วันที่ 26 ก.ย.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานกาประชุม พิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายเซีย จำปาทอง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน(ปชน.)ถาม รมว.แรงงาน เรื่องการกำหนดอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ ที่มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขึ้นต่ำ 600 บาทต่อวันภายในปี 70 ซึ่งเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาล และเมื่อได้เป็นรัฐบาลนโยบายที่ใช้หาเสียงก็ควรนำมาเป็นนโยบายที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาค่าจ้างเพื่อให้แรงงานได้มีค่าจ้างที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ซึ่งรมว.แรงงานก็รับนโยบายมาปฏิบัติ และมักให้สัมภาษณ์ว่าจะปรับค่าแรงตามลำดับ ทำให้พี่น้องแรงงานตั้งตารอ และนับตั้งแต่ปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ม.ค.56 จนถึงปัจจุบัน รวม 11 ปีแล้ว ซึ่งมีการรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 6 ครั้งเท่านั้น แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นถี่กว่าค่าแรงด้วยซ้ำ
ที่สำคัญเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 67 รมว.แรงงาน ประกาศว่าจะมีการปรับค่าแรงขึ้นต่ำทั่วประเทศ เป็น 400 บาทต่อวันแน่นอนในวันที่ 1 ต.ค. 67 และนายกฯแถลงนโยบายต่อสภา ยืนยันว่าการปรับอัตราค่าแรงเป็น 400 บาททันแน่นอน แต่ก็เทผู้ใช้แรงงานอย่างน้อย 4 ครั้ง เพราะการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างล่ม ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นทั้งที่ทุกคนก็รู้ว่าจะมีการประชุมเพื่อปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
นายเซีย กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลที่ไม่เข้าร่วมประชุม ที่สำคัญอธิบดีกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน ตนสงสัยว่าอธิบดีฯมีภารกิจอื่นใดที่สำคัญกว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากรมว.แรงงาน จึงละทิ้งหน้าที่ไม่ยอมเข้าร่วมประชุม เรื่องนี้รมว.แรงงาน ได้สอบถามหรือไม่ หรือเป็นการวางแผนเล่นละครตบตาพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ตนหวังว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น ทั้งนี้ตนยังมีคำถามว่าผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ในคณะกรรมการค่าจ้างที่ผ่านมาเข้าร่วมประชุมตลอด แต่เมื่อวันที่ 20 ก.ย. กลับบอกว่าไม่ได้เป็นตัวแทนของธปท.แล้ว โดยบอกว่าต้องรอให้มีการแต่งตั้งตัวแทนคนใหม่ก่อนจึงจะสามารถประชุมได้
“พี่น้องผู้ใช้แรงงานฝากผมมาว่านี่เป็นการเมืองเล่นละครตบตากันใช่หรือไม่ เล่นละครเพื่อบ่ายเบี่ยง การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใช่หรือไม่การประชุมจึงล่มแล้วล่มอีก ผมขอถามจากใจว่ารัฐมนตรีมีความมุ่งมั่นที่จะปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาทจริงๆ หรือไม่และปรับขึ้นเมื่อไหร่ และกลุ่มเอสเอ็มอีจะมีการปรับหรือไม่” นายเซีย กล่าว
ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน ชี้แจงว่า ยืนยันว่าตนมีความตั้งใจที่จะปรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในวันที่ 1 ต.ค.67 แต่ตนเชื่อว่า ผู้ใช้แรงงานคงทราบดีว่าเจตนารมย์ของรัฐบาลตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน ที่กำหนดไว้ในนนโยบายว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำที่ 600 บาทในปี 70 ซึ่งตนยึดถือมาโดยตลอด ถึงแม้จะเปลี่ยนนายกฯ เป็นน.ส.แพทองธาร ชินวัตร แม้จะไม่ได้กำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ในนโยบาย แต่ตนถือว่าสิ่งที่รับโจทย์มาจากรัฐบาลนายเศรษฐา ตนมั่นใจและพร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป
และการประชุมไตรภาคีเพื่อพิจารณาเรื่องค่าจ้างหากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยที่ผู้เข้าร่วมประชุมไม่ครบ 2 ใน 3 เราก็ไม่สามารถที่จะเปิดประชุมได้ เพราะฉะนั้นในวันที่ 16 ก.ย.ทุกคนก็ทราบว่าฝ่ายนายจ้างไม่เข้าร่วมประชุมทั้ง 5 คน และวันที่ 20 ก.ย.มีกาปรระชุมอีกครั้ง หากผู้เข้าประชุมครบ 2 ใน3 เราสามารถโหวตได้ทันที แต่ก็ไม่สามารถประชุมได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่นอกเหนือสิ่งที่ตนกำกับหรือบังคับได้ เพราะรมว.แรงงาน ไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงและเข้าไปนั่งในห้องประชุมได้ และการที่ตนให้สัมภาษณ์ เป็นการให้นโยบายไม่ใช่การแซกแซง
“การที่มีผู้มาประชุมไม่ครบในวันที่ 20 ก.ย.หากจะพูดว่าเป็นเทคนิคก็ได้เพราะ หากมีการประชุม ผมเชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะหมดได้แต่ถ้ามีการโหวตในวันนั้นฝ่ายนายจ้างยืนยันคัดค้านทั้ง 5 คน ฝ่ายรัฐบาลถ้ามีครบนอกเหนือจากตัวแทนธปท.ไม่เข้าประชุม ผมก็ขอถามสมาชิกว่าถ้ามีการประชุมในวันนั้น ผู้ที่จะเสียหายคือกลุ่มใด แน่นอนว่าอย่างไรฝ่ายนายจ้างก็ไม่อยากขึ้นค่าแรง เพราะสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้พวกเราทุกคนทราบ สิ่งที่เพิ่มต้นทุนให้กับฝ่ายนายจ้างคือดอกเบี้ยที่สูงเกินความจริงนอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อ
ซึ่งผมคิดว่าในรัฐบาลมีหลายฝ่ายที่พยายามจะเจรจากับทางธปท.ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะสามารถลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือฝ่ายนายจ้างซึ่งตลอดเวลาธปท.อ้างว่า หนี้สินครัวเรือนเราสูงมาก ผมไม่เถียง แต่ถามว่าวันนี้ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของภาครัฐ มีปล่อยกู้ให้ใครได้บ้าง เต็นท์รถมือสองทยอยปิดตัวเองตลอดเวลา และการยึดรถมีการยึดมาจนล้นลานจอดรถ” นายพิพัฒน์ กล่าว
นายพิพัฒน์ ชี้แจงอีกว่า การที่เราปรับไซส์แรงงาน 200 คน แรงงานไทยได้ประโยชน์ประมาณ 1.7 ล้านคน แรงงานต่างด้าว 5.4 แสนคน ฝ่ายนายจ้างก็จะได้รับผลกระทบ ฝ่ายนายจ้างก็จะได้รับผลกระทบต่อคนประมาณ 72.78 บาท กระทบค่อนข้างรุนแรงอยู่แล้วหากถามว่าเราพักภาระตรงนี้ไปให้กับเอสเอ็มอีหรือไม่และถ้าเอสเอ็มอีล้ม ความรับผิดชอบก็ต้องอยู่ที่กระทรวงแรงงานเพราะประกาศแบบปูพรหม แต่ถ้าเราประกาศ ไซส์ L ไปก่อน หลังจากนั้นมากู้เอสเอ็มอี เมื่อสถานะของเอสเอ็มอีเดินหน้าต่อไปได้แล้ว ไม่ได้หมายความว่าปีนี้เอสเอ็มอีจะไม่ได้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดยทางกระทรวงมีนโยบายว่าในช่วงสิ้นปีต่อเนื่องปี 2568 เราจะมีการประกาศค่าแรงขั้นต่ำเฉพาะเอสเอ็มอีอีกครั้งหนึ่ง ตามที่อนุไตรภาคีในแต่ละจังหวัดส่งข้อมูลมาให้กับทางกระทรวง
“ ผมมีความมุ่งมั่นก้าวแรกให้จบไปให้ได้ก่อนคือค่าแรงขั้นต่ำของเดือน ต.ค.นี้ให้จบที่ 400 บาท เมื่อเราสามารถประกาศค่าแรงขั้นต่ำที่ 400 บาทจบแล้ว ผมจะขอชี้แจงให้ทราบว่าเราจะมีไทม์ไลน์ในการที่จะประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนอกเหนือไปจากนี้อีกเมื่อไหร่ เพราะถ้าจะพูดว่ามีไทม์ไลน์ 1,2,3,4,5 แล้วผมไม่ดูถึงสถานะของผู้ประกอบการหรือสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ประกาศไปก็เป็นเพียงลมปาก แต่ถ้าจะทำให้สำเร็จจริงก็อาจจะไม่ถึง 600 บาทก็ได้ แต่ ขอให้มีความก้าวหน้าในการขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ชาวแรงงานต้องอยู่ให้ได้” รมว.แรงงาน กล่าว