เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “รัฐบาลแพทองธาร กับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ” กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,227 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2567 สรุปผลได้ ดังนี้
1.ประชาชนคิดอย่างไรกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธาร
อันดับ 1 กังวลเรื่องภาระหนี้สาธารณะ 54.80%
อันดับ 2 มาตรการยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม 49.63%
อันดับ 3 มาตรการบางส่วนดี แต่รายละเอียดยังไม่ชัดเจน 44.95%
2.ประชาชนพึงพอใจมาตรการใดมากที่สุด
อันดับ 1 ส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นถ้วนหน้า 55.78%
อันดับ 2 แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 เฟส 2 50.13%
อันดับ 3 ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือน 44.31%
3.ประชาชนเชื่อมั่นต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธารหรือไม่
อันดับ 1 เชื่อมั่น 53.87%
อันดับ 2 ไม่ค่อยเชื่อมั่น 46.13%
4.ประชาชนคิดว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด
อันดับ 1 ช่วยได้บ้าง 43.44%
อันดับ 2 ช่วยไม่ได้ 31.13%
อันดับ 3 ช่วยได้มาก 25.43%
5.ประชาชนคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นเมื่อใด
อันดับ 1 ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะดีขึ้น 45.31%
อันดับ 2 ครึ่งปีหลัง ปี 2568 23.63%
อันดับ 3 ปี 2569 เป็นต้นไป 17.36%
6.ประชาชนอยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือเรื่องใดมากที่สุด
อันดับ 1 ลดค่าครองชีพ ควบคุมราคาสินค้า 60.98%
อันดับ 2 เพิ่มมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ 54.67%
อันดับ 3 ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยและวิสาหกิจชุมชนให้เติบโต 52.62%
นางสาวพรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า จากผลสำรวจสะท้อนความเห็นที่แตกต่างกันในสังคมต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะเชื่อมั่นแต่ก็ยังไม่แน่ใจในนโยบายเฉพาะหน้า และมีความกังวลต่อความมั่นคงทางการเงินของประเทศ ด้านมุมมองต่อสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้ เรียกว่า “ชอบเงินหมื่นแต่ไม่รู้เศรษฐกิจจะฟื้นเมื่อไหร่” ทั้งนี้ต้องการให้แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเรื่องปากท้องโดยเร่งด่วน
ด้าน ดร.งามประวัณ เอ้สมนึก อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต โรงเรียนกฎหมายและการเมือง อธิบายว่า เมื่อพิจารณาจากผลโพล แม้ว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธารในภาพรวม แต่ประชาชนยังมีความกังวลเรื่องปัญหาค่าครองชีพและการควบคุมราคาสินค้าในปัจจุบัน และต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วนมากที่สุด การที่รัฐบาลได้ดำเนินการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 ไปแล้วนั้น แต่บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยก็ยังไม่กลับมาคึกคักมากนัก ทำให้ประชาชนคิดว่านโยบายแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 อาจจะพอช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้างเท่านั้น และยังไม่เห็นแนวโน้มว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น อีกทั้งประชาชนยังมีความกังวลว่าแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจเป็นการเพิ่มหนี้สาธารณะด้วย
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่งมีความเห็นชอบ 5 แผนขับเคลื่อนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และระยะยาว โดยมุ่งหวังให้มีการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาหนี้สิน และกระตุ้นการลงทุน ซึ่งจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้ตรงจุดตรงประเด็นหรือไม่เพียงใดคงต้องรอดูกันต่อไป