“สมศักดิ์” นำทีมสธ.แถลงผลงานปี 67 ชูความสำเร็จ 30 บาทรักษาที่ พร้อมเดินหน้าดูแลสุขภาพคนไทยต่อเนื่อง ช่วยลดรายจ่าย - เข้าถึงบริการสะดวก ยกระดับคุณภาพชีวิตชาว อสม. ดันร่างพ.ร.บ.เข้าสภาฯ ลุยแผนลดโรค NCDs ประกาศตั้งเป้าปี 70 สร้างมูลค่าสมุนไพรไทย โกยเงิน 1 แสนล้านบาท

วันที่ 26 ก.ย.2567 ที่สถาบันบำราศนราดูร กระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.สาธารณสุข นำแถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 และแนวนโยบายที่จะดำเนินการในปี 2568  ร่วมกับนายเดชอิศม์ ขาวทอง รมช.สาธารณสุข นายโอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทั้ง 12 กรม โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงเข้ารับฟัง ซึ่งมีการถ่ายทอดสดผ่านช่องเนชั่นทีวีให้ประชาชนรับชมด้วย

โดยนายสมศักดิ์ แถลงว่า ตนมาทำหน้าที่ รมว.สาธารณสุข ในช่วง 2 รัฐบาล ประมาณ 120 วัน ยอมรับว่า ไม่ง่ายในการบริหาร เพราะมีแต่บุคลากรที่เก่ง แต่ตนก็รู้สึกดีใจ ที่ได้มีทำงานร่วมกับบุคลากรที่มีความสามารถ ซึ่งถึงแม้ตนไม่ใช่หมอ แต่ก็เข้าใจการทำงานเป็นอย่างดี จึงพร้อมช่วยขับเคลื่อนงาน เพื่อลดการเจ็บป่วยของพี่น้องประชาชนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนโครงการสำคัญเช่น โครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567  โครงการนี้ จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ที่ท่านทรงห่วงใยสุขภาพอนามัยของประชาชน และให้ความสำคัญด้านการแพทย์และการสาธารณสุขมาโดยตลอด ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่สมัยท่านรัฐมนตรี ชลน่าน ศรีแก้ว โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือน มกราคม - กันยายน 2567 ในพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมจำนวนกว่า 100 ครั้ง โดยเป็นโอกาสดี ที่กระทรวงสาธารณสุข จะได้พาหมอ และผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ไปเปิดคลินิกในพื้นที่ห่างไกล เพื่อตรวจคัดกรองให้การรักษาผู้ป่วย ซึ่งโครงการนี้ให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย สรุปยอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 1,861,860 ราย ลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในการเดินทาง เฉลี่ยครั้งละ 600 - 700 บาทรวมประมาณการ ที่ช่วยประชาชนประหยัดไป ทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาท

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การผลักดันโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ สุขภาพดีเริ่มที่ใกล้บ้าน โดยโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นโครงการที่ต่อยอดจากความสำเร็จของโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ในสมัยรัฐบาลท่านทักษิณ ชินวัตร และโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ ในสมัยท่านยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยโครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างหลักประกัน สุขภาพให้กับประชน ตั้งแต่ปี 2544 และกว่า 20 ปี ที่โครงการนี้ช่วยสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการไปหาหมอ แต่เราก็ได้เห็น pain point ที่ประชาชนต้องเจอ เมื่อเข้ารับการ รักษาพยาบาล เช่น ความแออัดของโรงพยาบาลใหญ่ เสียเวลารอคิว ทำให้รัฐบาล นายกฯแพทองธาร จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการยกระดับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็น 30 บาทรักษาทุกที่ โดยเฉพาะการให้บริการการแพทย์ปฐมภูมิ เจ็บป่วยเล็กน้อยไปร้านยา คุณภาพ รักษาเบื้องต้นในคลินิกนวัตกรรม การตรวจแล็บ ตรวจเลือดที่หน่วยเทคนิคการแพทย์เอกชน ไม่ต้องไปรอคิวโรงพยาบาลใหญ่ เป็นต้น

“ขณะนี้ ดำเนินการมาจนถึง เฟส 3 แล้ว จำนวน 45 จังหวัด และในวันพรุ่งนี้ 27 กันยายน น.ส.แพทองธาร  จะร่วมเป็นประธานการ Kick-off 30 บาทรักษาทุกที่ กทม. อย่างเป็นทางการ ถือเป็นจังหวัดที่ 46 ซึ่งผลสำเร็จโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ สามารถลดระยะเวลาให้บริการ จากห้องบัตรถึงห้องรับยา ได้กว่าครึ่ง จาก 127 นาที เหลือ 56 นาที ลดค่าใช้จ่ายประชาชนได้เฉลี่ย 160 บาท / ครั้ง ลดการขาดงานของญาติและผู้ป่วย รวมถึงมีประชาชนใช้บริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านแล้ว 32,211 ครั้ง บริการจัดส่งยาทางไปรษณีย์ 388,490 ครั้ง บริการส่งยาใกล้บ้านด้วย Health Rider 253,628 ครั้ง ที่สำคัญ ประชาชนมีความพึงพอใจในโครงการสูงถึง 99.7%” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. อสม. เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต อสม. กว่า 1.07 ล้านคน โดยอสม. คือหัวใจสำคัญของสาธารณสุข มีบทบาทในการพัฒนาสุขภาพ คุณภาพชีวิต ของประชาชนในหมู่บ้าน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตให้กับประชาชน ซึ่งการมี พ.ร.บ. นี้ จะช่วยสร้างความก้าวหน้า มั่นคง ยั่งยืนให้กับ อสม. เพราะจะช่วยรับรองสถานะ สิทธิประโยชน์และมาตรการอื่นๆ ที่เหมาะสมเป็นการเฉพาะเช่น เรื่องค่าป่วยการ 2,000 บาท ที่ไม่ต้องรอมติ ครม. พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นว่าสิทธิประโยชน์อื่น ที่เคยได้ ก็จะได้ตามเดิม ซึ่งความมั่นคงนี้ ก็จะทำให้อสม.ได้ประโยชน์มากขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการเงินที่พร้อมจะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเงินฌาปนกิจสงเคราะห์ และการผลักดัน ร่างพ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการสาธารณสุข แก้ปัญหาเรื่อง กำลังคน ภาระงาน การกระจาย บุคลากร ความก้าวหน้า ปัญหาสมองไหล โดยกฎหมายนี้ จะให้อำนาจกระทรวงสาธารณสุขในการบริหารจัดการตนเอง จะทำให้กระทรวงสาธารณสุข มีบุคลากรมาก มีสายวิชาชีพและหน้าที่ที่หลากหลาย รับผิดชอบต่อประชาชนประมาณ 304 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ทุกวันนี้พยาบาล 1 คน ต้องทำงานเสมือน 2-5 คน แต่กลับได้รับค่าแรงค่าตอบแทนเท่ากับคนเพียงคนเดียว โดยกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยสร้างความชัดเจนในเรื่องอัตราตำแหน่ง การกระจายตัวที่เหมะสม กำหนดภาระงาน สร้างขวัญและกำลังใจโดยไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศ

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การผลักดันการแก้ไขกฎหมาย พรบ. สุขภาพจิตการผลักดันการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ เกิดขึ้นจากนโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการแก้ไขปัญหา กลุ่มแรกคือ ผู้ติดยาเสพติด เน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดครบวงจรการดูแลผู้เสพเป็นผู้ป่วย กลุ่มที่สอง คือ มุ่งเน้นการสร้างระบบการดูแลด้านสุขภาพจิต เช่น การให้คำปรึกษาแก่ประชาชนทั่วไป การดูแลผู้ที่มีอาการเครียด ภาวะ ซึมเศร้า การรักษาและฟื้นพูผู้ป่วยโรคจิต ซึ่งสภาพัฒน์คาดการณ์จำนวน ว่ามีสูงถึง 10 ล้านในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก อันถือเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขของไทยอย่างยิ่ง

ด้านนายเดชอิศม์ กล่าวว่า ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กำกับดูแล 2 กรม คือ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และกรมอนามัย  พร้อมสนับสนุนนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งตนเล็งเห็นศักยภาพหมอนวดแผนไทยที่เก่งระดับโลกและคิดว่าควรผลิตส่งไปทั่วโลก แม้แต่ในไทยยังไม่เพียงพอ วันนี้ได้โอกาสอยากเสนอนายสมศักดิ์ อยากจะเสนองบประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อมาผลิตหมอนวดแผนไทย กระจายทั่วปะเทศ นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยในประเทศปี 2566 สูงถึงกว่า 5.6 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าหมายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ให้ได้มากกว่า 1.04 แสนล้านบาท ภายในปี 2570 ขณะเดียวกัน ตนกำกับดูแลกรมอนามัย อยากเน้นการมีสุขภาพดีในทุกมิติ ทั้งกายและใจ ให้ความสำคัญกับการจัดการปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อสุขภาพ มุ่งเน้นการเสริมสร้างมากกว่าการซ่อมแซม

นพ.โอภาส กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่สำคัญของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ โครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว มีการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยค้นหาประวัติการรักษาในหน่วยบริการ 9,192 แห่ง ลดระยะเวลาบริการจาก 127 นาทีเหลือ 56 นาทีต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยลดลง 160 บาทต่อครั้ง ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาหน่วยบริการภายใต้กระทรวงสาธารณสุขได้ทุกทีทั้ง 45 จังหวัด มีโรงพยาบาลทันตกรรม 119 แห่ง ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพช่องปากเพิ่มขึ้นจาก 17.1 ล้านครั้งในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 21.5 ล้านครั้งในปี 2567 นโยบายยาไทย first สนับสนุนการใช้ยาและบัญชียาสมุนไพรแพทย์แผนไทย 27 รายการ ทั้งนี้ The Economist ยกย่องระบบสาธารณสุขไทยให้เป็นต้นแบบของโลก สร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สำเร็จ แม้เป็นประเทศกำลังพัฒนา โดยคนไทยมีอายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด 77.3 ปี สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ ความครอบคลุมสิทธิ์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าร้อยละ 99.6 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว OECD อยู่ที่ร้อยละ 98 ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพร้อยละ 3.8 ของ GDP ซึ่งน้อยกว่ากลุ่มประเทศ OECD ร้อยละ 12.5 และมีการบูรณการข้อมูลผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งได้รับรางวัลเลิศรัฐระดับดีเด่น ปี 2567 ประเภทบูรณาการข้อมูลในรูปแบบดิจิทัล

พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้ทำการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งสำคัญให้กับประชาชนไปแล้วกว่า 1.7 ล้านราย และให้การรักษาไปแล้วกว่า 70,000 ราย โดยเกือบทั้งหมดสามารถใช้สิทธิ์การรักษาได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โรคมะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในหญิงไทย คือโรคมะเร็งเต้านม คาดว่าถึงสิ้นปี 2567 จะมีประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองไม่ต่ำกว่า 25,000 ราย และจะช่วยให้ค้นพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะแรกได้ถึง 500-600 ราย อีกโรคมะเร็งที่สำคัญ ซึ่งพบบ่อยขึ้นทั้งในเพศชายและหญิงคือมะเร็งลำไส้ใหญ่ กลุ่มเป้าหมายคือ ประชาชนอายุ 50-70 ปี คาดว่าที่สิ้นปี 2567 ได้รับการตรวจกว่า 5 ล้านราย พบผิดปกติจะได้รับส่องกล้องลำไส้กว่า 8 หมื่นราย ตรวจพบมะเร็งระยะแรก 1,000 ราย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ในการตรวจรักษาได้ทุกสิทธิ์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประเทศไทยพบมะเร็งตับ 22,000 คนต่อปี 70% มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการและไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ การค้นหาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี และทำการรักษาโดยเฉพาะกลุ่มประชาชนที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 หรืออายุ 32 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนประมาณ 42 ล้านคน ควรมารับการคัดกรองไวรัสตับอักเสบ เนื่องจากคนที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 ยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบ ในปี พ.ศ. 2567 ผลการดำเนินงานคัดกรอง พบว่า คัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ ให้กับประชาชนได้ถึง 2.4 ล้านคน พบผลบวก ไวรัสตับอักเสบ บี 6 หมื่นกว่าคน และไวรัสตับอักเสบ ซี 2 หมื่นกว่าคน หากทุกคนได้รับการรักษา คาดว่าสามารถป้องกันการเป็นมะเร็งตับ 15,600 คน และป้องกันโรคตับแข็ง 32,000 คน ขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ที่โรงพยาบาลทุกแห่งฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย 

นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมาก 1 ใน 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทย สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเอชพีวี นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยรณรงค์ให้หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี จากข้อมูลภาพรวมสตรีไทยที่จะต้องตรวจคัดกรองภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) จำนวน 15,677,638 คน แต่ได้รับการตรวจคัดกรองเพียง 613,254 คน และพบว่ายังมีสตรีไทยที่ไม่เคยไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย จำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน เนื่องจาก มีความเขินอาย การขาดความรู้ความเข้าใจ ความกลัว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพิ่มทางเลือกให้สตรีไทยที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง (HPV Self-Sampling) กระตุ้นให้สตรีกลุ่มเป้าหมายเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ส่งเสริมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมถึง เป็นฐานข้อมูลเชิงระบาดวิทยาของประเทศในการนำไปพัฒนาวัคซีน ให้เหมาะสมกับสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ 

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกต์ อธิบดี กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตและยาเสพติดมีแนวโน้มมากขึ้น โดยสถิติการรับบริการ ปี 2567 มีผู้ป่วยจิตเวช 2.7 ล้านคน 19.14% เป็นผู้ป่วยจิตเวชยาเสพติด  ข่าวเหตุการณ์ความรุนแรงทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต จิตเวชและยาเสพติด พบว่าร้อยละ 47.65 ผู้ก่อความรุนแรงมีประวัติจิตเวชหรือยาเสพติด ผู้ป่วยจิตเวช SMI-V เข้าถึงบริการเพียง 16.32% ปัญหาผู้ป่วยจิตเวช SMI-V จึงจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน การค้นหาและคัดกรองกลุ่มเสี่ยง ด้วย V Scan กระบวนการคัดกรอง การค้นหาเฝ้าระวัง สัญญาณเตือน อาการทางจิตเวชรุนแรงในชุมชน 5 สัญญาณ ได้แก่ 1.ไม่หลับไม่นอน 2. เดินไปเดินมา 3. พูดจาคนเดียว 4.หงุดหงิดฉุนเฉียว 5.เที่ยวหวาดระแวงและนำตัวกลุ่มเสี่ยงเข้าสู่ระบบ Psychiatric Emergency โดยในปีหน้าจะเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้สมัครใจบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดผ่านสายด่วนจิตเวชยาเสพติด 1667 ขับเคลื่อนการจัดบริการหอผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดคุณภาพในเขตสุขภาพ ครบ 100% ผลักดันให้เกิดการจัดบริการจิตเวชทางไกล รวมทั้งคืนคนคุณภาพสู่สังคมอย่างน้อยร้อยละ 10%

พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดี กรมอนามัย กล่าวว่า  กรมอนามัยได้มีการขับเคลื่อนการส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ มีพัฒนาการสมวัย สามารถเข้ารับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาสุขภาพของประชาชนในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูแลสุขภาพมารดาและทารก รวมถึงการให้ความรู้ด้านการวางแผนครอบครัว  การดูแลสุขภาพก่อนและระหว่างการตั้งครรภ์ ให้คำแนะนำและข้อมูลด้านโภชนาการ สนับสนุนยาเฟอร์โรโฟลิก การออกกำลังกาย และการตรวจสุขภาพ เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการตั้งครรภ์  มีคลินิกส่งเสริมการมีบุตรขับเคลื่อนวาระแห่งชาติด้วยมาตรการสนับสนุนให้ผู้ตัดสินใจมีบุตรได้รับการดูแลอย่างครบวงจรและมีคุณภาพ รวมถึงการดูแลสุขภาพของหญิงหลังคลอด การดำเนินงานเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการตั้งครรภ์ด้วยสุขภาพที่ดีและสามารถเลี้ยงดูลูกให้เติบโตเป็นผู้มีคุณภาพในอนาคต

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน มีนโยบาย “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ” มีความสอดคล้องกับการแปลงนโยบาย สู่การปฏิบัติของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงขับเคลื่อนทั้งด้านสมุนไพร และ การนวดไทย โดย พัฒนาสมุนไพรเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ มีมูลค่าตลาดของผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศมากกว่า 56,000 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2566 ดำเนินการครอบคลุมทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีการสร้างงาน สร้างอาชีพ ด้วยการนวดไทย ผ่านการจัดอบรมร่วมกันระหว่างกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและภาคีเครือข่ายแล้วจำนวน 986 ราย สนับสนุนการค้นหา 100 หมอนวดมือทองขั้นเทพ รวมทั้งให้ความสำคัญหมอพื้นบ้านทั่วประเทศ แผนการดำเนินงานในระยะต่อไปจะบูรณาการกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อประชาสัมพันธ์และกระตุ้นนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงสถานประกอบการด้านการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีอัตลักษณ์ความเป็นไทย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และปลอดภัย ขับเคลื่อนการยกระดับสมุนไพร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้แก่ประชาชน เพิ่มความเชื่อมั่นให้ผู้รับบริการนวดไทย จัดทำแผนการผลิตและเพิ่มจำนวนหมอนวดให้สอดคล้องกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ

นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเศรษฐกิจฐานรากสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนได้อย่างถูกต้องจนได้รับการขึ้นทะเบียน รวมทั้งการเป็นหุ้นส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์สมุนไพรในทุกระดับที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการใช้ประโยชน์จากยาสมุนไพรที่มีคุณภาพ เกิดความมั่นคงด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพในประเทศ การให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นคำขออนุญาตทั้งสถานประกอบการ ผลิตภัณฑ์ ฉลาก และโฆษณา ผ่านระบบ e – learning และสื่อประชาสัมพันธ์ e -book “แผนที่นำทาง การพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชนจากฐานรากสู่สากล” ในปี 2567 มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ได้รับการรับรองเลข อย. รวมทั้งประเทศ จำนวน 1,796 รายการ โดยมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ กรณีผลิตภัณฑ์ฯ ได้รับอนุญาต และผลิตวางจำหน่าย 1  ปี อยู่ที่ 2,700 ล้านบาทโดยประมาณ  อย. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรในทุกระดับให้ได้คุณภาพ มาตรฐาน และร่วมกับเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันเดินหน้าเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เศรษฐกิจในชุมชนมีความเข้มแข็ง ส่งต่อให้เศรษฐกิจของประเทศ “มั่นคง” “แข็งแรง” ตลอดไป

นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปี 2567 นี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาศักยภาพ อสม. และภาคีเครือข่าย ในการจัดการสุขภาพตนเองและชุมชน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล” ยกระดับ อสม. ในการดูแลสุขภาพชุมชน ผ่าน “แอปพลิเคชัน Smart อสม.” ให้รายงานผลงาน การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค การคุ้มครองผู้บริโภค และคัดกรองสุขภาพตนเอง เป็นต้น อสม. รายงานผลงานผ่านแอปพลิเคชัน Smart อสม. ได้ 100% ได้คัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุกว่า 7.6 ล้านคน หรือ 74% อีกทั้ง อสม. ยังได้ร่วมปักหมุด กลุ่มเปราะบาง ผ่าน “แอปพลิเคชัน พ้นภัย” ได้กว่า 6,900 ตำบล โดยพบกลุ่มเปราะบางกว่า 450,000 ราย ร่วมกับสภากาชาดไทยและภาคีเครือข่าย ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางกว่า สองแสนราย ในปี 2568 นี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มีแผนพัฒนา อสม. ด้านการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนา อสม. ให้เป็นนักจัดการสุขภาพชุมชน ตรงตามหลักการที่ว่า “แม้เราเป็นชาวบ้าน เราก็สามารถดูแลสุขภาพของพวกเรากันเองได้”

นพ.จเด็จ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2567 ได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ในการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยได้ร่วมขับเคลื่อนตามนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่” ในปีนี้ทางสำนักงานฯ ได้จับมือกับสภาวิชาชีพทางการแพทย์ ทั้ง 7 สภาวิชาชีพ ในเข้าร่วมขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการนวัตกรรม” ที่ผ่านมาได้รับเสียงตอบรับด้วยดีจากประชาชน ล่าสุดมี “หน่วยบริการนวัตกรรม” ที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว จำนวน 9,713 แห่ง ประชาชนเข้ารับบริการแล้วจำนวน 4,271,589 คน โดยเป็นจำนวน 9,586,193 ครั้ง ผลสำเร็จจากนโยบายในปีนี้ เบื้องต้นได้ลดระยะเวลาการเข้ารับบริการเกินกว่าครึ่ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉลี่ย 160 บาทต่อครั้ง ลดการขาดงานของญาติและผู้ป่วย และสามารถใช้บริการที่หน่วยบริการนวัตกรรมใกล้บ้านได้ ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล สามารถรับบริการนอกเวลาราชการ โดยแนวทางการดำเนินงานนี้ สปสช. จะเป็นแนวทางการพัฒนาต่อยอดในปีงบประมาณ 2568 อย่างต่อเนื่องต่อไป

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช. ดำเนินนโยบายดังกล่าวร่วมกับองค์กรหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาระบบบริการดูแลระยะสุดท้ายที่เชื่อมโยงจาก รพ. สู่ชุมชนในพื้นที่เขตสุขภาพ 7 พื้นที่ เพื่อให้เกิดต้นแบบในการนำไปขยายผล สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข ในเรื่อง Palliative Care /Advance Care Plan/ Living Will ส่งผลให้ผู้ป่วยที่เข้าสู่ระบบการดูแลแบบประคับประคองมีการทำหนังสือแสดงเจตนาในระยะสุดท้ายร้อยละ 59.09และ จัดเวทีสาธารณะสุขภาวะระยะท้าย “สร้างสุขที่ปลายทาง” ทำให้ภาคประชาชน และผู้นำชุมชน ในเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต เกิดการรับรู้และต้องการทำ living will ถึงร้อยละ72.25  ประชาชนสามารถเข้าถึงการดูแลระยะสุดท้ายของชีวิตที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน รวมทั้งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในระยะสุดท้ายที่ไม่จำเป็นของผู้ป่วยลดลง ไม่สร้างภาระให้กับครอบครัว และลดภาระค่าใช้จ่ายของระบบสุขภาพในภาพรวมของประเทศศาสตราจารย์พิเศษ ดร. นพ. วิชัย เทียนถาวร อธิการบดีสถาบันพระบรมราชชนก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วิสัยทัศน์ของสถาบันฯ จะเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกที่ผลิตบุคลากรด้านปฐมภูมิเป็นหลัก มติครม.เห็นชอบผลิต 9 หมอ จากงบประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี บรรจุปี 68 เป็นต้นไป โดยมีการลงนามเอ็มโอยูกับหลายกระทรวง มีการเรียนการสอนเรื่องสร้างสุขภาวะป้องกันโรค NCDs เปลี่ยนโรคให้เป็นการส่งเสริมสุขภาพ 3 อ. อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย 2 ปีที่ผ่านมาสามารถลดความดันลง ลดงบประมาณ 472 ล้านบาท

เรืออากาศเอก อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานที่สำคัญในปี พ.ศ.2567 นอกจาก One Region One Sky doctor ที่บรรลุทุกเขตสุขภาพแล้ว ยังมีผู้ป่วยฉุกเฉินที่ ได้รับการปฏิบัติการทางบก จำนวน 2,045,557 ครั้ง ปฏิบัติการทางน้ำ จำนวน 2,642 ครั้ง ปฏิบัติการทางอากาศ จำนวน 185 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ทางทะเลและพื้นที่ห่างไกลรวมถึงพื้นที่ท่องเที่ยวที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและสร้างความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว มีจำนวนผู้ป่วยวิกฤติ 452,677 ราย มีจำนวนผู้รอดชีวิต 446,302 ราย คิดเป็น 98.6% นอกจากนี้การสร้างความตระหนักรู้ด้านการแพทย์ของประชาชน โดยการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ชุมชนในการสอนให้ประชาชนสามารถประเมินภาวะฉุกเฉิน การแจ้งเหตุผ่าน1669 

 องค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า  เรามีผลิตภัณฑ์ที่สำคัญคือยาต้านไว้รัสเอดส์ ปีที่ผ่านมามีดาราวีที่ผลิตได้มากกว่า 100 ล้านเม็ด นอกจากนี้ยังมีการผลิตวัคซีน ในอนาคตมีแผนที่จะพัฒนาเซลล์เบส ส่วนสมุนไพรมียารักษาโรครักษาโรคปวดเข่า ธารัสซียเมีย ด้วย ปีนี้รายได้รวม 2 หมื่นบ้าน แผนไทย 100 ล้านบาท ตั้งเป้า 300ล้านบาท

นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า   นโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยมีความมั่นคงด้านวัคซีน ประชาชนทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงการป้องกันโรคด้วยวัคซีนที่มีคุณภาพ อย่างทั่วถึง เป็นธรรม ด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ประการ ทั้งการพัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การสนับสนุนการวิจัยพัฒนาและอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีน การพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายปัจจุบัน งานด้านวัคซีนได้รับการพัฒนา เสริมศักยภาพ และมีความก้าวหน้าโดยลำดับ โดยมีวัคซีนที่ผลิตในประเทศและได้รับอนุมัติทะเบียนแล้ว จำนวน 6 ชนิด ได้แก่ วัคซีน BCG วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า วัคซีนรวมป้องกันโรคไอกรนชนิดไร้เซลล์ (aP) วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ ไอกรนบาดทะยัก (Tdap) วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดสามสายพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนและชีววัตถุที่อยุ่ระหว่างการวิจัยพัฒนาเพื่อต่อยอดสู่ระดับอุตสาหกรรม อาทิเช่น วัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 (mRNA, Subunit vaccine) วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดสี่สายพันธุ์ วัคซีนเดงกี่ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ผลิตภัณฑ์Botulinum Antitoxin เป็นต้น สถาบันยังคงมุ่งมั่น พัฒนา ยกระดับงานด้านวัคซีนของประเทศ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

นพ.ทรนง พิลาลัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลในนามตัวแทนของสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 ซึ่งได้นำแนวคิดการพัฒนาและรับรองคุณภาพที่เป็นสำกล และได้รับการยอมรับทั้งในประเทศและนานาชาติ ใน 3 ประเด็นขับเคลื่อนสำคัญ “โรงพยาบาล HA โรงพยาบาลคุณภาพ” ผลการดำเนินงานด้านการรับรองการพัฒนาคุณภาพสถานพยาบาล (HA Accreditation) และใช้กระบวนการรับรองคุณภาพอย่างชาญฉลาด ครอบคลุมสถานพยาบาล ให้มีการยกระดับ และพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยของประชาชนในระบบบริการสุขภาพ”

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส. เป็นหน่วยงานรัฐที่มีภารกิจในการสร้างองค์ความรู้จากการวิจัยด้านระบบสุขภาพ เพื่อนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบาย โดยเรามีการวิจัยประเมินนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ทำอย่างไรจะดีต่อประชาชน นอกจากนี้ยังมี การ “วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสุขภาพทางไกลด้วย V-OPD” เพื่อการเข้าถึง พร้อมดูเเลผู้ป่วยเบาหวาน-ความดันต่อเนื่องลดการแออัดในโรงพยาบาล การตรวจปัสสาวะด้วยตัวเอง เพื่อหาค่าไต่ด้วยตัวเอง

พญ.พรรณสมร ภู่ไพบูลย์จักษุแแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตาและการแก้ไขสายตาผิดปกติ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว กล่าวว่า นำเสนอการผ่าตัดต้อกระจกเคลื่อนที่ เป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะตาบอดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งหน่วยผ่าตัดเคลื่อนที่ของรพ. เป็นหน่วยผ่าตัดเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกจากการออกหน่วยในประเทศแล้ว ยังได้มีการออกหน่วยไปช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ในต่างประเทศ ความมุ่งมั่นทุ่มเทส่งผลให้ในปี 2566 ทางโรงพยาบาลได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นหน่วยแพทย์พระราชทาน โครงการราษฎรสุขใจ พลานามัยสมบูรณ์ โดยสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และแพทย์อาสา ระยะเวลากว่า 20 ปี ได้เดินทางออกหน่วยไปยังรพ.พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ  มีรถห้องผ่าตัดเคลื่อนที่สำหรับโรงพยาบาลที่มีห้องผ่าตัดไม่เพียงพอ สามารถผ่าตัดสูงสุดได้ 300 รายต่อวัน