทศต่าง ๆ ในปี 2023 ประเทศไทยอยู่ที่ อันดับ 40 จาก 63 ประเทศ
โดยความท้าทายของ Digital Workforce ทั่วโลก ยังพบว่าขาดแคลนทักษะ: การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายประเทศยังไม่สามารถผลิตแรงงานที่มีทักษะที่ตรงตามความต้องการของตลาดได้ทันท่วงที มากกว่า 87% ขององค์กรทั่วโลกประสบปัญหานี้ ขณะเดียวกันมีการแข่งขันที่สูงและงานหลายประเภทที่เคยมีอยู่ถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ
และ AI ซึ่งสร้างความท้าทายในการปรับตัวของแรงงาน

นายเอกสิทธิ์ ยังระบุว่า สำหรับความท้าทายในประเทศไทย ไม่ต่างจากหลายประเทศทั่วโลก จากข้อมูลของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ระบุว่า ในปี 2565 ประเทศไทยยังคงขาดแคลนแรงงานดิจิทัลถึงกว่า 400,000 คน ทำให้ต้องมีการพัฒนาทักษะของแรงงานในประเทศอย่างเร่งด่วน ความจำเป็นในการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และความต้องการในการสร้างแพลตฟอร์มที่เหมาะสม

นอกจากนี้นายเอกสิทธิ์ ยังได้เสนอแนวทางการพัฒนาและส่งเสริมทักษะแรงงานดิจิทัลในประเทศ เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนาและรองรับการแก้ไขจุดอ่อนของไทย เรื่องกำลังคนด้านดิจิทัล หรือ Digital Workforce ว่า รัฐบาลควรตั้งศูนย์กลางการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล  ขณะที่รัฐบาลควรมีนโยบายส่งเสริมการดึงดูดแรงงานดิจิทัลจากทั่วโลกโดยการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อแรงงานนานาชาติ ทั้งสิทธิประโยชน์ด้านภาษี การขอนุญาตทำงานที่ยืดหยุ่น หรือการสร้างชุมชนดิจิทัลที่มีคุณภาพ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่แข็งแกร่ง เช่น เครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่รวดเร็วและเสถียร รวมถึงแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยปัจจุบันมีการ วางแผนและลงทุนในการพัฒนาระบบ 5G ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการรองรับแรงงานดิจิทัลในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง การเข้าถึงเทคโนโลยี และการส่งเสริมการศึกษาเพื่อเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้กับประชาชน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยจำเป็นต้องมีการวางแผนและกลยุทธ์ที่ครอบคลุมทั้งโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี และการพัฒนาทักษะของประชากร ในการเริ่มต้นการพัฒนา ควรมีการมุ่งเน้นไปยังภาคส่วนที่มีศักยภาพสูงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งภาค การเกษตร การบริการ ด้านการท่องเที่ยว ด้านฟินเทค และการแพทย์ พร้อมกับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้กับประชาชน ควบคู่ไปกับการการพัฒนาแรงงานทั่วไปให้เป็นแรงงานดิจิทัล ให้สอดรับกับนโยบายขึ้นค่าจ้างของรัฐบาล เพราะเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศต่อไป