จัดให้เป็นมหาวาตภัยที่สำแดงพิษอย่างร้ายเหลือ

สำหรับ “พายุไต้ฝุ่นยางิ” ซึ่งแม้ว่าเริ่มก่อตัวในทะเลจีนใต้มาตั้งแต่ช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม ก่อนพัดถล่มเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ตามพื้นที่ในประเทศต่างๆ ตั้งแต่ประเทศที่เป็นหมู่เกาะอย่างฟิลิปปินส์ จากนั้นเคลื่อนตัวมายังแผ่นดินใหญ่ของภูมิภาคเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีนตอนใต้ และเวียดนาม ก็สร้างความภินท์พังให้แก่พื้นที่ของเหล่าประเทศที่พายุพัดกระหน่ำ อันเป็นผลจากแรงกระหน่ำของความเร็วลมที่มีมากถึง 260 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จนถูกจัดเป็นพายุระดับ “ซูเปอร์ไต้ฝุ่น” เทียบได้กับพายุเฮอร์ริเคนระดับ 5 และเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติที่ผ่านมา ก็พบว่า พายุไต้ฝุ่นยางิ ได้ถาโถมพัดถล่มพื้นที่ในหลายประเทศของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ของจีน ด้วยขนาดเร็วลมรุนแรงที่สุดเป็นลำดับที่ 4 ตลอดช่วงระยะเวลา 70 ปีที่ผ่านมาเลยทีเดียว

โดยเป็นรองพายุไต้ฝุ่นพาเมลา เมื่อปี 1954 (พ.ศ. 2497) พายุไต้ฝุ่นรามสูร เมื่อปี 2014 (พ.ศ. 2557) และพายุไต้ฝุ่นราอี เมื่อปี 2021 (พ.ศ. 2564)

ส่วนประเทศที่กระทบแต่เพียงหางๆ ของพายุ หรือได้รับอิทธิพลจากพายุ ก็ถูก “ยางิ” เล่นงานจนเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติไปตามๆ กัน

นั่นคือ เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน จนทำให้เกิดน้ำท่วมสูงฉับพลัน และดินโคลนถล่ม เป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ตามมา

ไม่ว่าจะเป็นจีนตอนใต้ และเวียดนาม ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพายุ และประเทศที่ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ เช่น เมียนมา ไทย ลาว รวมไปถึงกัมพูชา ล้วนประสบกับความหายนะจากอิทธิพลของพายุลูกนี้ โดยต่างตกอยู่ในสภาพจมน้ำ จมดินโคลนไปตามๆ กัน เบ็ดเสร็จรวมแล้ว 8 ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่นลูกนี้

ทั้งนี้ ตามที่มีรายงานในหน้าข่าวต่างๆ ก็ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตจากพายุไต้ฝุ่นและอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นลูกดังกล่าวไปแล้วเกือบ 800 ราย ในจำนวนนี้เป็นเมียนมามากที่สุดถึง 384 ราย หรือเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว รองลงมาได้แก่เวียดนาม ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิต 303 ราย ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บโดยรวมอีกเกือบ 2,200 ราย สูญหายอีกราว 150 ราย พร้อมกันนี้ บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างรวมแล้วกว่า 3 แสนหลังได้รับความเสียหาย ซึ่งเมื่อคิดเป็นตัวเงินของความเสียหายทั้งหมดทั้งมวล ก็ประเมินกันว่าอยู่ที่ราวๆ 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ พิษภัยของมหาวาตภัยไต้ฝุ่นยางิ ยังส่งผลกระทบต่อพวกเด็กๆ ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ อีกเป็นจำนวนมากอีกด้วย ทั้งจากแรงลมที่พัดกระหน่ำ น้ำท่วมสูงฉับพลัน และดินโคลนถล่ม อันสืบเนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักและต่อเนื่องจากอิทธิพลของซูเปอร์ไต้ฝุ่นยางิลูกนี้

ตามการเปิดเผยของ “องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูนิเซฟ” ระบุว่า มีเด็กๆ ของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้รับผลกระทบ หรือได้รับความเดือดร้อนจากพายุไต้ฝุ่นยางิ รวมแล้วราว 6 ล้านคนด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นในฟิลิปปินส์ ประเทศที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ หรือประเทศในแผ่นดินใหญ่ ภาคพื้นทวีป อย่างเมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม เป็นต้น

นอกจากนี้ ก็คาดการณ์กันว่ายังมีที่กัมพูชา เพราะถูกน้ำท่วมด้วยเหมือนกัน ในฐานะกลุ่มประเทศปลายแม่น้ำโขงที่เอ่อท่วมล้นตลิ่ง แต่ยังไม่มีรายงานตามหน้าสื่อออกมา

ตามการเปิดเผยของยูนิเซฟ ระบุว่า จากน้ำที่ท่วมและดินโคลนที่ถล่มลงมาทำลายบ้านเรือน และสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย ก็ส่งผลให้บรรดาเด็กๆ ในเมียนมา ไทย ลาว และเวียดนาม มีความเสี่ยงที่จะถูกตัดขาดในการที่จะเข้าถึงด้านการศึกษา อาหาร น้ำสะอาด การรักษาพยาบาล หรือบริการสาธารณสุขต่างๆ ตลอดจนบริการอื่นๆ ที่จำเป็น รวมถึงที่พักพิงที่ปลอดภัย

เด็กๆ ในกรุงเนปิดอว์ ต้องอพยพไปกับครอบครัว หลังเมืองหลวงของเมียนมาแห่งนี้ ประสบกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ เพราะพายุไต้ฝุ่นยางิ (Photo : AFP)

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กๆ ในพื้นที่ชุมชนยากจน ทางยูนิเซฟ ห่วงใยเป็นอย่างมาก ที่จะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ที่หนักยิ่งขึ้น

นางจูน คูนูกิ ผอ.ยูนิเซฟ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เปิดเผยว่า เด็กๆ และครอบครัวกลุ่มเปราะบางของพวกเขา ต้องประสบกับผลกระทบของมหาวาตภัยครั้งนี้หนักที่สุด ดังนั้น ความสำคัญเร่งด่วน ณ เวลานี้ก็คือ การเร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่ประสบภัย โดยเฉพาะการให้บริการขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กๆ ของครอบครัวกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ สามารถเข้าถึงอาหาร น้ำสะอาด การศึกษา ตลอดจนการรักษาพยาบาล บริการสาธารณสุขต่างๆ

รายงานข่าวเปิดเผยว่า น้ำที่ท่วมหนัก และดินโคลนที่ถล่มอย่างรุนแรง จากอิทธิพลของพายุไต้ฝุ่นที่ก่อให้เกิดฝนตกหนักลงมาอย่างต่อเนื่องนั้น สร้างความเสียหายแก่โรงเรียนในประเทศต่างๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 850 แห่ง และสถานที่ให้บริการด้านสุขภาพอีกมากกว่า 550 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ประเทศเวียดนาม

โดยที่เวียดนามนี้ ก็ยังมีตัวเลขของประชาชนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอีกต่างหากด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประสบภัยในครั้งนี้ โดยมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนด้วยกัน

เด็กๆ ชาวเวียดนาม ในกรุงฮานอย ต้องใช้ไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือ เป็นแสงสว่างระหว่างการปรุงอาหาร เนื่องจากพายุไต้ฝุ่นยางิพัดถล่ม จนทำให้ไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง (Photo : AFP)

ในจำนวนข้างต้น ปรากฏว่า เป็นเด็กถึงกว่า 2 ล้านคน ถูกระบุว่า ยังไม่สามารถเข้าการศึกษา การได้รับอาหารกลางวันตามโครงการในโรงเรียนต่างๆ รวมไปถึงการดูแลฟื้นฟูจิตใจของพวกเขา หลังจากที่พวกเขาต้องประสบกับภัยมาจนเสียขวัญ

ส่วนที่เมียนมา ต้องถือว่าเป็นผู้ประสบภัยแบบเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เพราะก่อนหน้านั้น ก็ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาความไม่สงบภายใน ถึงขั้นมีการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกองกำลังติดอาวุธของชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ แล้ว ก็ยังมาประสบกับภัยธรรมชาติซ้ำเติมชะตากรรมของพวกเขาอีก

นอกจากยูนิเซฟ ปรากฏว่า ทางสหพันธ์กาชาดสากล หรือเอฟอาร์ซี ก็วิตกกังวลต่อสถานการณ์เด็กๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะเด็กๆ ในเวียดนามและเมียนมา พร้อมกับร้องของบประมาณ 6.5 ล้านฟรังก์สวิส หรือราว 7.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อมาเยียวยาฟื้นฟูต่อบรรดาเด็กที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุไต้ฝุ่นยางิในครั้งนี้