เมื่อวันที่ 26 ก.ย.67 พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. สั่งการ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.พงศ์ปณต ชูแก้ว ผกก.6 บก.ป. พ.ต.ต.จอมพฤทธิ์ แก้วเรือง สว.กก.6 บก.ป.สนธิกำลัง กก.1 บก.ป., กก.2 บก.ป. และ กก.3 บก.ป. เปิดปฏิบัติการ “ทลายเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ รวบพนักงานและบัญชีม้า หยุดวงจรคอลเซ็นเตอร์” สามารถจับกุม ผู้ต้องหาได้จำนวน 12 ราย ประกอบด้วย น.ส.สุธาทิพย์ อายุ 24 ปี , นายบริพัฒน์ อายุ 30 ปี ,นายสุพจน์ อายุ 43 ปี, นายนวพล อายุ 19 ปี , นายวรโชติ อายุ 37 ปี , น.ส.นวลจันทร์ อายุ 43 ปี นายสิทธิชัย อายุ 28 ปี ,นายพีรพล อายุ 30 ปี, นายธมล อายุ 29 ปี , นางจุฑาทิพย์ อายุ 36 ปี ,น.ส.ณัฐกานต์ อายุ 45 ปี และ น.ส.กชพร อายุ 40 ปี หลังกระจายกำลังเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวน 9 จุด ในพื้นที่ กทม. ,ชลบุรี ,ปราจีนบุรี , สระแก้ว และ จ.นครราชสีมา
สืบเนื่องจากเมื่อประมาณปลายปี 2566 แก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้โทรหาผู้เสียหาย อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก่อนออกอุบายว่าบัญชีธนาคารของผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จากนั้นได้วิดีโอคอลหลอกให้ผู้เสียหายโอนเงินเข้าบัญชีของคนร้ายเพื่อตรวจสอบ รวม 19 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 927,982 บาท เมื่อผู้เสียหายทราบว่าถูกหลอกลวง จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (AOC) ของ บช.ก.
จากการสืบสวนทราบว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์กลุ่มนี้กระทำความผิดในลักษณะองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติใช้ฐานปฏิบัติการในประเทศเพื่อนบ้าน จึงรวบรวมหลักฐานขอศาลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง จำนวน 14 ราย ก่อนนำกำลังจับกุมได้จำนวน 12 ราย ส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นพนักงานและบัญชีม้า พร้อมตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและบัญชีธนาคารที่ใช้ในการหลอกลวงเหยื่อดังกล่าว
จากการสอบสวนหนึ่งในผู้ต้องหาที่เป็นพนักงานคอลเซ็นเตอร์ให้การว่า ทำงานให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ที่ตึกแห่งหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติรวม 50 คน ซึ่งจะมีชายคล้ายชาวจีนเป็นหัวหน้าคอยควบคุมสั่งการ โดยกลลวงที่ใช้หลอกลวงก็จะแตกต่างกันไป เช่น ข่มขู่ทางโทรศัพท์ให้เกิดความกลัวแล้วหลอกให้โอนเงิน, หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อทำงานหารายได้พิเศษ, หลอกลวงให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์, หลอกลวงให้โอนเงินเพื่อรับรางวัล, หลอกลวงทางแอปพลิเคชันหาคู่ เป็นต้น
ผู้ต้องหากล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังจะมีการแบ่งหน้าที่ของพนักงานที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย เช่น ผู้ทำหน้าที่รับสมัครเหยื่อ, ผู้ทำหน้าที่เป็นหน้าม้าคอยปั่นกลุ่มในแอปพลิเคชันไลน์เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเพื่อให้เหยื่อหลงเชื่อ, ผู้ทำหน้าที่รับสายเหยื่อ, ผู้ทำหน้าที่หลอกลวงเหยื่อหรืออาจารย์ที่จะคอยแจกสคริปต์ให้ในทีม แล้วหลอกลวงเอาเงินจากเหยื่อ, ผู้ทำหน้าที่ยิงแอดโฆษณาตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ,ผู้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเงิน และ นายหน้าจัดหาบัญชีม้าซึ่งจากการตรวจสอบพบว่านายหน้าในคดีดังกล่าวมีการขายบัญชีคนไทยไปกว่า 100 บัญชี
รายงานแจ้งว่า จากการตรวจสอบบัญชีของคนร้ายในคดีนี้ พบว่ามีความเกี่ยวพันกับคดีคอลเซ็นเตอร์อื่น ๆ ที่ได้มีการแจ้งความไว้ในระบบรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กว่า 300 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 110 ล้านบาท
เบื้องต้นแจ้งข้อหา “ร่วมกันฟอกเงิน และสมคบกันฟอกเงิน, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ, มีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และอั้งยี่” ก่อนนำตัวส่งพนักงานสอบสวน บก.ป.พร้อมขยายผลจับกุมผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่อไป