ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์น้ำบาดาลตรวจสอบอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 16 จ.ฉะเชิงเทรา พบสารปนเปื้อนแพร่กระจายลงสู่ชั้นใต้ดิน ก่อนใช้เป็นหลักฐานดำเนินคดีทางกฎหมายและเรียกค่าเสียหายต่อผู้ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ
เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ดร.มนัสวี เฮงสุวรรณ นักธรณีวิทยาชำนาญการ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลพร้อมคณะลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ซึ่งมีการปนเปื้อนของโลหะหลายชนิด โดยคณะได้มีการตรวจสอบการปนเปื้อนแหล่งน้ำบาดาลบริเวณอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 16 และบ่อยืมดิน จำนวน 4 บ่อขนาดใหญ่ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียงกัน ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำพบว่ามีสภาพเป็นกรด ค่า pH ประมาณ 3 และมีการปนเปื้อนของโลหะหลายชนิด โดยเฉพาะเหล็กตรวจพบถึง 3 พันมิลลิกรัมต่อลิตร นอกจากนี้ยังพบแมงกานีส ทองแดง สังกะสี เป็นต้น
ดร.มนัสวี เปิดเผยว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เข้ามาตรวจสอบคุณภาพของอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 มีความจุกักเก็บ 1.97 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี 2562 หลังมีการแจ้งเหตุจากประชาชนว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำไม่สามารถใช้งานได้เพื่อพิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อนโดยการศึกษาทางอุทกเคมีและการจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์น้ำบาดาล โดยได้จัดทำแบบจำลองการเคลื่อนที่ของสารปนเปื้อนในน้ำใต้ดิน โดยวิธี Forward particle tracking และ Backward particle tracking พบว่า ทิศทางการไหลหลักของสารปนเปื้อนในน้ำใต้ดินมีทิศทางการไหลจากพื้นที่ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงไปยังอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 16 โดยใช้ระยะเวลาการเคลื่อนที่ประมาณ 3 - 7 ปี
ดร.มนัสวี กล่าวต่อว่า จากการประเมินการกระจายตัวของสารปนเปื้อน ในพื้นที่ศึกษา ณ ช่วงเวลาต่างกันแบบสองและสามมิติ โดยอาศัยแบบจำลอง Mass Transport in 3-Dimensions (MT3D) พบว่าจากสถานการณ์จำลอง ซึ่งกำหนดให้มีการปล่อยสารปนเปื้อนอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นกรณีที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์คุณภาพน้ำใต้ดินในปัจจุบันมากที่สุด ผลการวิเคราะห์คุณภาพน้ำใต้ดินตรวจพบแนวการปนเปื้อนของน้ำใต้ดินที่มีคุณลักษณะทางเคมีสูงผิดปกติไปจากน้ำใต้ดินที่พบในธรรมชาติทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี คลอไรด์ ซัลเฟต และมีค่าปริมาณสารทั้งหมดที่ละลายได้สูงถึง 2,600-23,000 มิลลิกรัมต่อลิตร โดยองค์ประกอบทางเคมีที่พบในน้ำใต้ดินที่ปนเปื้อนและน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 16 มีความสอดคล้องกับน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำ
ดร.มนัสวี กล่าวอีกว่า จากผลการสำรวจด้านอุทกธรณีวิทยา อุทกเคมี และการจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์น้ำบาดาล สามารถสรุปได้ว่า การปนเปื้อนดังกล่าวเป็นการปล่อยให้สารปนเปื้อนแพร่กระจายลงสู่ชั้นใต้ดินและน้ำใต้ดิน และไหลตามทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินลงสู่อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 16 ทำให้เกิดการปนเปื้อนของน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน แห่งที่ 16 ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้เป็นหลักฐานสำคัญในการดำเนินคดีทางกฎหมายและเรียกค่าเสียหายต่อผู้ที่เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ศาลได้มีคำสั่งให้บริษัทเอกชนดังกล่าวชำระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูทรัพยากรน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินให้กลับมามีสภาพดังเดิม เป็นเงิน 1,770 ล้านบาท