'เพื่อไทย'ลั่นไม่ได้จุดชนวนแก้รัฐธรรมนูญ โยนมาจากพรรคร่วมรัฐบาล ลั่นเห็นตรงกันก็เดินต่อ เห็นไม่ตรงกันก็ไม่ไปต่อ อนุทิน ยันภูมิใจไทย ไม่เอาด้วยแก้รธน.หมวดจริยธรรม ตอกหากไม่อยากตรวจสอบอย่าเล่นการเมือง เผยนายกฯพร้อมให้ตรวจสอบจริยธรรม
เมื่อวันที่ 24 ก.ย.67 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีท่าทีของพรรคภูมิใจไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขมาตรฐานจริยธรรม หลังจากที่ นายภราดร ปริศนานันทกุล รองสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ออกมาแถลงไม่เห็นด้วย ว่า คนการเมืองเป็นคนสาธารณะ ถ้าไม่อยากให้ตรวจสอบก็เล่นการเมืองไม่ได้ การเข้ามาการเมืองไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐมนตรี แค่เป็นที่ปรึกษา เป็นเลขานุการ หรือรับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง กรรมการรัฐวิสาหกิจ ก็ต้องแจ้งทรัพย์สินแล้ว นั่นคือบทแรกของการตรวจสอบ
นายอนุทิน กล่าวว่า คิดว่าคนที่มาทำงานสาธารณรับใช้บ้านเมือง ใช้อำนาจรัฐในการบริหารราชการแผ่นดิน ก็ต้องรับการตรวจสอบ เป็นการเช็ค and Balance ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิดก็ไม่ต้องกลัวการตรวจสอบ นักร้องมีอยู่ทั่วไป เขาก็ร้องได้ ในสิ่งที่เราทำผิดถ้าเราไม่ได้ทำผิด พิสูจน์อย่างไรก็ไม่ผิด เขาก็มีความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี หรือถูกฟ้องร้องทุกอย่างอยู่ที่ตัวเราเองมากกว่า
ส่วนจะเป็นจุดยืนของพรรคหรือไม่นั้น มันไม่ใช่จุดยืน แต่มันเป็นวิถีชีวิต( Day of Life) เช่น ถ้าไม่อยากตรวจสอบก็ให้ทำธุรกิจอยู่ที่บ้าน เสียภาษีตามที่จะต้องเสีย ก็ไม่มีใครสามารถมาบอกให้แสดงทรัพย์สินบริษัทได้ยกเว้นทำผิด ซึ่งนายภราดรก็แถลงในนามพรรค ก็แถลงไปแล้วก่อนไปรับตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งก็เห็นแล้วว่ายังไม่ได้ทันทำอะไรก็มีคนจ้องจะร้องแล้ว ผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าผิดให้ไปดูโทษ เรื่องการตัดสิทธิ์ ต้องมีคนไปยืนยันตรงนี้ก่อน
ผมคิดว่ารัฐบาล ไม่รู้นะ ผมมั่นใจไปคุยกับนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ท่านก็ไม่ได้ซีเรียสเรื่องเหล่านี้ ท่านบอกว่าถ้าทำดีซะอย่างจะไปกลัวอะไร ทำในสิ่งที่ถูกต้องก็พร้อมที่จะถูกตรวจสอบ เช่นขณะนี้เข้ามาทำงานไม่ถึง 2 สัปดาห์ ก็เห็นปัญหาต่างๆ เยอะแยะมากมาย มีเรื่องอะไรเยอะแยะที่รัฐบาลจะต้องทำที่ทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน เพราะอะไรที่ทำแล้วเป็นการเอื้อตัวเอง เพื่อพวกพ้องมันผิดตั้งแต่ นับหนึ่งแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลมีการหารือถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่ได้รับการนัดหมาย พร้อมยืนยันว่าการแถลงของนายภราดรถือเป็นการแถลงของพรรค ก่อนจะย้อนถามสื่อมวลชนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเบอร์ 1 หรือไม่ เรื่องเบอร์ 1 คือเรื่องเชียงราย เชียงใหม่ หนองคาย ลำปางและจังหวัดอื่นๆในพื้นที่ภาคเหนือที่ถูกน้ำท่วม ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดมากกว่า
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องจริยธรรมประชาชนมองว่าเป็นการเอื้อเพื่อนักการเมือง นายอนุทิน กล่าวว่า อย่าให้ไปถึงจุดนั้นสิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อยู่แล้ว ทำเพื่อประเทศและประชาชน มันเขียนว่าอย่างชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนจุดยืนในเรื่องของเรื่องการผลักดันพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในเรื่องมาตรา 112 นายอนุทิน ระบุว่า พูดมาตั้งนานแล้วไม่เห็นด้วยไม่อยากพูดซ้ำๆ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคภูมิใจไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรม ว่า เราพยายามจะนัดหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลให้ได้คุยกันเร็วที่สุด ถ้าเห็นด้วยเหมือนกันก็ไปด้วยกัน ถ้าไม่เห็นด้วยก็ยังไม่ต้องไป
นายภูมิธรรม กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญเรื่องดังกล่าว จุดเริ่มต้นไม่ได้มาจากพรรคเพื่อไทย แต่เป็นข้อเสนอจากหัวหน้าพรรคการเมืองหลายพรรค ที่แสดงความไม่สบายใจ เราจึงเริ่มต้นคุยเรื่องนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจน ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะดำเนินการอย่างไร แต่คิดว่าถ้าถามว่ามีประเด็นปัญหาหรือไม่และเป็นปัญหาหรือไม่ ซึ่งหัวหน้าพรรคร่วมเห็นเหมือนกันเลยพยายามคุยเรื่องนี้ว่าจะเอาอย่างไร จะเดินอย่างไรทำเมื่อไร ซึ่งต้องรอการประชุมหัวหน้าพรรคร่วมโดยเร็วที่สุด และก่อนมีการถวายสัตย์ฯ มีการคุยกัน เริ่มต้นจากพรรคร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยในฐานะแกนนำจึงหยิบมาพิจารณา แต่ผลจะเป็นอย่างไรต้องรอพรรคร่วมคุยกันอย่างชัดเจน
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหนเป็นคนอยากให้แก้ไข นายภูมิธรรม กล่าวว่า ที่คุยกับตนฟังดูเกือบทุกพรรค แต่ถ้าคุยทางการต้องคุยหลายพรรค เมื่อถามว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ระบุควรแก้ปัญหาให้ชาวบ้านก่อนแก้รัฐธรรมนูญที่จะถูกมองว่าเป็นการแก้เพื่อตัวเอง นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็คิดไม่ต่างกัน แต่สื่อมวลชนเห็นว่ามีความสำคัญประเด็นจึงเลยไปบ้างแต่สิ่งที่คิดเหมือนกันคือมันเป็นปัญหา ไม่ใช่เรื่องจริยธรรมอย่างเดียวมีหลายประเด็นหลายอย่างและหลายเรื่องเราก็จะนำไปสู่การแก้ทั้งฉบับอยู่แล้วซึ่งต้องใช้เวลา แต่ส่วนที่ยังมีความห่วงใยต้องมีการพูดคุยกัน
เมื่อถามว่า ชาวบ้านตั้งคำถามว่าทำไม่ต้องเร่งแก้รัฐธรรมนูญ ไม่แก้ปัญหาให้ชาวบ้านก่อน นายภูมิธรรม กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ได้มองเช่นนั้นอย่าเพิ่งสรุป ตอนนี้เราก็แก้ปัญหาให้ชาวบ้านอยู่ การแก้ปัญหาราชการแผ่นดินมีหลายปัญหา บางอย่างทำได้ทันทีบางอย่างต้องรอ ตอนนี้ส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาให้ประชาชนก็ทำอยู่ ไม่ใช่ทุกอย่างหยุดแล้วมาแก้รัฐธรรมนุญเรื่องเดียว ต้องเข้าใจตรงนี้ไม่เช่นนั้นก็สื่อความไม่เข้าใจกันไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดไม่รอให้มีการแก้ประเด็นจริยธรรมในการแก้ทั้งฉบับด้วย สสร.จะสง่างามมากกว่านักการเมืองแก้กันเอง นายภูมิธรรม กล่าวว่า อย่าไปคิดลึกแบบนั้น อะไรที่คิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องแก้ และความจำเป็นแต่ละคนไม่เท่ากันจึงต้องหารือให้ชัดเจน และทุกอย่างที่แก้คือผ่านตัวแทนประชาชน และฟังความเห็นมันสง่างามทั้งหมด
ด้าน นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นมาตรฐานจริยธรรมนักการเมือง ที่ทั้งพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยได้ยื่นร่างดังกล่าว เพื่อเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภา ว่า ขณะนี้ปัญหาจริยธรรมที่ถูกตีความขยายไปเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ หรือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังอยากให้เป็น เช่นเรื่องทุจริตคอรัปชั่น ทุกพรรคมองเห็นตรงกันว่ายอมรับไม่ได้ แต่เมื่อมีประเด็นรายละเอียดต่างๆกลับเป็นการเปิดช่องให้องค์กรอิสระพิจารณาตีความขยายเกินกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นอันตรายต่อการพัฒนาระบอบสถาบันการเมือง และการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นหากมีการแก้รัฐธรรมนูญอย่างเดียวไม่แก้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกฎหมาย ป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็จะไม่สมบูรณ์แบบ
ทั้งนี้ภายในสัปดาห์นี้ประธานรัฐสภาจะนัดหมายวิป 3 ฝ่าย เพื่อกำหนดกรอบเวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคประชาชนเสนอไว้ทั้งหมด 4ร่าง เนื้อหาสาระเชิงหลักการแตกต่างกันแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกัน น่าจะพิจารณารวมกันได้แต่แยกลงมติรายฉบับ ทั้งนี้พรรคประชาชนอยากได้เวลาเต็มที่ในการประชุมรัฐสภา เพื่อพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญรายมาตราเพราะเป็นเรื่องสำคัญ หากใช้เวลาเพียง1วันต้องรอดูว่าจะให้แล้วเสร็จเมื่อใด แต่หากตึงไปอาจจะขอเป็น2วัน ซึ่งหากใช้เวลาเต็มที่พิจารณาสาระรายละเอียด ได้มากพอสมควรซึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า
เมื่อถามถึงข้อกล่าวหาการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องมาตรฐานจริยธรรม เป็นไปเพื่อประโยชน์ทางการเมืองและพวกพ้อง นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ร่างของพรรคประชาชนเสนอนั้น สมาชิกที่เข้าชื่อไม่ใช่คน ที่ ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับคดีจริยธรรมคือ สส. 44 คน อดีตพรรคก้าวไกลไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว เพราะมีเจตจำนงที่จะนำไปสู่การทบทวนรัฐธรรมนูญในหมวดนี้อย่างแท้จริง ไม่ได้ต้องการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นายณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า การแก้ไขในหมวดจริยธรรมและหมวดที่เกี่ยวข้องไม่ได้เพื่อประโยชน์ของใครแต่เพื่อประโยชน์ความมั่นคงทางสถาบันการเมือง เพราะระบบการตรวจสอบที่สำคัญที่สุดคือการตรวจสอบจากประชาชนที่เป็นผู้ลงคะแนนเลือกตั้ง แม้แต่กรณีที่บุคคลจะหลงผิดไปแต่ละพรรคการเมืองก็มีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มข้น เช่นที่อดีตพรรคก้าวไกลได้ดำเนินการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อความมั่นคงและความเหมาะสมทางสถาบันการเมืองและประโยชน์ต่อประชาชน
อย่างไรก็ตามจะอาศัยเวทีรัฐสภารวบรวมสิ่งที่ประชาชนสงสัยมาอธิบายชี้แจงข้อสงสัยว่าความต้องการแก้ไขหลักใหญ่ใจความเพื่อต้องการทบทวนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เวลาของการแก้ทั้งฉบับเคลื่อนจากเวลาเดิมที่ตั้งใจไว้เช่น พ.ร.บ.ประชามติที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาก็ล่าช้าในเชิงกระบวนการ และการทำประชามติครั้งแรกก็ยังไม่มั่นใจว่าจะเกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดในเดือนก.พ.2568 หรือไม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องยื่นแก้ไข รายมาตรา ซึ่งจริยธรรมเป็นแค่ส่วนหนึ่งยังมีเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและโครงสร้างของสิ่งที่ตกค้างจาก คำสั่งคสช. ที่ต้องการทบทวน และมีอีกหลายประเด็นอยากให้ประชาชนติดตามว่าสิ่งที่ทำทั้งหมดเป็นไปเพื่อคงสถาบันการเมืองที่เหมาะสมในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อใครคนใดคนหนึ่งแน่นอน
นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ได้มีการหารือกับ สว. อย่างไม่เป็นทางการเพื่อขอเสียงสนับสนุนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องใช้เสียงสนับสนุน ซึ่งสว.ชุดนี้ มีความหลากหลายมาก ต่างจากสว. ชุดก่อนจึงอาจไม่สามารถคุยทุกกลุ่มหรือทุกคนได้ แต่สิ่งสำคัญที่ทำตอนนี้คือทำความเข้าใจต่อสาธารณะชน ที่เป็นการยืนยันว่าการแก้ไขไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครหรือพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เพื่อคงระบอบพรรคการเมืองที่เป็นหนึ่งในสถาบันหลัก ทางการเมือง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าวุฒิสภาที่มาจากประชาชนต้องมีความเข้าใจเรื่องการเมือง และการตัดสินใจจะเป็นอิสระไม่ใช่การกดปุ่มชี้แบบใดแบบหนึ่ง จึงยังมั่นใจว่าถ้าเห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด ได้พิจารณาฟังเหตุและผลที่สมาชิกแต่ละคนนำเสนอ จะได้เสียงสนับสนุน1ใน3จาก สว.อย่างแน่นอน