"เพื่อไทย" เตรียมเคลียร์ใจพรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เห็นด้วยแก้รธน.ประเด็นมาตรฐานจริยธรรม เชื่อไร้ปัญหา ยันพรรคไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง 'จุรินทร์'เผยรัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่ไม่ควรแก้เพื่อตัวเอง เตือนจะทำให้ขาดความชอบธรรม

     เมื่อวันที่ 22 ก.ย.67 นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยจะนัดหารือพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อทำความเข้าใจเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ประเด็นมาตรฐานจริยธรรมที่ยังมีเสียงคัดค้านจากพรรคร่วมรัฐบาล ว่า เชื่อว่าจะทำความเข้าใจกับพรรคร่วมรัฐบาลได้ เรื่องมาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขให้เกิดความชัดเจน พรรคเพื่อไทยไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาการตีความไม่มีความชัดเจน เห็นด้วยกับการแก้ไขให้ใช้เสียงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 2 ใน 3 ในการพิจารณาสอยส.ส. และคณะรัฐมนตรี แทนการใช้เสียงข้างมาก โดยเฉพาะคดีสำคัญเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของนักการเมือง อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของประเทศเช่น คดีถอดนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เป็นเกณฑ์

     "ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้มาจากตัวแทนประชาชน แม้จะมีแรงต้านในการแก้ไขก็ต้องทำความเข้าใจ ถ้าไม่แก้ก็อยู่แบบเดิม นักลงทุนที่ไหนจะกล้ามาลงทุนในประเทศไทย มั่นใจว่าจะได้รับความเห็นชอบจากเสียงในสภาฯ และพรรคร่วมรัฐบาลในการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรม" นพ.เชิดชัย กล่าว

     นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ในขณะนี้ ว่า รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ แต่ในความเห็นตน การแก้รัฐธรรมนูญต้องไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและว่าด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์

     ส่วนในประเด็นอื่น ก็ต้องดูเป็นประเด็นไป แต่จะต้องไม่แก้จนเป็นการทำลายหลักการ "การส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ" และไม่ควรเข้าข่ายการแก้ไขเพื่อตัวเอง เพราะจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญขาดความชอบธรรม ซึ่งจะก่อผลกระทบทำให้การเมืองเสื่อมและอาจก่อให้เกิดแรงต้านจากประชาชน

     นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า โดยเฉพาะในขั้นตอนสุดท้ายตอนทำประชามติ เพราะประเด็นการแก้ไข รัฐธรรมนูญในเรื่องคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของศาลและองค์กรอิสระ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ เข้าเงื่อนไขที่จะต้องทำประชามติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วย

     ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร เตรียมเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ ซึ่งให้สภาร่วมกันพิจารณาในความเห็นต่างเรื่องคดีมาตรา 112 จะรวมอยู่ในการนิรโทษกรรมหรือไม่ ซึ่งทราบว่าในคณะกมธ.เองไม่สามารถหาข้อสรุป จึงให้สมาชิก กมธ.แต่ละคน บันทึกความเห็นไว้ในรายงานแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.ไม่รวม มาตรา112 เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง 2.รวม อย่างมีเงื่อนไข และ3.รวมโดยไม่มีเงื่อนไข 

     ทั้งนี้ ส่วนตัวได้ยืนยันมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยและคัดค้านถึงที่สุด ไม่สมควรรวมคดีความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม เพราะไม่ใช่แรงจูงใจทางการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญระบุชัดเจน ในมาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระนามพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ และสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เกี่ยวข้องการเมือง หากจะนิรโทษกรรมให้ก็เสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

     จากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 7 ส.ค.67 ก็ชี้ชัดแล้วว่ามีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครอง ซึ่งเป็นการ รณรงค์หาเสียง รวมถึงการยื่นแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเมื่อมองเทียบเคียงกับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตราดังกล่าว ยิ่งมีน้ำหนักรุนแรงกว่าพรรคก้าวไกลเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นในการประชุมสภาเรื่องนี้ ตนจะขอใช้เอกสิทธิ์สส. เลือกข้อ1. ไม่รวมมาตรา 112 ซึ่งเห็นด้วยที่จะมีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่ไม่มีความรุนแรงหรือถึงแก่ชีวิต รวมทั้งไม่รวมคดีทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย แต่ควรจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาการนิรโทษกรรมอย่างละเอียดรอบคอบ เชื่อว่าสภาเองก็ต้องมีการพิจารณาอย่างรัดกุม ไม่ทำให้เกิดการขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเสียเอง

     "ยกคดียุบพรรคก้าวไกลมาเทียบ ก็ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยอย่างละเอียดว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง หากจะนิรโทษกรรมให้ผู้มีความผิดตามมาตรา 112 สภาต้องคิดให้ดีและรอบคอบ ส่วนตัวขอคัดค้านและไม่เห็นด้วยที่จะรวมมาตรานี้ให้ได้รับนิรโทษกรรม เพราะไม่เกี่ยวข้องกับแรงจูงใจทางการเมือง แต่หากที่ประชุมสภาในวันที่ 26 ก.ย. มีการพิจารณาออกมาอย่างไร หากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ควรจะต้องมีผู้รับผิดชอบ" นายธนกร กล่าว