กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม ออกสินเชื่อ 2 โครงการ ประจำปี 2567 "เสือติดปีก" และ "คงกระพัน" เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจ โดยโครงการ"เสือติดปีก" เน้นเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ ส่วน "คงกระพัน" เน้นเสริมสภาพคล่อง วงเงินกู้รวม 1,900 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อให้ SMEs เข้าถึงแหล่งทุนและพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 17 ก.ย.67 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่กำลังเผชิญความท้าทายรอบด้าน ส่งผลให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับลดการคาดการณ์ GDP ปี 2567 เหลือเพียง 2-3% โดยภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ผมจึงได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทย ที่เราต้องส่งเสริม สร้างโอกาส ให้ความสะดวก เติมทุนหนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยกระดับธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่าว่า ทางกองทุนฯ ได้ออกสินเชื่อ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) และโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน)
เพื่อสนับสนุนให้ความช่วยเหลือเงินทุนและเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพในการต่อยอดพัฒนาธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ
สำหรับโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ (เสือติดปีก) มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะด้านการพัฒนานวัตกรรม การปรับปรุงเทคโนโลยีและการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย กลุ่มเป้าหมาย คือ 1) เอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น หรือผ่านการคัดเลือกรอบที่ 1 ของการประกวดรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่นจากกระทรวงอุตสาหกรรม ในระยะเวลา 3 ปีย้อนหลัง นับถึงวันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ 2) เอสเอ็มอีที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพจากหน่วยงานของรัฐในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยหน่วยร่วมดำเนินการ หรือสถาบันเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม และ 3) เอสเอ็มอีที่ไม่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น หรือการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพ แต่มีความประสงค์เข้ารับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพตามที่กองทุนกำหนด ซึ่งคุณสมบัติของผู้กู้ จะต้องเป็นเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ และมีขนาดของกิจการตามที่กำหนด เป็นนิติบุคคลสัญชาติไทย ดำเนินกิจการมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี สามารถนับรวมประสบการณ์การบริหารธุรกิจของผู้บริหารได้ ไม่เป็น NPL หรือถูกดำเนินคดี ณ วันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ มีประวัติการชำระหนี้ปกติ ณ วันที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการ ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านการเงินจากโครงการอื่นๆที่กำหนด สามารถยื่นความประสงค์ได้ทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่
สำหรับรูปแบบการให้สินเชื่อ โครงการเสือติดปีก กรอบวงเงินรวม 1,200 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน15 ล้านบาทต่อราย และเป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3-5% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับหลักประกัน) ระยะเวลากู้สูงสุด 10 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้นสูงสุด 12 เดือน มีหลักประกัน เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือหลักประกันทางธุรกิจหรือมีบุคคลค้ำประกัน ส่วนโครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจ และเสริมความแข็งแกร่งให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตทางเศรษฐกิจได้ กลุ่มเป้าหมายและคุณสมบัติของผู้กู้ มีลักษณะเดียวกันกับโครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ (เสือติดปีก) ภายใต้กรอบวงเงินรวม 700 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย เป็นเงินกู้ระยะยาว อัตราดอกเบี้ยคงที่ 5-7% ต่อปี (ขึ้นอยู่กับหลักประกัน) ระยะเวลากู้สูงสุด 3 ปี มีหลักประกัน เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักร หรือหลักประกันทางธุรกิจ หรือบุคคลค้ำประกัน
“โครงการสินเชื่อเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจ (เสือติดปีก) เปรียบเสมือนการติดปีกให้กับเอสเอ็มอี พัฒนาให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น เป็นสินเชื่อที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย ขณะที่โครงการสินเชื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจ (คงกระพัน) เปรียบเสมือนการเสริมเกราะป้องกันให้กับเอสเอ็มอี พัฒนาให้เข้มแข็งและสามารถผ่านพ้นวิกฤตได้ เป็นสินเชื่อที่ซ่อมแซมและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย โดยทั้ง 2 โครงการ นอกจากผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่จูงใจแล้ว กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ยังได้การปรับปรุงหลักเกณฑ์ คุณสมบัติและหลักประกันให้เอื้อกับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพบางกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินปกติ สามารถเข้ามาขอรับสินเชื่อกับกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐได้ง่ายขึ้น รวมทั้งมีกลไกของหน่วยงานของรัฐ และสถาบันเครือข่ายภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม ที่คอยรับรองและสนับสนุนตลอดการขอรับสินเชื่อเพื่อสร้างความมั่นใจในการเติบโตและก้าวไปข้างหน้าของเอสเอ็มอี ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายเช่นนี้ ภาคธุรกิจ SMEs ที่เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับความยากลำบาก กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีฯ จึงขอเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนผู้ประกอบการ ด้วยสินเชื่อ 2 โครงการใหม่ 'เสือติดปีก' และ 'คงกระพัน' เพื่อเสริมแกร่ง เพิ่มศักยภาพ และสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนแม้ในยามวิกฤต” นายณัฐพล กล่าว
ทั้งนี้ เอสเอ็มอีที่สนใจโครงการฯ สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ที่ https://i.industry.go.th หรือศึกษารายละเอียดได้ที่ www.thaismefund.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักงานกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด หรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ทั่วประเทศ
#เอกนัฏพร้อมพันธุ์ #ข่าววันนี้ #สินเชื่อ #เสือติดปีก #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์