สยามรัฐ ยึดมั่นอุดมการณ์ปกป้องเทิดทูนสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ยืนหยัดรับใช้สังคมด้วยจิตสำนึกแห่งความรับผิดชอบ …*…

วิกฤติไฟใต้เป็นหนึ่งในปัญหาความมั่นคงของประเทศไทยที่ยืดเยื้อมายาวนานเกือบ 20 ปี มีการก่อเหตุรุนแรงสร้างความเสียหายแก่ทั้งทรัพย์สินและชีวิตผู้คนจำนวนมาก …*…

 รูปแบบการก่อความไม่สงบ นอกจากกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใช้อาวุธเข้าเข่นฆ่าสังหารอย่างโหดเหี้ยมอำมหิตแล้ว ยังมีการทำสงครามจิตวิทยาดึงมวลชนเข้าร่วม และสร้างกระแสเรียกร้องความสนใจจากโลกผ่านการสนับสนุนจากเอ็นจีโอ นักวิชาการ และนักการเมืองบางกลุ่ม …*…

ประเด็นที่มักถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหยิบยกมาใช้หาแนวร่วมในโลกโซเชียล และต่างประเทศคือเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส โดยเฉพาะภายหลังศาลมีคำสั่งรับฟ้องคดีสลายการชุมนุมตากใบ …*…

ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ที่มาที่ไปของโศกนาฎกรรมตากใบเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 นั้น มีจุดเริ่มต้นจากที่ก่อนหน้าเกิดเหตุ 1 วัน กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้มีการประกาศให้ผู้ประกอบการธุรกิจตลาดร้านค้าหยุดทำการ และเชิญชวนมาชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้ปล่อยตัว 6 ผู้ต้องหา และพลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี นายทหารน้ำดีที่ได้รับการยอมรับจากกองทัพ และพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ซึ่งดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 ในเวลานั้น พยายามคลี่คลายสถานการณ์อย่างเต็มกำลัง เดินเข้าออกม็อบถึง 3 รอบ เพื่อเจรจาทำความเข้าใจ และอาสาใช้ตำแหน่งประกันตัว 6 ผู้ต้องหา โดยพร้อมดำเนินการทันทีในวันรุ่งขึ้นหลังศาลเปิดทำการ ท่ามกลางสักขีพยานที่มีทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อิหม่ามตากใบที่พลเอกพิศาลเชิญมาร่วมหารือหาทางออกในที่เกิดเหตุ …*…

 ทว่า ไม่เพียงไม่ได้รับการสนองตอบจากม็อบที่ยืนกรานให้ปล่อยตัว 6 ผู้ต้องหาภายในเวลาบ่ายสามโมงของวันนั้น ยังมีการปลุกเร้าให้ผู้ชุมนุมขว้างปาสิ่งของเข้าปะทะกับเจ้าหน้าที่ที่มาคอยดูแลรักษาความปลอดภัย จนเจ้าหน้าที่บาดเจ็บหลายราย และเกิดเหตุชุลมุน มีการเหยียบกับตาย เพราะพื้นที่ที่มีการชุมนุมประท้วงเรียกร้องนั้นมีจำกัด  ซ้ำรอยหลายๆ เหตุสลดที่เคยเกิดขึ้นทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ …*…

กระทั่งสถานการณ์บีบให้ต้องมีการสลายการชุมนุม โดยได้มีการควบคุมตัวผู้ชุมนุมกว่าพันราย และเคลื่อนย้ายไปที่ค่ายอิงคยุทธ จังหวัดปัตตานี เจ้าหน้าที่ได้นำตัวผู้ชุมนุมขึ้นรถในลักษณะให้ยืนไป เนื่องจากเป็นเหตุฉุกเฉิน รถมีจำนวนจำกัด และเมื่อออกรถ ทำให้ผู้ชุมนุมเกิดการล้มทับกัน ซึ่งในระหว่างนั้นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งได้บันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาเดียวกันนั้น มีคำยืนยันจากหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ ว่าหลังพลเอกพิศาลทราบเรื่อง ได้สั่งการให้นำผู้ชุมนุมลงจากรถ และหารถบรรทุกมาเพิ่มอีก 26 คัน เพื่อให้ผู้ชุมนุมได้นั่งกันไป จากนั้นพลเอกพิศาลได้เดินทางกลับไปยังพระตำหนักเพื่อปฏิบัติภารกิจในการถวายอารักขา  …*…  

ต่อมาขบวนเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมไปค่ายอิงคยุทธ ได้ถูกขัดขวางด้วยการวางตะปูเรือใบ เผายางรถยนต์ เอารถประมาณ 5-7 คันมาปิดกั้นถนน ทำให้การเคลื่อนย้ายที่ควรจะใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง กลายเป็น 3 ชั่วโมงกว่า และรถคันสุดท้ายต้องใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง จนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมที่อยู่ในช่วงละศีลอด และบอบช้ำจากเหตุชุลมุนทยอยเสียชีวิตบนรถ ซึ่งหากรถขนผู้ชุมนุมเดินทางไปถึงค่ายอิงคยุทธตามเวลาที่กำหนดไว้ คงไม่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก …*…

ทั้งนี้ภายหลังเกิดเหตุเศร้าสลดดังกล่าว พลเอกพิศาลได้ออกมาแสดงความเสียใจ และประกาศขอย้ายตนเอง ยินดีให้มีการสอบสวน และดำเนินคดีทางศาลทุกกรณี ด้วยมั่นใจในความบริสุทธิ์ พร้อมทั้งได้ขอหารือเพื่อให้มีการเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ …*…

การที่ศาลจังหวัดนราธิวาสรับฟ้องคดีตากใบนั้น ในที่สุดแล้วคำพิพากษาจะออกมาเป็นเช่นใด ยังไม่มีใครล่วงรู้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง สังคมต้องไม่ละเลยความเป็นจริงที่เกิดขึ้น กระทั่งนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนจำนวนมาก เพื่อร่วมกันหาคำตอบว่าใครกันแน่ควรเป็นผู้รับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มผู้ปลุกระดมให้ผู้ชุมนุมก่อเหตุรุนแรง กลุ่มที่ขัดขวางการเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม หรือเจ้าหน้าที่ที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ยับยั้งไม่ให้สถานการณ์ลุกลามบานปลาย …*…

ที่มา:เจ้าพระยา (12/9/67)