ม.เกษตรฯ ผนึกกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ยกระดับสินค้าเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ตลาดอุตสาหกรรมโลก “Modern Trade – zero waste”


ม.เกษตรศาสตร์ จับมือกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม   ยกระดับสินค้าเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ตลาดอุตสาหกรรมโลก “Modern Trade – zero waste” สร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้แก่ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม กว่า 300 % ผู้ประกอบการมีผลสำเร็จโดดเด่น (Success Case) 9 กิจกรรม

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  จัดสัมมนาเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ผลไม้และผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป) ภายใต้โครงการ ยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2567  ณ ห้อง Grand Ballroom C โรงแรมมารวยการ์เด้น ถนนพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร โดยมี รองศาสตราจารย์  ดร. เมธินี วงศ์วานิช รัมภกาภรณ์  ประธานสาขาวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ภายในงานสัมมนาครั้งนี้  นางสาวศศิวิมล สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการและมอบโล่รางวัลและประกาศนียบัตรให้กับผู้ประกอบกิจการผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นกรณีความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จำนวน 9 กิจการ


นางสาวศศิวิมล สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ผู้แทน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม   เปิดเผยว่า  “ภาคการเกษตรมีบทบาทสำคัญยิ่งในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และอีกทั้งยังเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญ ซึ่งนำไปสู่การกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในภาพรวมให้แก่ประเทศเป็นอย่างมาก  ดังนั้น การพัฒนาภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขัน  นับเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่าง ๆ ให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้ตามเป้าหมายวางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระจายรายได้สู่ชุมชน และการช่วยลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคม”
 
“ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์ชาติได้กำหนดประเด็นด้านการเกษตรอย่างเป็นระบบเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาแก่ภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน โดยการยกระดับการผลิตให้เข้าสู่คุณภาพมาตรฐานความปลอดภัย การใช้ประโยชน์จากความโดดเด่น และส่งเสริมการพัฒนาเอกลักษณ์ของสินค้าเกษตร  รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละพื้นที่  การพัฒนา และการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่า และคุณค่าให้กับสินค้าเกษตรด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมสมัยใหม่ในการผลิตและการจัดการ  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างยั่งยืน” น.ส.ศศิวิมล  กล่าว

นางสาวศศิวิมล กล่าวต่อว่า “กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ดำเนินกิจกรรมยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ผลไม้และผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป)   ภายใต้โครงการยกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม กองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้มีมูลค่าสูง ได้มาตรฐาน และ สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยอาศัยการวิเคราะห์ตลาด และการวางแผนกลยุทธ์การพัฒนา ผลิตภัณฑ์ขั้นสูง ตลอดจนเทคโนโลยีและนวัตกรรมการแปรรูปที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์และทำให้พี่น้องผู้ประกอบกิจการ”
 
ทางด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี วงศ์วานิช รัมภกากรณ์ ประธานสาขาวิชาการศึกษาเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อยกระดับให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง แทนที่จะขายด้วยต้นทุนวัตถุดิบ แต่เรานำมาแปรรูปสินค้าเกษตรต่างๆ เพื่อนำเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรด (Modern Trade) โดยตลอดระยะเวลาที่ทีมผู้เชี่ยวชาญได้ลงพื้นที่อยู่ร่วมกับพี่น้องผู้ประกอบการกันมา 4 เดือนเต็ม ผู้ประกอบการได้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นอย่างมากทำให้เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย”  

“อีกทั้ง เราจะต่อยอดในการทำงานร่วมกับกองพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เพราะต้องการผลักดันให้ผู้ประกอบกิจการเพิ่มมากขึ้น ซึ่งยังมีพี่น้องเกษตรกรอีกหลายคนที่ต้องการพัฒนาแปรรูปผลิตภัณฑ์อีกจำนวนมาก  และที่สำคัญ ต้องการที่จะทำให้เกิดความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างการเกิด zero waste อีกด้วย”  รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี กล่าว

 “หลังจากนึ้คงจะมองหาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ  เข้ามาพัฒนาให้มากยิ่งขึ้น ให้มากกว่าเรื่องขององค์ความรู้พื้นฐานทั่วไป  เพราะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เรามีสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร IFRPD  และสถาบัน KAPI สถาบันค้นคว้าพัฒนาผลิตผลเกษตรอุตสาหกรรมเกษตร เพราะฉะนั้น กิจการใดที่เป็นเรื่องของอาหาร เราก็จะให้พบกับนักวิจัยของสถาบัน  IFRPD   และผลิตภัณฑ์ใดที่ไม่ใช่อาหารก็จะได้พบกับนักวิจัยของสถาบัน KAPI เพราะฉะนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ ไม่ใช่แค่เกิดต้นแบบ prototype เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องเกิดเป็นต้นแบบที่มีงานวิจัยรองรับ และมีการเพิ่มเทคโนโลยีนวัตกรรมเข้าไปด้วย” รองศาสตราจารย์ ดร.เมธินี  กล่าวในที่สุด

สำหรับการดำเนินกิจกรรมการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผลไม้และผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป ในครั้งนี้  มีวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม  (SMEs)  จำนวน 30  กิจการ  ซึ่งทุกกิจการจะได้รับการพัฒนาแบบคู่ขนานใน 3 ด้าน ไปพร้อมกัน คือ ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านบรรจุภัณฑ์ และ ด้านการตลาด ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เกิดการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่พร้อมออกสู่ตลาดโลกได้อย่างแท้จริง

ภายหลังการดำเนินกิจกรรม พบว่า วิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ที่เข้าร่วมกิจกรรมมีการพัฒนาผลิตภาพเพิ่มขึ้น คือ รายได้เฉลี่ยจากการขายภายในประเทศกว่า  5,600,000  บาทต่อปี รายได้จากการส่งออกกว่า 3,000,000 บาทต่อปี เมื่อเทียบกับงบประมาณดำเนินการ พบว่า กิจกรรม ดังกล่าวสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม และรายได้ให้แก่ผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม กว่า 300 %

ซึ่งผู้ประกอบการที่มีผลสำเร็จโดดเด่น หรือ Success Case ในการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูป ในครั้งนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 9 กิจการ ได้แก่   ห้างหุ้นส่วนจำกัด โอคุริ เฮ้าส์ ผลิตภัณฑ์ในโครงการ ได้แก่ ซอสน้ำผึ้งเห็ด   กิจการร้านลุงจอน ผลิตภัณฑ์ในโครงการ ได้แก่ เห็ดดองสามรส  บริษัท ไรโน ฟู้ดแอนด์เบฟเวอรเรจ  จำกัด ผลิตภัณฑ์ในโครงการ ได้แก่   คราฟโซดาจากเปลือกกาแฟ  บริษัท ทองพูน๘๘ จำกัด  ผลิตภัณฑ์ในโครงการ คือ เครื่องดื่มคอมบูชะออร์แกนิครสผลไม้ กิจการ เจเอสซี สปา เฮ้อร์เบิ้ล  ผลิตภัณฑ์ในโครงการ ได้แก่ แชมพูและสบู่จากน้ำมันมะพร้าวผง  ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไอเคี่ยม อินโนเวชั่น  ผลิตภัณฑ์ในโครงการ ได้แก่ สเปรย์สมุนไพรไล่แมลง  ห้างหุ้นส่วนจำกัด รุจรุจ รุจแล้วรวย  ผลิตภัณฑ์ในโครงการ ได้แก่  กิมจิผักกาดดองสามรส บริษัท ไทยเฟลเวอร์ จำกัด  ผลิตภัณฑ์ในโครงการ ได้แก่  ซอสปรุงรสเห็ดโคนน้อย  และบริษัท ซายน์ อินดัสเทรียล จำกัด  ผลิตภัณฑ์ในโครงการ ได้แก่  ผงมะพร้าวอบแห้ง

ทั้งหมดนี้ คือ ผลสำเร็จของการดำเนินกิจกรรมการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ผลไม้และผลผลิตทางการเกษตรแปรรูป)   ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567  ทำให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 30 กิจการ เกิดผลลัพธ์ในการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80   โดยการพัฒนาให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาผลิตภาพและศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจและพืชเศรษฐกิจ ทั้งด้านตัวผู้ประกอบกิจการ ผลิตภัณฑ์  ด้านการตลาด โดยใช้องค์ความรู้ด้าน เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้เกิดประโยชน์ ใช้ตลาดนำการผลิตเพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ นำความมั่นคง ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างรอยยิ้มให้พี่น้องเกษตรกรไทย ให้ก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนสืบไป