“ภูมิธรรม” พบ "จุฬาราชมนตรี" คุยดับไฟใต้ ด้าน "อนุทิน" สั่งผู้ว่าฯ-ฝ่ายมั่นคง เข้มคุ้มครองประชาชน ส่วน “ปชน.” แนะทางออกเสนอ “ทักษิณ-จาตุรนต์” นั่งหัวโต๊ะเจรจาสันติภาพ
เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายภูมิธรรม เวชชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งวันนี้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ลงพื้นที่ภาคใต้ ว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ค. ที่ผ่านมา ได้พูดอย่างชัดเจนถึงจุดยืนของรัฐบาล และได้มอบให้ พล.อ.ณัฐพล ลงพื้นที่เพื่อพบปะและให้กำลังใจ และยืนยันจุดยืนของรัฐบาล รวมถึงสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการ และประเด็นที่เป็นปัญหา เพื่อนำกลับมาพูดคุยในรายละเอียดและแก้ไขปัญหา
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ขณะนี้กำลังพูดคุยกับทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง โดยในช่วงวันหยุดได้เรียก พล.ท.ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 มาพูดคุยถึงปัญหา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ที่ไม่สามารถนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้ ตนเข้าใจความห่วงใยของประชาชน และขอให้รอดูผลที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ แต่ขอระยะเวลาดำเนินการ เพราะหลายเรื่องที่วางแผนยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ก็ได้ดำเนินการมีความคืบหน้าไปพอสมควรแล้ว เช่น การพบปะพูดคุยกับผู้อำนวยความสะดวกจากประเทศมาเลเซีย ที่ ดาโตะ เซอรีอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มอบหมาย กำลังประสานงานไปยังหลายภาคส่วน ซึ่งหากพูดไปบางทีอาจจะไปกระทบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ จึงต้องใช้ความระมัดระวัง บางครั้งพูดไปก็บานปลายจากข้อเท็จจริง สร้างปัญหา ตนคิดว่าภายในช่วงเวลาสั้นๆ จะมีการสรุปแนวคิดต่างๆ และเข้าไปดำเนินการ เพราะจากนี้ไปได้มีการวางแผนกระบวนการแก้ไขปัญหา ระหว่างช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม คาบเกี่ยวต้นเดือน มิ.ย.
เมื่อถามถึงการเน้นย้ำเรื่องการดูแลความปลอดภัยให้กับเจ้าหน้าที่มากขึ้นหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า รัฐบาลเน้นย้ำอยู่แล้ว ขณะนี้ได้ให้ผู้บังคับบัญชาไปให้ความมั่นใจ ส่วนที่ระบุว่าให้เจ้าหน้าที่ทำงานเชิงรุกนั้น ไม่ได้หมายถึงให้ออกไปสู้รบหรือเข่นฆ่าผู้ก่อเหตุ แต่การทำงานเชิงรุกไม่ได้นั่งอยู่ที่ตั้ง แต่เป็นการไปตรวจตราด่านต่างๆ ให้มากขึ้น ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายอาวุธสงครามได้อย่างง่าย รวมถึงมีการจัดกำลังเข้าไปดูแลหน่วยทหาร ประชาชนทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิมที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ก็มีการจัดกำลังเข้าไปคุ้มครองดูแล ย้ำว่าให้เจ้าหน้าที่ออกจากที่ตั้งมากขึ้น ไม่ให้อยู่กับที่แล้วหย่อนยาน ซึ่งทุกฝ่ายก็มีความเห็นชอบ
นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ที่ได้มีการพูดคุยกับ พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็มีความชัดเจนในเรื่องของการเปิดปฏิบัติการดำเนินการเชิงรุก ไม่ให้อยู่กับที่ และสิ่งสำคัญขณะนี้คือ ลดการใช้ความรุนแรงให้ได้อย่างเต็มที่ และในวันนี้ตนจะเดินทางไปพบกับนายอุดม บุญชม จุฬาราชมนตรี เพื่อหารือในเรื่องการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ถึงคำสั่งการของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงกลาโหม เร่งแก้ไขถึงสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ว่า ในช่วงนี้มีการพุ่งเป้าไปที่พี่น้องชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ ตนได้ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแบ่งหน้าที่เพื่อให้ รองผู้ว่าฯ และนายอำเภอ ให้อยู่ในพื้นที่ ไปอยู่กับประชาชน และใช้เวลาสร้างความมั่นใจให้เกิดความอุ่นใจ ให้มีการเตรียมพร้อมในเรื่องของการช่วยเหลือทุกอย่าง
เมื่อถามว่า สถานการณ์ตอนนี้คนไทยในภาคใต้มีความกังวลใจกับเหตุการณ์ที่รุนแรง กระทรวงมหาดไทยจะทำยังไงให้ประชาชนรู้สึกว่ายังอยู่ในความปลอดภัย และรัฐบาลทิ้งเขาไว้ นายอนุทิน เผยว่า "รัฐบาลไม่เคยทอดทิ้ง" รัฐบาลต้องยึดกฎหมายข้อสั่งการของนายกฯ ที่ครอบคลุมไปถึงฝ่ายความมั่นคง ในภาคใต้ยังมีกองทัพภาคที่ 4 กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 และฝ่ายปกครอง พร้อมให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือประชาชนบูรณาการร่วมกัน
"บางช่วงที่เป็นสถานการณ์ความรุนแรงในเรื่องการส่งสัญลักษณ์ ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ขณะที่ฝ่ายรัฐจะเพิ่มกำลัง เร่งตั้งด่าน จัดกำลังคุ้มครองดูแลความปลอดภัย ให้กับประชาชนให้มากที่สุด กระทรวงมหาดไทยได้เสริมกองกำลังอาสาตลอดช่วงปีกว่าที่ผ่านมา ทั้งอาสาที่ได้รับการฝึกฝนให้ปกป้องดูแลประชาชน และปราบปรามผู้ที่ก่อการร้าย โดยที่มีการฝึกด้านมวลชนการใช้อาวุธต้องเสริมกำลังเข้าไป"
ส่วน นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ระบุผ่านเฟซบุ๊คถึงข้อเสนอให้รัฐบาล ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เร่งแก้ปัญหาไฟใต้ โดยเสนอให้ตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพ โดยมี 4 ทางเลือก ดังนี้ 1. นายทักษิณ ชินวัตร ที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาประธานอาเซียน 2. นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ฐานะประธาน กรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาฯ 3. นายฉัตรชัย บางชวด เลขาธิการ สมช. (อดีตหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เดิม) 4. พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ รอง ผอ.รมน. (ผบ.ทบ.)
"รัฐบาลยังสามารถส่งสัญญานเพื่อคลี่คลายสถานการณ์เฉพาะหน้าและกำหนดทิศทางของการแก้ไขปัญหาต่อจากนี้ได้" นายรอมฏอน ระบุ