สถานการณ์ในเมียนมา เจ้าของฉายาแดนหม่อง อาจเรียกได้ว่า เป็น “เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด” คือ เลวร้ายหลายระลอกด้วยกัน

ลำพังก่อนหน้าหลายทศวรรษที่ผ่านมา ก็ถึงขนาดถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ยากจนที่สุดชาติหนึ่ง พร้อมกับเรียกขานเปรียบเปรยว่า เป็น “ฤาษีแห่งอุษาคเนย์” แม้ผืนแผ่นดินของพวกเขาจะอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนแร่รัตนชาติอันล้ำค่า เช่น หยก เป็นต้น แต่ทว่า ก็ทำให้ร่ำรวยแต่เฉพาะเพียงบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น โดยประชาชนกลุ่มใหญ่ยังยากจน ต้องทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องไปทำมาหากินในต่างแดน อย่างในไทยเรา เป็นอาทิ

พร้อมๆ กันนั้น เมียนมาก็เผชิญหน้ากับการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลกลาง กับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมาที่จัดตั้งเป็นกองทัพ เช่น กองทัพยะไข่ กองทัพกะฉิ่น กองทัพกะเหรี่ยง และพวกว้า เป็นต้น ซึ่งก็ต้องบอกว่า เมียนมาประสบกับความยากลำบากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เมื่อประเทศเข้าสู่วงจรอุบาทว์ เกิด “รัฐประหาร” ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 (พ.ศ. 2564) นับตั้งแต่นั้น เมียนมา ก็ไม่ผิดอะไรกับการดิ่งถลำลงสู่ “กลียุค” อย่างไรอย่างนั้น

ทั้งนี้ เพราะเกิดการต่อต้านกองทัพ ที่ออกมาทำรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลพลเรือนขวัญใจของพวกเขา อย่าง “ออง ซาน ซูจี” ซึ่งการต่อต้านก็มีขึ้นแทบจะถ้วนทั่วทุกหัวระแหง ทั้งในเมืองหลวง เมืองใหญ่ และลุกลามไปจนถึงชนบทอันห่างไกล

การเตรียมความพร้อมก่อนปะทะกันระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมากับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ในเมียนมา ในสงครามกลางเมือง (Photo : AFP)

นอกจากนี้ การต่อต้านก็ยังบานปลายกลายเป็น “สงครามกลางเมือง” จากการที่ฝ่ายต่อต้าน จัดตั้งเป็นกองกำลังติดอาวุธขึ้นมา พร้อมกับไปจับมือกับชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มาสู้รบกับกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งปรากฏว่า สามารถสั่นคลอนเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลทหารเมียนมาได้มิใช่น้อย หลังจากที่กองกำลังติดอาวุธเหล่านั้น สามารถเอาชนะกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมาได้ในหลายพื้นที่ แม้ว่ากองทัพรัฐบาลทหารเมียนมา ใช้ปฏิบัติการโจมตีทางอากาศเข้าใส่เป้าหมายฝ่ายตรงข้ามกันก็ตาม

ความเสียหายในเมืองแห่งหนึ่งของเมียนมา จากการสู้รบระหว่างกองทัพรัฐบาลทหารเมียนมา กับกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งจับมือกับฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร จนส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไป (Photo : AFP)

ทว่า การสู้รบในสงครามกลางเมืองของเมียนมาข้างต้น ก็ส่งผลกระทบต่อประชาชนชาวเมียนมาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านมนุษยธรรมที่ถลำจากการเป็นปัญหากลายเป็นความวิกฤติบังเกิดขึ้น ถึงขั้นประชาชนชาวเมียนมาจำนวนมาก ต้องอพยพหลบหนีไปยังต่างแดน เช่น ไทยเรา เป็นต้น เป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสภาพสถานการณ์ภายในเมียนมาได้เป็นอย่างดีว่า กำลังวิกฤติด้านมนุษยธรรมมากน้อยเพียงใด

ถึงขนาด “สหประชาชาติ” หรือ “ยูเอ็น” จัดทำรายงานและเผยแพร่เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2024 (พ.ศ. 2567) โดยมีเนื้อหาว่า เมียนมากำลังเผชิญกับวิกฤติมนุษยธรรมอย่างหนัก จนส่งผลทำให้ประชาชนชาวเมียนมาต้องตกอยู่ในสภาวะยากจนมากขึ้น อันเป็นผลมาจาก “สงครามกลางเมือง” ที่พวกเขาเผชิญ ส่งผลกระทบทำให้เป็นไป

โดยสงครามกลางเมืองสร้างความเสียหายเป็นประการต่างๆ แก่ประชาชนชาวเมียนมาจำนวนหลายสิบล้านคน ต้องทนทุกข์ทรมาน

ทางโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพี ได้ประเมินว่า จำนวนเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรชาวเมียนมาทั้งหมดกว่า 54 ล้านคน ต้องตกอยู่ในสภาพที่ตกต่ำกว่าเส้นแบ่งเขตความยากจนด้วยซ้ำ โดยมีตัวเลขที่แน่ชัดก็คือ ร้อยละ 49.7 ของประชากรพลเมืองเมียนมาทั้งหมดเลยทีเดียว ที่มีรายได้น้อยกว่า 76 เซนต์ คือไม่ถึง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วยซ้ำ ซึ่งตัวเลขของจำนวนประชากรที่ยากจนข้างต้นนั้น เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปี 2017 (พ.ศ. 2560) ถึง 2 เท่าด้วยกัน

จนสามารถกล่าวได้ว่า เพราะ “สงครามกลางเมือง” ได้พ่นพิษทำให้วิกฤติด้านมนุษยธรรมเพิ่มขึ้นในเมียนมาโดยแท้

ล่าสุด สถานการณ์วิกฤติด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ก็กำลังทวีความเลวร้ายหนักขึ้น เมื่อปรากฏว่า เมียนมาได้เผชิญกับภัยพิบัตทางธรณีวิทยา หรือแผ่นดินไหวเข้าเล่นงาน เมื่อวันศุกร์สัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยเป็นเหตุแผ่นดินไหวอย่างรุนแรง ที่ทางสำนักงานด้านธรณีวิทยาแห่งชาติสหรัฐฯ ออกมาระบุว่า วัดแรงสั่นสะเทือนได้ถึง 7.7 ตามมาตราริกเตอร์ และลึกลงไปในชั้นใต้ดินราว 10 กิโลเมตร โดยมีจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ใกล้กับเมืองสะกาย ของเมียนมา

แรงสั่นสะเทือน นอกจากคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วนับพันศพ ซึ่งหลายคนคาดว่า อาจจะถึงเรือนหมื่น สำหรับความสูญเสียในชีวิตของผู้คนชาวเมียนมา เพราะยังมีผู้ที่ติดใต้ซากปรักหักพังของอาคารบ้านเรือนอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ เช่นเดียวกับผู้บาดเจ็บที่มีจำนวนหลายพันคน และสูญหายอีกหลายพันคนเช่นกัน

ชาวเมียนมาในเมืองมัณฑะเลย์ ต้องอาศัยถนนเป็นพื้นที่หลับนอน เพราะบ้านเรือนของพวกเขาได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว (Photo : AFP)

ตามการประเมินของหน่วยงานระหว่างประเทศ ก็ระบุว่า 18 ล้านคนของชาวเมียนมาได้รับผลกระทบทันทีจากเหตแผ่นดินไหวครั้งนี้ จากการดำรงชีพด้วยปัจจัย 4 ต่างๆ ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย โดยประชาชนชาวเมียนมา ต้องอาศัยหลับนอนตามริมถนนหนทางต่างๆ เป็นต้น เช่นเดียวกับ อาหารการกินที่ขาดแคลน รวมถึงยารักษาโรคการรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ และผู้ป่วยอื่นๆ ตลอดจนสุขอนามัยต่างๆ หลังเหตุแผ่นดินไหวนับจากนี้ จากซากศพของผู้เสียชีวิตที่ยังคงติดค้างตามซากปรักหักพังของอาคารต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยยังไม่สามารถนำร่างของผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้นออกมาได้ จนหวั่นเกรงว่า อาจจะก่อให้เกิดโรคระบาดต่างๆ ตามมา เหมือนกับหลายๆ พื้นที่ที่ประสบกับแผ่นดินไหวในประเทศอื่นๆ เช่น เฮติ เป็นต้น ไม่นับเรื่องระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น ถนนหนทางภินท์พังไปกับเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น

ผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากในเมียนมา ต้องนอนพักรักษาตัวนอกโรงพยาบาลในสภาพที่แออัด (Photo : AFP)

ถึงขนาดที่เหล่าผู้บริหารของ “สหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ” หรือ “ไอเอฟอาร์ซี” ออกมาเตือนด้วยความวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งว่า นี่! มิใช่ภัยพิบัติธรรมดาๆ แต่เป็นวิกฤติด้านมนุษยธรรมที่ซับซ้อน ซึ่งทวีทับถมกับปัญหาความเปราะบางในเมียนมาที่หนักหนาสาหัสสากรรจ์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติ ที่หลายคนหวั่นเกรงว่า อาจจะไปไม่ถึงมือประชาชนผู้ประสบภัยที่แท้จริง หากผ่านทหารเมียนมา (Photo : AFP)

นอกจากนี้ หลายฝ่ายก็มีความห่วงใยในเรื่องความช่วยเหลือจากนานาชาติว่า จะตกถึงมือประชาชนชาวเมียนมามากน้อยเพียงใด เพราะต้องผ่าน “ทหาร” อันเป็นรัฐบาลผู้ปกครองกันเสียก่อน