พรรคประชาชน ถอย! แก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ปม จริยธรรม หวั่นพรรคการเมืองใช้เป็นเหตุไม่หนุนแก้มาตราอื่น พร้อมดัน 7 แพคเกจแก้ รธน. ลุยตัดอำนาจองค์กรอิสระ-ศาล รธน. จี้รบ.แจงโรดแมปทำประชามติ ด้าน แพทองธาร เปิดบ้านพิษณุโลก ถกคณะที่ปรึกษานโยบายฯ นัดแรก
เมื่อเวลา 10.00น. วันที่ 26 ก.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะประชุมหารือร่วมกับคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ที่บ้านพิษณุโลก ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพฯ ภายหลังเมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 317/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษา 2.นพ.สุรพงษ์ สีบวงศ์ลี รองประธานที่ปรึกษารัฐมนตรี 3.นายศุภวุฒิ สายเชื้อ 4.นายธงทอง จันทรางศุ 5.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โดยมี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ที่ได้รับมอบหมาย เป็นเลขานุการคณะที่ปรึกษา
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า นอกจากนายกฯจะมอบนโยบายแล้ว นายพันศักดิ์ ประธานที่ปรึกษานโยบายฯ จะมีการพูดคุยแนวทางการทำงานของคณะที่ปรึกษาฯ รวมถึงจะมีการแบ่งงานให้แต่ละคนรับผิดชอบในส่วนที่มีความถนัด และคณะที่ปรึกษาฯ จะใช้บ้านพิษณุโลกเป็นสถานที่หลักในการทำงาน
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน แถลงข่าวถึงการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่พรรคประชาชนเสนอ โดยใช้เวลาแถลงและสัมภาษณ์นานกว่า 40 นาที ว่า เส้นทางการจัดทำรัฐธรรมนูญมี 2 เส้น เส้นแรกคือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับโดย สสร. และเส้นทางที่ 2 ที่ต้องทำคู่ขนาน คือการแก้รายมาตรา เพราะกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องใช้เวลานาน และอาจจะไม่แล้วเสร็จทันตามที่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ หรือแล้วเสร็จก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป พรรคประชาชน จำเป็นต้องแก้รายมาตราในหลายเรื่อง
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ว่านี้ แบ่งเป็น 7 แพ็คเกจ ได้แก่ แพ็คเกจ A คือ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนการปฏิรูปประเทศของ คสช. เนื่องจากขาดความชอบธรรมในประชาธิปไตย เสี่ยงถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยมีสาระสำคัญคือทลายเกราะคุ้มกันคำสั่ง ประกาศของ คสช.มาตรา 279 ซึ่งเป็นการเติมพลังด้านการทำรัฐประหาร เพิ่มความรับผิดชอบสถาบันทางการเมือง เพื่อไม่ก่อให้เกิดการทำรัฐประหาร แพ็คเกจ B คือ การตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ตนมี 2 ประเด็น คือ ยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม เพิ่มความเสี่ยงใช้อำนาจตามอำเภอใจ และเพิ่มความเสี่ยงในการใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้ง ดังนั้น องค์กรต่างๆ ควรจะมีระเบียบการตรวจสอบเรื่องจริยธรรมของตนเอง เพื่อยุติการผูกขาดอำนาจ และปลดล็อกพรรคการเมืองให้ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งเป็นการแก้ไขใน พร.ป.พรรคการเมือง
"ตัวอย่างที่สำคัญคือกรณีการตั้งคณะรัฐมนตรี ซึ่งตอกย้ำว่าสังคมมองว่าอาจมีการบังคับใช้มาตรฐานจริยธรรมอย่างไม่เป็นธรรม เช่น กรณีอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่ง ที่วันนี้นายกฯแพทองธาร ชินวัตรไม่กล้าแต่งตั้ง เพราะกลัวขัดจริยธรรม แต่รัฐมนตรีคนเดียวกันนี้ อดีตนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับแต่งตั้งได้ โดยไม่ลังเลและไม่นำไปสู่ปัญหาใดๆ" นายพริษฐ์กล่าว
นายพริษฐ์ กล่าวต่อว่า แพ็คเกจ C คือ เพิ่มกลไกการตรวจสอบการทุจริต ป้องกันการฮั้วกันระหว่างรัฐบาลกับ ป.ป.ช. เพิ่มอำนาจประชาชนโดยตรงในการร้องเรียนนักการเมือง เพิ่มมาตราเข้าไป เพื่อให้ประชาชนรวบรวมชื่อ 20,000 รายชื่อ เพื่อเป็นเรื่องด่วนให้ ป.ป.ช.พิจารณาภายใน180 วัน เปิดเผยข้อมูลรัฐ และคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส แพ็คเกจ D คือ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ขยายสิทธิเรียนฟรี 15 ปี ยกระดับสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุ้มครองความเสมอภาคทางเพศ บุคคลทุกคนไม่ว่าเพศใดมีสิทธิเท่าเทียมกัน สิทธิ์ในการกระบวนการยุติธรรมเสรีภาพในการแสดงออก และเงื่อนไขจำกัดสิทธิเสรีภาพ แพ็คเกจ E คือ การปฏิรูปกองทัพ ยกเลิกบังคับเกณฑ์ทหารในยามปกติและมีได้เฉพาะมีความเสี่ยงภัยสงคราม กำหนดขอบเขตอำนาจศาลทหาร แพ็คเกจ F คือ ยกระดับประสิทธิภาพของรัฐสภา ยกระดับกลไกกำหนดการมีอำนาจออกคำสั่งเรียก เพื่อขอเอกสารและบุคคลภายนอกเข้ามาชี้แจง ปรับนิยามฝ่ายค้าน ที่ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ จะมาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เพิ่มอำนาจสภาในการพิจารณาร่างการเงิน และแพ็คเกจ G คือ การปรับเกณฑ์เรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญกระทำได้หากได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา และ 2 ใน 3 ของสภาผู้แทนราษฎร โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียง 1 ใน 3 ของวุฒิสภาเป็นเงื่อนไขเฉพาะ รวมถึงกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องมีการทำประชามติก็ต่อเมื่อเป็นการแก้ไขเกี่ยวกับเกณฑ์เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการแก้ไขเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น
นายพริษฐ์ ยังกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องมาตรฐานจริยธรรม ที่มีข้อถกเถียงกันอยู่ขณะนี้ หลายพรรคก็ยอมรับอย่างตรงกันว่าเป็นปัญหา ของทางพรรคเพื่อไทยเราก็เคยเห็น ส่วนที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธานวิปรัฐบาล เคยระบุว่าฝั่งรัฐบาลเสนอเรื่องนี้เพียงเพื่อนำเข้ามาเพื่อประกบกับพรรคประชาชนเท่านั้น โดยเป็นเรื่องปกติที่ต้องประกบกับพรรคฝ่ายค้านที่ได้มีการเสนอเข้าไปก่อน เรื่องนี้ตนมองว่าไม่ได้เป็นตามข้อเท็จจริง เพราะมีกฎหมายหลายฉบับที่เสนอเข้าไปแต่รัฐบาลก็ไม่เห็นจะเสนอเข้ามาประกบเลย ดังนั้น ยืนยันว่าที่พรรคเพื่อไทยออกมาพูดเรื่องมาตรฐานจริยธรรม ไม่ใช่เพียงเพราะออกมาประกบร่างของพรรคประชาชน แต่เพราะพรรคเพื่อไทยเคยพูดบอกมาแล้วว่าเรื่องนี้มีปัญหาจริงๆ ทั้งนี้ ยังมีบางพรรคบางคนก็มีการพูดถึงปัญหาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่พรรคประชาชนที่เองที่เห็นปัญหา แต่เมื่อวันนี้มีความชัดเจนระดับหนึ่งว่ายังไม่พร้อมจะหันหน้าเข้ามาพูดคุยกัน และเดินหน้าหาทางออกต่อปัญหาดังกล่าว เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางพรรคประชาชนจึงมองว่าพรรคประชาชนยังจำเป็นที่จะต้องอธิบายแถลงข่าวสื่อสารกับประชาชนและสังคม ว่าทำไมถึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องยุติการผูกขาดอำนาจเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้กับศาลรัฐธรรมนูญในองค์กรอิสระ ตนยืนยันว่าเป็นการเสนอเพื่อปรับปรุงระบบการเมืองดีขึ้น ไม่ได้เสนอเพื่อผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ก็ไม่อยากให้เรื่องดังกล่าวเป็นเงื่อนไขหรือข้ออ้างที่ทำให้พรรคการเมืองอื่นไม่เดินหน้าในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นอื่น
ดังนั้น เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตราเดินหน้าต่อ พรรคประชาชน จึงขอพักการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญเรื่องมาตรฐานจริยธรรมไว้ก่อน จนกว่าจะทำงานเชิงความคิดกับพรรคร่วมรัฐบาลได้มากขึ้น แต่ยืนยันว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้มาตราในประเด็นอื่นๆ และหวังว่าพรรคอื่นๆจะไม่นำการแก้ไขรายมาตราในเรื่องจริยธรรมมาเป็นข้ออ้าง เอามาเป็นเงื่อนไขที่จะไม่มองเห็นความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราอีกหลายประเด็น ที่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราควบคู่ไปกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยิ่งวันนี้ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีความเสี่ยงว่าจะเสร็จไม่ทันเลือกตั้งครั้งถัดไป พรรคการเมืองทุกพรรคควรเห็นความจำเป็นมากขึ้นในการร่วมมือกันเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เพื่อให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากวันนี้ถึงวันที่เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรามีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยมากขึ้นและระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพมากขึ้น นี่คือจุดยืนของพรรคประชาชน"
จากนั้นได้มีการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถาม นายพริษฐ์ ได้กล่าวย้ำอีกรอบว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่หากไม่ทันการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทุกพรรคการเมืองควรเห็นความจำเป็นในการร่วมมือในการแก้ไขรายมาตรา ก่อนจะมีฉบับใหม่ที่ชอบธรรม เพื่อทำให้ระบบการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นและ7 แพ็กเกจ ไม่จำเป็นต้องทำประชามติทุกเรื่อง ยืนยันว่าไม่มีแพ็คเกจไหนที่ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทย และจากนี้ไปต้องพูดคุยทำความเข้าใจกัน
เมื่อถามว่ายังมีพรรคร่วมรัฐบาลมองว่ากลไกศาลและองค์กรอิสระควรมีเพื่อเป็นการสร้างความสมดุล นายพริษฐ์ กล่าวว่า ตนยืนยันไปแล้วว่าเรามองเรื่องมาตรฐานจริยธรรมอย่างไร แต่ขอขีดเส้นใต้ 100 ครั้ง เราไม่ได้บอกว่านักการเมืองไม่ควรถูกตรวจสอบ การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ตนเสนอนี้ เพิ่มกลไกการตรวจสอบให้เข้มข้นขึ้นด้วยซ้ำ แต่เราแค่มองว่าการให้องค์กรไม่กี่องค์กรที่มีที่มาแล้วประชาชนตั้งข้อสงสัยเพียงไม่กี่องค์กรมานิยามว่าอะไรคือจริยธรรม ตรงนี้คือสิ่งอันตราย อาจมีการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจและกลั่นแกล้งกันทางการเมือง แม้ตอนนี้พรรคอื่นจะไม่พูดปัญหานี้แล้ว แต่เมื่อ 2-3 สัปดาห์ก็ยังเห็นพูดกันอยู่
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องพูดคุยกับพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า คงต้องพูดคุยทุกแพ็คเกจ เราคาดหวังว่าอยากให้การผลักดันประสบความสำเร็จ ส่วนจะไม่ถูกมองว่าสุดโต่งใช่หรือไม่ ตนยืนยันว่าไม่มีร่างไหนที่สุดโต่ง ถ้ามองย้อนไปรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ก็ใกล้เคียงกับของที่พรรคประชาชนเสนอ
นายพริษฐ์ ยังอยากให้รัฐบาลชี้แจงโรดแมป ให้ชัดว่าการเดินหน้าจัดทำประชามติ 3 ครั้ง วางกรอบเวลาไว้อย่างไร
เมื่อถามว่าถ้าแก้ไม่ทันกับเลือกตั้งครั้งหน้าจะเกิดปัญหาอย่างไร นายพริษฐ์ ยืนยันว่า การแก้ไขรายมาตราอาจจะไม่สามารถแก้ได้ทุกแพ็คเกจ เพราะเป็นเรื่องยาก คงต้องรอทำฉบับใหม่แต่ระหว่างทาง หากทำอะไรได้ ก็ควรทำ ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญตามนโยบาย ได้จะต้องรับผิดชอบอย่างไร นายพริษฐ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนจะตัดสิน ไม่ใช่เพียงแค่รัฐธรรมนูญ รวมทุกๆเรื่องที่รัฐบาลประกาศไว้สัญญาไว้ ตามนโยบายที่ถือเป็นสัญญาประชาคม ถ้ารัฐบาลไม่สามารถรักษาสัญญาได้ ประชาชนก็จะสะท้อนผ่านการเลือกตั้งครั้งหน้า