วันที่ 15 ต.ค.67 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียูเฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำโรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ระบุว่า...
ผู้ป่วยชายไทยอายุ 75 ปี เคยป่วยเป็นวัณโรคปอดเมื่ออายุ 25 ปี รักษาหายแล้ว ไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้านเดือนเมษายน 2567 ด้วยอาการเบื่ออาหาร น้ำหนักลด ไม่มีไข้ ไม่ไอ ไม่มีเสมหะ เอกซเรย์ปอดผิดปกติ มีจุดและพังผืดที่ปอดข้างขวากลีบบน กลีบกลาง และปอดข้างซ้ายกลีบบน (ดูรูป) แพทย์เก็บเสมหะไม่ได้ จึงทำการส่องกล้องเข้าไปในหลอดลม ดูดเสมหะในหลอดลม ส่งเพาะเชื้อ พบวัณโรคเทียม Mycobacterium kansasii เชื้อไวตัวยา clarithromycin, rifampicin, moxifloxacin, amikacin แพทย์ที่นั่นให้ยา INH, rifampicin และ ethambutol ตั้งแต่เดือนเมษายน 2567 ผู้ป่วยยังเบื่ออาหาร น้ำหนักลด มาปรึกษาในเดือนมิถุนายน 2567 ผู้ป่วยไม่สูบบุหรี่ ไม่มีอาชีพทำสวนทำไร่
วินิจฉัยติดเชื้อ M.kansasii ในปอดไม่ทราบว่ารับเชื้อจากที่ไหน
ปรับยาเป็น INH, rifampicin, ethambutol, azithromycin และวิตามิน B6 คนไข้รับยาได้ ไม่แพ้ยา หลังกินยา ติดตามเดือนกันยายน 2567 น้ำหนักขึ้น 3 กิโลกรัม คนไข้สบายดี ไม่ไอ ไม่เหนื่อย ไม่มีไข้ วางแผนให้ยารักษาอย่างน้อย 1 ปี ในประเทศสหรัฐอเมริกาเชื้อวัณโรคเทียม M. kansasii ไม่พบในดินในน้ำตามธรรมชาติ แต่พบได้บ่อยในน้ำประปา โรคนี้พบไม่บ่อย ไม่ติดต่อจากคนสู่คน คนปกติไม่ติดเชื้อนี้จากสิ่งแวดล้อม ผู้ป่วยรายนี้อาจหายใจเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในละอองน้ำประปาเวลาใช้ฝักบัวอาบน้ำ เนื่องจากเคยป่วยเป็นวัณโรคปอดเชื้อนี้จึงเข้าไปเจริญเติบโตในรอยแผลเก่าจากวัณโรค โรคนี้สามารถรักษาให้หายได้