ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่น ความกังวลที่มีต่อรัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-11 กันยายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาคระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความเชื่อมั่นและความกังวลของประชาชนต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในการบริหารประเทศ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

    จากการสำรวจเมื่อถามความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.42 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น รองลงมา ร้อยละ 28.17 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น ร้อยละ 22.52 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย ร้อยละ 13.13 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก และร้อยละ 0.76 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ


ด้านความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 36.03 ระบุว่า เป็นเรื่องผลงานของรัฐบาลไม่เป็นไปตามที่สัญญาและคาดหวัง รองลงมา ร้อยละ 32.14 ระบุว่า อายุและประสบการณ์ทางการเมือง/การบริหารของนายกฯ อาจทำให้เกิดการตัดสินใจที่ผิดพลาด และบทบาทของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่เกินขอบเขตจนนำไปสู่การถูกฟ้องเรื่องการครอบงำ นายกฯ/พรรค/รัฐบาลในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 24.89 ระบุว่า การบริหารงานที่ไม่ระมัดระวังจนอาจเกิดการทุจริต คอร์รัปชัน ร้อยละ 21.76 ระบุว่า การบริหารงานที่ผิดพลาดจนนำไปสู่สถานการณ์วิกฤต ร้อยละ 21.53 ระบุว่า การชุมนุมประท้วงรัฐบาลจนเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ร้อยละ 18.85 ระบุว่า กลุ่มผู้ต่อต้านคุณทักษิณ ชินวัตร ที่พร้อมจะร้องเรียนและล้มรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ร้อยละ 18.63 ระบุว่า ไม่มีความกังวลใด ๆ เลย ร้อยละ 14.73 ระบุว่า การก่อรัฐประหารล้มรัฐบาล ร้อยละ 11.83 ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลจ้องจะล้มนายกฯ แพทองธาร ร้อยละ 10.08 ระบุว่า การทำงานของพรรคฝ่ายค้านที่จะนำไปสู่การล้มลงของรัฐบาล และร้อยละ 0.46 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

 ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อบทบาทของ คุณทักษิณ ชินวัตร ที่จะส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยในช่วงรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร ชินวัตร พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 40.23 ระบุว่า ส่งผลกระทบในทางลบต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย รองลงมา ร้อยละ 33.29 ระบุว่า ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 22.21 ระบุว่า ส่งผลกระทบในทางบวกต่อคะแนนนิยมทางการเมืองของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 4.27 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
 

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.86 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง

 

   ตัวอย่าง ร้อยละ 12.37 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.94 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.24 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.81 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.80 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.44 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.76 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ

 

   ตัวอย่าง ร้อยละ 36.03 สถานภาพโสด ร้อยละ 62.52 สมรส และร้อยละ 1.45 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 22.06 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 37.18 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.86 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 27.56 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 5.34 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า


 ตัวอย่าง ร้อยละ 8.40 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 15.73 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.82 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.76 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 18.17 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.08 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 4.04 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

 

   ตัวอย่าง ร้อยละ 20.08 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 22.52 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.24 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 9.08 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.04 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 6.95 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.09 ไม่ระบุรายได้