เมื่อวันที่ 26 ก.ย.67 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์คลิป พร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า...
ผู้ป่วยหญิงอายุ 54 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่เบื่ออาหาร น้ำหนักไม่ลด ไม่มีเหงื่อออกกลางคืน มาตรวจวันที่ 10 สิงหาคม 2567 เพราะรู้ว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงอาจติดเชื้อวัณโรคจากลูกจ้างคนไทยที่ทำงานเป็นแม่ครัวและทำความสะอาดบ้านเช้าถึงเย็น ลูกจ้างคนนี้อายุ 44 ปี ไอเรื้อรังต่อเนื่องมา 3 เดือนตั้งแต่มีนาคม 2567 มีไอปนเลือด มีไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไปตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเดือนมิถุนายน 2567 เอกซเรย์ปอดผิดปกติ ตรวจเสมหะพบเชื้อวัณโรค ป่วยเป็นวัณโรคปอดระยะแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนรอบข้างได้ทางการหายใจ หลังกินยารักษาวัณโรค 4 ขนาน 2 เดือน ลูกจ้างอาการดีขึ้นมาก ในบ้านไม่มีเด็ก มีคนอยู่ในบ้านด้วยกันอีก 3 คน ยังไม่มีใครมีอาการ
ตรวจร่างกายปกติ ฟังปอดปกติ เอกซเรย์ปอดปกติ ตรวจเลือดวัดระดับ Interferon-Gamma (IFN-γ) ใน IFN-γ release assay (IGRA) โดยชุดทดสอบ QuantiFERON-TB Gold Plus ให้ผลบวก บ่งชี้ว่าติดเชื้อวัณโรค
วินิจฉัย: ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง Latent TB infection ในร่างกายมีเชื้อวัณโรคอยู่ในตัวโดยไม่มีอาการ ถ้าปล่อยทิ้งไว้หลายๆปี เมื่อร่างกายอ่อนแอลง อาจป่วยเป็นวัณโรคได้ในภายหลัง
ได้เริ่มยารักษาวัณโรคระยะแฝงด้วยยา INH 300 มก.วันละครั้ง ร่วมกับวิตามิน B6 วันละครั้ง หลังกินยา 1 เดือน ไม่แพ้ยา จะให้กินยาต่อเนื่องจนครบ 9 เดือน
การตรวจวัณโรคแฝงทำโดยการทดสอบทุเบอร์คุลินทางผิวหนัง หรือตรวจจากเลือดโดยวิธี IGRAs
วิธีการตรวจวัณโรคแฝงด้วยเลือด มี 2 วิธี QuantiFERON-TB Gold Plus และ T-SPOT.TB for Interferon gamma release
ได้ตรวจคัดกรองคนในบ้านอีก 3 คน ด้วยเอกซเรย์ปอด และตรวจเลือด QuantiFERON-TB Gold Plus ทุกคนให้ผลลบ แสดงว่าไม่ได้รับเชื้อวัณโรค
สรุป: ลูกจ้างคนที่ป่วยเป็นวัณโรคแพร่กระจายเชื้อให้คนใกล้ตัว 1 ใน 4 ของคนในบ้านนี้